คกก.ปฏิรูปสาธารณสุข โวคนไทยจะมีหมอประจำตัวคอยรักษา

คกก.ปฏิรูปสาธารณสุข โวคนไทยจะมีหมอประจำตัวคอยรักษา

ประธานคกก.ปฏิรูปฯด้านสังคม-สาธารณสุข-สื่อฯ แถลงผลงาน เร่งแก้ความเหลื่อมล้ำระบบประกันสังคม สร้างชุมชนเข้มแข็ง จัดให้มี "หมอประจำตัวปชช." ภายใน 10 ปี จี้ "เอ็นบีที" นำร่องปฏิรูปตัวเอง

เมื่อวันที่ 20 ก.พ.61 เวลา 10.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปีติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม นายเสรี ตู้จินดา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข และนายจิรชัย มูลทองโร่ย ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชนเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้แถลงข่าวความคืบหน้าการปฏิรูปประเทศ หัวข้อ “สุขภาพดี สังคมแข็งแรง สื่อสร้างสรรค์”

โดยนายปีติพงษ์ กล่าวว่า ประเด็นเรื่องสังคมเป็นเรื่องกว้างขวาง รัฐธรรมนูญจึงไม่ได้ระบุว่าต้องทำอะไร แต่คณะกรรมการปฏิรูปได้เลือกบางประเด็นที่ถือว่าเป็นปัญหาสำคัญ 5 ประการ คือ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ , เรื่องการออม ที่คนไทยยังพูดถึงกันน้อย , ผู้ที่ออกจากงานแล้วมีเงินใช้จ่ายไม่ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้ในเดือนสุดท้าย พบตัวเลขว่าคนไทยมีรายได้ในส่วนนี้เพียง 19 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ถือว่าน้อยมาก , การปฏิรรูปในการให้บริการระบบประกันสังคม ซึ่งยังมีความเหลื่อมล้ำระหว่างข้าราชการ ประชาชน ลูกจ้าง , เรื่องที่เกี่ยวข้องกับชุมชน ถือเป็นฐานในการสร้างความเจริญให้เศรษฐกิจและสังคม จึงต้องปฏิรูปในส่วนนี้ให้เข้มแข็ง โดยต้องเร่งขับเคลื่อนให้ประชาชนมีส่วนร่วมให้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าเป็นเรื่องน่าแปลกที่สื่อมวลชนนำเสนอเรื่องราวความทุกข์ของปรระชาชนมาโดยตลอด ดังนั้น จึงต้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาช่วยเก็บข้อมูลและจัดระบบต่างๆเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือได้อย่างเต็มที่

ด้านนายเสรี กล่าวว่า คณะกรรมการปฏิรูปด้านสาธารณสุขได้คิดเรื่องการปฏิรูปส่วนนี้โดยเริ่มจากประชาชนว่าจะได้อะไร จนสามารถสรุปแผนได้ 4 เรื่อง ได้แก่ ระบบบริหาร , ระบบบริการและคุ้มครองผู้บริโภค , ข้อมูลสารสนเทศและกำลังคน , ระบบการเงินการคลัง ทั้งนี้สิ่งสำคัญคือการดูแลประชาชนในขั้นต้น โดยจะมีทีมแพทย์ลงไปดูแลประชาชนถึงระดับครัวเรือนเป็นรายบุคคล แม้ในขณะนี้ ทีมแพทย์อาจจะยังมีไม่เพียงพอแต่ก็จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 10 ปี เมื่อนั้นประชาชนก็จะมีแพทย์ประจำตัว โดยมีสหวิชาชีพช่วยดูแล
นายเสรี กล่าวว่า นอกจากนั้นจะจัดให้มีระบบรายงานข้อมูลของคนไข้ตามโรงพยาบาลตลอดเวลา และจะให้มีสมาร์ทการ์ดให้ประชาชน เมื่อเกิดเจ็บป่วยก็ไม่ต้องเดินทางไปรอการรักษาที่โรงพยาบาล สามารถติดต่อโรงพยาบาลได้ทันทีเพราะแต่ละที่จะมีข้อมูลคนไข้และเรียกดูได้ทันทีอยู่แล้ว จะทำให้ประชาชนประหยัดเวลา

ขณะที่นายจิรชัย กล่าวว่า คณะกรรมการปฏิรูปด้านสื่อฯ ได้สรุปแผนออกมาได้ 6 ประเด็น คือ การปฏิรูป การรู้เท่าทันสื่อของประชาชน , แนวทางการส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อที่จะให้สื่อกำกับดูแลกันเองโดยมีสภาวิชาชีพคอยดูแลในภาพรวม , การปฏิรูปอุตสาหกรรมโทรทัศน์ โดยหลังจากมีการประมูลทีวีดิจิทัล ผู้ประกอบการหลายแห่งต่างประสบภาวะขาดทุน รัฐบาลก็กำลังเข้าดูแลเรื่องนี้อยู่

นายจิรชัย กล่าวว่า นอกจากนั้นช่องเอ็นบีทีของรัฐต้องเป็นผู้นำในการปฏิรูปก่อน ถือเป็นโจทย์สำคัญจากเดิมเอ็นบีที จัดผังรายการเองทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็ต้องแบ่งให้ประชาชนใช้ประโยชน์บ้าง 30-40 เปอร์เซ็นต์ , การปฏิรูปการกำกับดูแลสื่อออนไลน์ ซึ่งประชาชนต้องมีส่วนร่วม , การปฏิรูปการจัดการความปลอดภัยไซเบอร์ กิจการอวกาศและระบบเครื่องมือด้านการสื่อสารมวลชนและโทรคมนาคม เพื่อสนับสนุนภารกิจป้องกันบรรเทาสาธารณภัย , การปฏิรูประบบการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารภาครัฐ

นายจิรชัย กล่าวว่า ประชาชนก็ต้องปฏิรูปตัวเองด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อมีการรับข้อมูลข่าวสารอะไรมาก็แล้วแต่ต้องพิจารณาก่อนส่งต่อไปให้คนอื่น เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญของปัญหาในปัจจุบัน