“บี.กริม” ยุคโกลบอล เคล็ดลับดันธุรกิจแสนล้าน

“บี.กริม” ยุคโกลบอล เคล็ดลับดันธุรกิจแสนล้าน

เปิดเเคล็ดลับยืนหยัด ธุรกิจครอบครัว 140 ปี “บี.กริม กรุ๊ป" ธุรกิจสัญชาติเยอรมัน ที่เก่าแก่ที่สุดในไทย ผ่านคำบอกว่า “ฮาราล์ด ลิงค์” ทายาทรุ่น 3  กับเป้าหมายดันรายได้ 3 เท่าตัว ปี 68

ณ มุมแห่งหนึ่งบนถนนวิทยุ บริเวณด้านหน้า “อาคารเคี่ยนหงวน ที่กำลังแบ่งพื้นที่ก่อสร้าง หอแสดงดนตรีและศิลปวัฒนธรรม (Music Hall) แห่งใหม่ของประเทศ บนพื้นที่ไข่แดงใจกลางกรุงแห่งนี้ ที่มีทั้งสถาบันศิลปะและวัฒนธรรมด้านดนตรีครบวงจร ฮอลล์แสดงดนตรีขนาดใหญ่ สถาบันดนตรี ศูนย์อาหาร และพิพิธภัณฑ์ สถานที่แห่งนี้เองที่กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ใช้การสนทนาออกรสกับ “ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานกลุ่มบริษัท บี.กริม กลุ่มธุรกิจสัญชาติเยอรมัน ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ถึงแรงบันดาลใจของการสร้างสถานที่แห่งนี้

หอแสดงดนตรีแห่งนี้เป็นความฝันของเศรษฐีชาวเยอรมันผู้นี้ “คุณลิงค์” คือชื่อเรียกที่พนักงานในบี.กริม เรียกขานผู้นำของเขา ผู้ที่ได้สัญชาติไทยตั้งแต่ ปี 2543 หรือยังได้รับพระราชทานชื่อ หรัณ เลขนะสมิทธิ์”  โดยเขาแบ่งภาคหนึ่งของธุรกิจให้กับงานทางสังคม กิจกรรมที่ขาดแรงสนับสนุน ในฐษนะผู้อุปถัมภ์ อาทิ งานการศึกษา โดยเฉพาะงานดนตรีคลาสสิก ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิดุริยางค์ซิมโฟนี กรุงเทพ รวมถึงการก่อตั้ง โปโลคลับ ในไทย

หรัญ คือผู้ชื่นชอบดนตรีคลาสสิค และขี่ม้าเป็นชีวิตจิตใจ เพราะเขาเชื่อว่า การช่วยเหลือสังคมจะทำให้มนุษย์มีจิตใจที่งดงาม และสร้างสรรค์สิ่งดีๆบนโลกใบนี้ได้

นั่นจึงเป็นที่มาของการที่ธุรกิจ บี.กริม เพาเวอร์ ยอมสละหุ้นส่วนหนึ่งของตัวเองที่ถือในบมจ.บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ “BGRIM” (ธุรกิจผลิตไฟฟ้า) สัดส่วน 4.08% จากที่เคยถือหุ้นใหญ่อยู่ที่กว่า 72.5% ลดสัดส่วนเหลือ 68.42% เพื่อนำเงินส่วนนี้ มาทำตามความฝัน สร้างโรงละคร แสดงดนตรีคลาสสิค ที่ดีที่สุด กลางกรุงแห่งนี้

การขายหุ้นของฮาราลด์ ลิงค์ ทำให้ราคาหุ้นรูดลงชั่วคราว เพราะตกใจกับเหตุการณ์ที่เจ้าของเทขายหุ้น ทว่า เมื่อนักลงทุนรู้ข้อเท็จจริง ราคาหุ้นก็กลับมาดีดขึ้นมาอีกครั้ง

ขณะที่ในมุมธุรกิจ กลุ่มบริษัท บี.กริม กำลังมีบิ๊กเซอร์ไพรส์ หลังจากรุกหนักไปจับมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อมาเดินหน้าธุรกิจ

ผ่านคำบอกเล่าของซีอีโอฝรั่ง ผู้พูดไทยได้อย่างคล่องแคล่วสำเนียงคนไทย มีหัวใจไทย ยังระบุว่า การที่บี.กริม ข้ามผ่านมาหลายยุคมาได้นั้น โดยปัจจุบันองค์กรมีอายุ 140 ปี เป็นเพราะมี “ดีเอ็นเอ” ของความทันสมัย ไม่หยุดนิ่ง ที่สำคัญสิ่งที่เขาย้ำคำนี้อยู่เสมอคือ “ต้องทำธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารี กลายเป็นคัมภีร์ที่ทำให้ธุรกิจของเขามีมิตรทางธุรกิจหลากหลาย 

บี.กริม เป็นบริษัทเก่าแก่ที่มีความทันสมัย ทำให้อยู่มาได้ถึงวันนี้ บางครั้งเห็นรูปในอดีตคิดว่าเก่า แต่เราคิดกลับกัน ในวันนั้นเราถือว่าใหม่ที่สุด ผู้นำสิ่งใหม่มาสู่สังคมไทยตั้งแต่ขุดคลองรังสิต ที่กลายเป็นอู่ข่าวอู่น้ำปลูกข้าว ทำให้ไทยส่งออกข้าวระดับโลก รวมถึงนำเข้ายาที่ทำให้คนไทยไม่ต้องป่วยตายโดยไม่จำเป็น ฮาราลด์ ลิงค์ เล่าถึงบทบาทของบี.กริม ที่อยู่คู่กับสังคมไทยในแต่ละยุคแต่ละสมัย แม้ในปัจจุบันก็ยังมีส่วนในการจัดหารถไฟฟ้า และแหล่งพลังงานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

วันนี้ มร.ลิงค์ ยังมีวิสัยทัศน์อันยาวไกล ส่งต่อธุรกิจครอบครัวของบี.กริม กับเป้าหมายฉลองครบรอบ 150 ปี กับยอดขายเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว อยู่ไต่ระดับ 1.5 แสนล้านบาท ภายในปี 2568 บนความท้าทายเคลื่อนเศรษฐกิจยุคดิจิทัล ที่ธุรกิจต้องเปลี่ยนแปลงไปตามแรงลมแห่งเทคโนโลยี  

ยุคก่อนสงครามหลายร้อยปีที่แล้วมีดาบเป็นอาวุธ ก็พัฒนาเป็นปืน จากสอนใช้ดาบก็สอนให้คนใช้ปืน ที่มีทั้งคนเก่งและคนแพ้ หากไม่รีบใช้อาวุธใหม่ในการป้องกันตัว การรบก็เหมือนกับธุรกิจที่ต้องทันสมัยตลอดเวลา เขาย้ำถึงจุดแข็งที่ทำให้บี.กริมพร้อมรุกทุกสนามธุรกิจ 

ประธานกลุ่มบี.กริม ยังมองว่า ธุรกิจที่จะอยู่รอดได้ในยุคนี้ ต้องประกอบด้วย 2 สิ่ง คือ ธุรกิจต้องเกี่ยวข้องกับอินเตอร์เน็ต ใช้เครือข่ายอินเตอร์เน็ทมาทำให้สินค้าและบริการตอบสนองผู้คนได้อย่างสะดวกสบายขึ้น อีกด้านคือ ธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับอินเตอร์เน็ต แต่เกาะเทรนด์โลก ได้แก่ ภาคการผลิต และอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์

ธุรกิจในยุคดิจิทัลต้งอมีสองส่วน คือ ส่วนที่เกี่ยวกับไอที สามารถเข้ามาสอดแทรก แทนที่ธุรกิจเดิมได้ แต่ธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับไอที ไม่ต้องใช้อินเตอร์เน็ท ก็มีบางส่วนที่ต้องปรับตัวให้เชื่อมต่อกับไอที และไม่ต้องเชื่อมต่อกับไอที เช่น อเมซอน (Amazon) แปลงจากร้านหนังสือที่กำลังจะตาย ให้กลายเป็นร้านขายหนังสือที่มีตลาดไปทั่วโลก

สำหรับกลุ่มบี.กริม เขาระบุว่า มีธุรกิจทั้งที่เกี่ยวข้องกับอินเตอร์เน็ตและไม่เกี่ยวข้องกับอินเตอร์เน็ต ที่ปรับเปลี่ยนสินค้าและการบริการไปตามยุคตามสมัย

บี.กริมลงทุนด้านเทคโนโลยีตลอดเวลา เช่น บริษัทด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ที่เข้ากับยุคธุรกิจในปัจจุบันโจมตีกันทางอินเตอร์เน็ท เช่น ขโมยเงิน หรือล้วงข้อมูล” ผู้นำรุ่นที่ 4 เล่าถึงธุรกิจในยุคหน้าที่ไม่กลัวว่าจะมีธุรกิจใหม่เข้ามาแทนที่ เพราะเขาพร้อมเริ่มโมเดลธุรกิจใหม่ และขยายธุรกิจเก่าตลอดเวลา

ธุรกิจไม่จำเป็นต้องเป็นของเราเองทั้งหมด เรามีพันธมิตรที่แข็งแกร่งร่วมทุนในสิ่งที่ถนัด ขณะที่ธุรกิจไฟฟ้าเราเป็นผู้สร้าง และผู้นำทางด้านเทคโนโลยี สำหรับโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP-Small Power Producer) กำลังเติบโตในไทย และขยายในอาเซียน จึงมีเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยที่ด้วยข้อได้เปรียบด้านต้นทุนต่ำ แต่เทคโนโลยีสูงสุด"

ธุรกิจไฟฟ้าเริ่มธุรกิจปี 2536 โดยมีธุรกิจไฟฟ้า บี.กริม เพาเวอร์ เป็นหัวหอกหลักที่ทำรายได้ 75 %ของธุรกิจในเครือ โดยรายได้ล่าสุดทั้งกลุ่มธุรกิจตั้งเป้าที่ 5 หมื่นล้านบาทในปี 2561 นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายจะดันรายได้ธุรกิจพลังงานเป็น 1 แสนล้านบาท ในระยะ 10 ปีจากนี้

เพาเวอร์เป็นแหล่งรายได้ที่ทำให้บี.กริม เติบโตทำกำไรไปอีกร้อยปี  มร.ลิงค์  เชื่อมั่น

ไม่เพียงรุกธุรกิจไฟฟ้าในไทย เขายังเดินหน้าธุรกิจนี้ในลาว โดยร่วมทุนกับบริษัท เอส.วี.กรุ๊ป ด้วยกำลังการผลิตติดตั้งรวม 133 เมกะวัตต์ โดยมีโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วรวม 20.1 เมกะวัตต์ และเริ่มรุกคืบสู่การเป็นผู้เล่นในอาเซียน โดยเริ่มจากประเทศเพื่อนบ้าน CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) โดยการแสวงหาโอกาสในธุรกิจพลังงานได้หลากหลาย โดยเขาระบุว่าจะได้ข้อสรุปในปีนี้

“ในลาวเรามีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 15 เมกะวัตต์และอยู่ระหว่างการพัฒนา มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 98 เมกะวัตต์ พร้อมกันกับศึกษาการทำสายส่งไฟฟ้าในประเทศ”

ล่าสุด ในกัมพูชา ได้จัดตั้งบริษัท 2 บริษัท ร่วมกับพันธมิตร ภายใต้ชื่อ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ ปอยเปต จำกัด (B.Grimm Power (Poipet) Co.,Ltd ) ดำเนินธุรกิจสายส่ง ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมปอยเปต ถือหุ้นสัดส่วน 55% และ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ กัมพูชา จำกัด (B.Grimm Power (Combodia) Co., Ltd) เพื่อดำเนินธุรกิจไฟฟ้า รวมถึงขยายไปสู่การถือหุ้นในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสายส่ง ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า โดยถือหุ้นในสัดส่วน 100%

โครงการแรก คือโครงการพัฒนาระบบสายส่ง ระบบจ่ายไฟ รวมถึงงานบำรุงรักษา พัฒนาโครงการระบบสายส่งไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดิน ระยะทาง 12.4 กิโลเมตร จากสถานีย่อยปอยเปตไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษปอยเปต ร่วมกับ บริษัท ปอยเปต พีพีเอสอีแซดโค บริษัทลูกของพนมเปญ เอสอีแซด ซึ่งเป็นผู้บริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษปอยเปต อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าจะพร้อมดำเนินการส่งไฟฟ้าไตรมาส ปี 2561 นี้

“เราวางเป้าหมายระยะยาว นอกจากจะผลิตไฟฟ้าครอบคลุมอาเซียนแล้ว ยังจะสยายปีกไปลงทุนนอกภูมิภาค เพื่อเป้าหมายสู่การเป็นผู้เล่นระดับโลก (Global company)”

 ส่วนธุรกิจที่กลุ่มบี.กริม เติบโตมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม คือ ธุรกิจด้านบริการสุขภาพ (Healthcare) ยังจะเป็นอีกเซอร์ไพร์สที่พาบี.กริม “ช็อทคัท” ข้ามเป็นผู้เล่นระดับโลก ด้วยการเจรจากับผู้ร่วมทุน เพื่อซื้อกิจการบริษัทบริษัทยาแห่งหนึ่งในไทย ซึ่งมร.ลิงค์ ยังไม่เปิดเผยจนกว่าดีลจะลงตัว รู้แค่ว่าบริษัทนี้เป็นยักษ์ใหญ่วงการยาและเวชภัณฑ์ ที่มีเครือข่ายธุรกิจทั่วโลก เขาแย้ม

 “ธุรกิจเฮลท์แคร์ทำมา140 ปี เราพัฒนาต่อเนื่องเข้ากับยุคมาตลอด กำลังคุยกับผู้ร่วมทุนที่จะขยายไปนอกประเทศได้ เราร่วมกับบริษัทเคมีภัณฑ์หลายด้านเพื่อขยายทั่วโลก

โดยเจ้าตัวระบุว่า จุดแข็งของกกลุ่มบี.กริม อยู่ตรงที่มีความหลากหลายทางธุรกิจที่พร้อมจะขยายไปได้ทุกด้านให้เข้ากับยุค ซึ่งวันนี้มีธุรกิจพลังงานเป็นรายได้หลัก แต่ในยุคต่อไปอาจจะมีธุรกิจอื่นที่เติบโตขึ้นมา อาทิ ธุรกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นบริษัทวางระบบการรักษาความปลอดภัย การโจรกรรมทางไซเบอร์ รวมถึงธุรกิจสุขภาพ ที่สอดคล้องกับเทรนด์โลก

ขณะที่อีกจุดแข็งคือ การเป็นธุรกิจครอบครัว ที่มีความเป็นมืออาชีพ มีรูปแบบการบริหารงานด้วยความรัก แต่ตัดสินใจอย่างเที่ยงธรรมแบบมืออาชีพ ธุรกิจระดับโลกที่อยู่มาหลายอายุคนล้วนเป็นธุรกิจครอบครัว แต่สิ่งที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวมักจะล่มสลายเร็ว ไม่ใช่เพราะความเป็นครอบครัว แต่เพราะการบริหารงานด้วยอารมณ์ส่วนตัว และขาดคนสืบทอด

มร.ลิงค์ ยังเชื่อว่า หากวันนี้เขาไม่ได้เป็นประธาน ธุรกิจก็ยังเดินต่อไปได้ เพราะมีผู้บริหารเก่งๆ มืออาชีพอยู่ในเครือพร้อมลุยขยายธุรกิจ ขณะที่ “แคโรลีน ลิงค์ ลิงค์ ทายาทรุ่นที่ 4 เข้ามาดูแลกิจการในด้านบุคลากรและการสื่อสาร ซึ่งเธอเพิ่งให้กำเนิดบุตร (ทายาท รุ่นที่ 5 ) ซึ่งเป็นฝาแฝดหลังจากบี.กริม เพาะวอร์ เข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ไม่กี่วัน

เขาบอกว่ายุคของเขาแตกต่างจากรุ่นลูกตรงที่ ผู้นำ หรือเจ้าของต้องเข้าไปบริหารเอง เพื่อวางฐานกำลัง แต่ในยุคนี้ มีคนเก่งที่พร้อมหมดแล้วในกลุ่มธุรกิจ

วันนี้มีบี.กริมมีคนเก่งๆที่อยากเข้ามาทำงานกับบี.กริม และพร้อมติดต่อกับริษัทระดับโลก เพราะเรามีบอร์ดที่แข็งแกร่ง ส่วนลูกสาวเป็นกรรมการในหลายบริษัทในเครือ แต่ไม่อยากเป็นซีอีโอ ลูกสาวผมแตกต่างจากผม เพราะยุคนี้มีคนมืออาชีพดูแลอยู่แล้ว

---------------------

ฐานทัพ 7 กลุ่มธุรกิจ

กลุ่มบี.กริมไม่เพียงแต่เป็นธุรกิจ สัญชาติไทยที่มีอายุยืนยาวที่สุดในประเทศ แต่เป็นบริษัทที่ถือกำเนิดในไทย ก้าวไปปักหมุดขยายกิจการสู่ระดับโกลบอล หลังสะสมเสบียงอาวุธ เป็นขุมพลังธุรกิจบี.กริม ที่มีความหลากหลาย ครอบคลุมถึง 7 กลุ่มธุรกิจ ไปผลิบานในต่างประเทศ ประกอบด้วย

1.กลุ่มธุรกิจพลังงาน โดยมี บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เมื่ด 19 ก.ค.2560 ดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้ามีโครงการโรงไฟฟ้าททั้งสิ้น 44 โครงการ เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 31 โครงการ

2.กลุ่มระบบภายในอาคารและอุตสาหกรรม โดยเป็นพันธมิตรกับ แคร์เรียร์ ประเทศไทย ผู้จัดจำหน่ายเครื่องปรับอากาศที่ใหญ่อันดับ 2 ของโลก โดยมีบริษัทในเครือที่เกี่ยวข้องกับด้านการผลิต และจัดจำหน่ายเครื่องปรับอากาศ คือ บี.กริม แอร์คอนดิชั่นนิ่ง, บี.กริม แคเรียร์ (ประเทศไทย) จำกัด และแคเรียร์ ไทยแลนด์ รวมถึงการร่วมกันกับบริษัท เบเจอร์ บี.กริม (ประเทศไทย) จำกัด ( จากสวีเดน เป็นผู้จัดหาชิ้นส่วนและอุปกรณ์ในเครื่องปรับอากาศ ในอุตสาหกรรมทำความเย็นตลอดจนบริษัท บริษัท ชับบ์ (ประเทศไทย) จำหน่ายและออกแบบ ติดตั้งอุปกรณ์และระบบรักษาความปลอดภัยที่มีอายุกว่า 190 ปี โดยมีบริษัทแม่คือ ยูไนเต็ด เทคโนโลยี คอร์ปอเรชั่น (UTC) เป็นกลุ่มบริษัทพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัย และจัดหาเกี่ยวกับยานอวกาศ และระบบอาคารทั่วโลก ที่ได้รับการจัดอันดับจากนิตยสารฟอร์จูน (Fortune 500) เป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดอันดับที่ 140

3.กลุ่มธุรกิจสุขภาพ เป็นผู้จัดหาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ป้อนตลาด โดยร่วมทุนกับ บริษัทระดับโลก 4 บริษัท คือ เมอร์ค ประเทศไทย, เกท์ทิงเก ประเทศไทย,ไซส์ส ประเทศไทย และซีเมนส์ ประเทศไทย

4.ธุรกิจไลฟ์สไตล์ ผู้นำเข้าแบรนด์ดังที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและนำเข้าแบรนด์หรู จากยุโรปเช่น . (Guerlain), Boucheron, Nina Ricci ,LA, Martina Valmont, ร้านปารีสสปา,ร้านอาหาร โปรวองซ์(Provence) เปิดสาขาในห้างหรู เช่น เกษร พลาซ่า รวมถึงการจัดจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ด้านงานศิลปะ ภายใต้ เดอะเม็ท กรุงเทพ (MET Store Thailand) รวมทั้งนำเข้าเครื่องเคลือบนิมเฟนเบริก์ประติมากรรมชั้นสูงจากฝีมือมนุษย์ “ผลิตด้วยมือทั้งสิ้น”จากประเทศเยอรมัน ตลอดจนก่อตั้ง โปโล แอนด์ อีเควสเทรียน คลับ

5.กลุ่มธุรกิจคมนาคม บี.กริมได้ร่วมทุนกับ ซีเมนส์ เป็นผู้จัดระบบให้บริการแบบครบวงจรแก่บริษัทขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (BTS) และ รถไฟฟ้ากรุงเทพ (BMCL) และยังเป็นดำเนินโครงการสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างสุวรรณภูมิเขตเมืองชั้นในของกรุงเทพ (Airport Link) ตลอดจนเข้าไปร่วมทุนกับ.. บริษัทเดินเรือ มี 3 บริษัท คือ บริษัท บี.กริม มาลิไทม์ , พีซีเอ็ม ทรานสปอร์ต แอนด์ อินดัสเตรียล ซัพพลาย และบริษัท แพนเรลล์ ประเทศไทย

 6.กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เริ่มต้นตั้งแต่ 2532 สร้างอาคารสำนักงาน 20 ชั้น ชื่อ อัลม่า ลิงค์ บนถนนชิดลม และอาคาร ดร.เกฮาร์ด ลิงค์ ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของกทม. ทางไปสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งตระกูลยังโครงการพัฒนา

7.กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีดิจิทัล ธุรกิจที่เติบโตพร้อมกับโอกาสการพัฒนาคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการเชื่อมต่อกับการบริการรับยุคดิจิทัล เช่น เว็บไซต์เปรียบเทียบราคาสินค้ามาสิ (Masii) และการบริการทางการด้านเทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech) รวมถึงการพัฒนาแอพพลิเคชั่น เก็ทมี (Getmii) แอพแบ่งปันความช่วยเหลือด้านสินค้าบริการจากคนรอบข้าง