‘เคอรี่’เพิ่มสาขาเท่าตัว ดันรายได้‘หมื่นล้าน’

‘เคอรี่’เพิ่มสาขาเท่าตัว ดันรายได้‘หมื่นล้าน’

ธุรกิจ“อีคอมเมิร์ซ”ไทยปีก่อน สํานักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) คาดการณ์มูลค่า 2.8 ล้านล้านบาท เติบโต 9.86% มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปีนี้

จากกลุ่มบริษัทค้าปลีกเดินหน้าขยายตลาดออนไลน์ การรุกลงทุนของมาร์เก็ตเพลสรายใหญ่จากต่างประเทศ รวมทั้งการสร้างโอกาสทางธุรกิจจากช่องทางออนไลน์  ตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคนี้

ถือเป็นปัจจัยผลักดันการเติบโตธุรกิจ "ผู้ให้บริการจัดส่งสินค้า" ที่เข้ามาตอบโจทย์“ผู้ส่ง”และสร้างความสะดวกให้กับ“ผู้รับ” 

หนึ่งในผู้ให้บริการขนส่งสินค้าระดับประเทศ ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ต้องยกให้ “เคอรี่ เอ็กซ์เพรส” ที่เปิดดำเนินการมากว่า 11 ปี ด้วยจุดแข็งทางธุรกิจ "จัดส่งภายในวันถัดไป" ครอบคลุมกว่า 99.9% ทั่วทุกพื้นที่ในประเทศ  

วราวุธ นาถประดิษฐ์ รองผู้จัดการทั่วไป สายงานการค้าและพาณิชย์ บริษัทเคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าธุรกิจจัดส่งสินค้าเคอรี่  เป็นธุรกิจ Last mile เดลิเวอรี่ ในเครือ เคอรี่ โลจิสติกส์ เน็ทเวิร์ค ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ที่อยู่ในประเทศไทยมากว่า 25 ปี ที่ถือเป็นหลักไมล์แรกของระบบการจัดการขนส่งสินค้าอุตสาหกรรม  

แม้“เคอรี่ เอ็กซ์เพรส”จะเปิดให้บริการมากว่า 11 ปี นับจากช็อปแรกบนถนนอโศก ในปี 2549 ด้วยจุดขาย “จัดส่งภายในวันถัดไป”(Next Day Delivery) ที่ยังเป็นจุดขายมาถึงปัจจุบัน แต่ชื่อของเคอรี่ เริ่มเป็นที่รู้จักในกลุ่มคนทั่วไป ช่วง 3 ปีที่ผ่าน 

จากปัจจัยแนวโน้มการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจรีเทลมุ่งสู่ออนไลน์ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชากรไทยขยายตัวต่อเนื่อง ปัจจุบันสัดส่วนกว่า 75% เริ่มมีประสบการณ์ชอปปิง ออนไลน์ การรุกขยายกิจการของแพลตฟอร์ม “มาร์เก็ตเพลส” รายใหญ่จากต่างประเทศในไทย การปรับตัวของธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ที่ต้องการมีช่องทางขายสินค้าหลากหลายทั้งบนมาร์เก็ตเพลสและช่องทางออนไลน์ของตัวเอง รวมทั้งการเติบโตของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ที่สร้างสรรค์ธุรกิจของตัวเอง 

ทั้งหมดล้วนต้องการใช้"บริการขนส่งสินค้า” และเคอรี่ เข้ามาตอบโจทย์นี้ได้ครอบคลุมทุกกลุ่ม 

"เคอรี่ เริ่มเป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บริโภคและแบรนด์เริ่มติดตลาด ในปี 2559 ที่ถือเป็นจุดพีค แม้ก่อนหน้าได้ ทำการตลาดอย่างรุนแรงผ่านสื่อนอกบ้าน รูปแบบต่างๆ การจัดอีเวนท์ แต่กลับกลายเป็นว่าสิ่งที่ทำให้แบรนด์ติดตลาด คือการบอกต่อของกลุ่มคนที่ใช้บริการและประทับใจในเซอร์วิสส่งด่วนภายในวันถัดไป กลายเป็น Word of mouth ที่เกิดขึ้นปลายทาง"

ส่งผลให้เคอรี่ เป็น“ตัวเลือก” การใช้บริการส่งสินค้า ที่การันตี “ส่งด่วน ถึงมือ ปลอดภัย ไม่ต้องรอ” 

ในฝั่งผู้บริโภค หรือ“ผู้รับ”เป็นเครื่องมือสำคัญ สร้างการรับรู้แบรนด์และบริการของเคอรี่ได้เกิน 50% จากการบอกต่อ ในสิ่งที่บริษัททำได้ตามเซอร์วิส จึงเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ เมื่อผู้รับบอกต่อ จึงเกิดเป็นกระแสว่า “หากใครต้องการใช้บริการส่งพัสดุ จึงนึกถึงเคอรี่เป็นลำดับแรก”

ปีที่ผ่านมาเคอรี่ ขนส่งพัสดุทุกประเภท ทั้ง บีทูบี ,บีทูซี, และ ซีทูซี" ประมาณ 5 แสนชิ้นต่อวัน   วราวุธ บอกว่าปี 2561 วางเป้าหมายเพิ่มขึ้น “เท่าตัว” หรือ 1 ล้านชิ้นต่อวัน  จากการขยายอินฟราสตรัคเจอร์ ศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่(ฮับ) ปัจจุบันมีที่บางนา และขยายต่อไปยัง ปทุมธานี สมุทรสาคร บางใหญ่ บางบัวทอง สุวินวงศ์ มีนบุรี สายไหม เกาะรอบรัศมีกรุงเทพฯ

ปัจจุบันเคอรี่ มีจุดให้บริการรวม 2,300 จุด ในจำนวนนี้ เป็นช็อปเคอรี่ สำหรับบุคคลทั่วไปมาใช้บริการส่งพัสดุกว่า 400 สาขาทั่วประเทศ ปีนี้จะขยายเพิ่ม“เท่าตัว” 

โดยพันธมิตรจุดบริการในกลุ่ม“แบรนด์” มีประมาณเกือบ 1,000 แห่ง เช่น แฟมิลี่ มาร์ท ,ออฟฟิศ เมท ,ท็อปส์ ,บีทูเอส , บิ๊กซี, เชลล์, จิฟฟี่, ปตท. โดยมุ่งเป็นพันธมิตรกับพื้นที่รีเทล เพื่อให้ เคอรี่ เป็นบริการที่จับต้องได้เหมือนการซื้อสินค้าทั่วไป นอกจากนี้ยังมีร้านค้า โชห่วย ร้านขายยา ร้านกาแฟ อีกกว่า 400 แห่ง  เป็นต้น 

“จุดส่ง เป็นเรื่องสำคัญของการส่งพัสดุ เพราะยิ่งขยายเพิ่มมากขึ้นและครอบคลุมพื้นที่ จะช่วยทำให้ พ่อค้าแม่ค้ารายย่อย เกิดไอเดียในการทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น ผ่านระบบส่งของเคอรี่ทั่วประเทศ”

เป้าหมายของเคอรี่ คือการสร้าง “แพลตฟอร์ม สาธารณะ” (Public service) บริการจัดส่งสินค้า ตอบสนองความต้องการของ “ผู้ส่ง” ทุกกลุ่มทั้งคอร์ปอเรท(บีทูบี), บีทูซี และซีทูซี โดยวางเป้าหมายปี 2563 ไว้ที่ 5,000 จุดบริการ ทั้งการขยายร้านเองและเครือข่ายพันธมิตร ขณะที่ปีนี้ ต้องการเห็น 3,000 จุดบริการ

การขยายช็อปเคอรี่ จะกระจายทั้งกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ในกรุงเทพฯ คือ ซอยเส้นทางให้สั้นลง ส่วนต่างจังหวัด หลังจากเปิดจุดบริการระดับอำเภอเมืองครอบคลุมแล้ว ปีนี้จะขยายต่างอำเภอ และมองระดับตำบล

“วันนี้ หากรถไฟฟ้าขยายเส้นทางมาอยู่ที่หน้าบ้าน เชื่อว่าจะเกิดความต้องการใช้งานบริการดังกล่าว เช่นเดียวกับ เคอรี่ เมื่อขยายไปใกล้ผู้บริโภค จะเกิดดีมานด์ใช้บริการส่งของเช่นกัน”

ปัจจุบันเคอรี่ มีเส้นทางขนส่งสินค้ากว่า 1 หมื่นเส้นทางต่อวัน จากเป้าหมายการขยายจุดบริการเพิ่มเท่าตัวในปีนี้  ทำให้มีเส้นทางขนส่งเพิ่มเป็น  2 หมื่นเส้นทางต่อวัน เพื่อขยับเข้าใกล้ผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งจะทำให้การขนส่งรวดเร็วขึ้น

“ทุกวันนี้ผู้บริโภคบอกว่าเคอรี่ส่งเร็วที่สุดอยู่แล้ว แต่เมื่อปริมาณพัสดุส่งเพิ่มขึ้น ทำให้เราต้องอยู่ใกล้ลูกค้ามากขึ้น เพิ่มความเร็ว รองรับตลาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้นในยุคอีคอมเมิร์ซเติบโตสูง"

จุดเด่นการทำงานของ เคอรี่ ที่สำคัญ คือ “สปีด”และ“เซอร์วิส” ด้วยการสร้างความแตกต่าง  ทั้งการโทรไปหาผู้รับ เพื่อเลือกเวลาที่รับของที่สะดวก  บริการ Cash on delivery(COD) หรือการเก็บเงินปลายทางจากผู้รับของ ซึ่งเป็นบริการที่ตอบโจทย์ ผู้ขายสินค้ารายย่อยและผู้รับที่ต้องการเห็นหรือได้รับของก่อนจ่ายเงิน

“หากทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ กลัวเรื่องการจ่ายเงินก่อนการส่งและรับของ ก็จะพลาดดีลการซื้อขาย ระบบซีโอดี จึงเข้ามาช่วยตอบโจทย์ให้เกิดการขายที่ง่ายขึ้น ถือเป็นบริการที่ช่วยให้ผู้ขาย ค้าขายได้ง่ายขึ้น และผู้บริโภคมั่นใจใช้บริการ”

ในกลุ่มบีทูซี ประเภทมาร์เก็ตเพลส  เอสเอ็มอี พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ใช้บริการซีโอดี สัดส่วน 70-80% ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ผู้ค้ารายย่อย นำมาใช้ขยายธุรกิจ ในยุคอีคอมเมิร์ซเติบโต ช่วยให้ธุรกิจมีโอกาสทางการขายมากขึ้น

นับตั้งแต่ปี 2556 เคอรี่ เติบโตแบบ“เท่าตัว” ทุกปี จึงมองว่าโอกาสที่จะเติบโตดับเบิลอีกครั้งในปีนี้ น่าจะเกิดขึ้นได้ แม้ฐานธุรกิจจะมีขนาดใหญ่ แต่โอกาสในตลาดก็มีเช่นกัน  นับตั้งแต่ปี 2559 ได้ลงทุนขยายธุรกิจด้วยเม็ดเงินราวปีละ 1,000 ล้านบาท มาต่อเนื่อง รวมทั้งปีนี้ที่จะลงทุนด้วยมูลค่าดังกล่าวเช่นกัน  

ทางด้านรายได้ปี 2560 อยู่ที่ 6,600 ล้านบาท ปี 2561 เป้าหมาย 1 หมื่นล้านบาท เชื่อว่าเคอรี่ ยังมีโอกาสเติบโตอัตราเท่าตัวต่อเนื่องถึงปี 2563  ในฐานะแพลตฟอร์ม สาธารณะ ด้านบริการส่งสินค้าระดับประเทศ