สธ. เฝ้าระวังไข้หวัดนกทุกสายพันธุ์อย่างเข้มข้น ต่อเนื่อง

สธ. เฝ้าระวังไข้หวัดนกทุกสายพันธุ์อย่างเข้มข้น ต่อเนื่อง

กระทรวงสาธารณสุข เฝ้าระวังไข้หวัดนกทุกสายพันธุ์อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง แนะหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกโดยตรง รับประทานผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีกที่ปรุงสุก

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2561 นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กรณีข่าวพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ A (H7N4) ในต่างประเทศ ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการเฝ้าระวังโรคอย่างต่อเนื่อง และไม่พบรายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2549 จึงขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้กรมควบคุมโรค ในฐานะที่เป็นจุดประสานงานกฎอนามัยระหว่างประเทศ ให้ประสานงานและติดตามสถานการณ์ในต่างประเทศอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งกำชับให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดนกของประเทศไทยอย่างเคร่งครัด โดยขณะนี้ องค์การอนามัยโลกยังไม่มีคำแนะนำเฉพาะของสายพันธุ์ดังกล่าวแต่อย่างใด

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ได้สั่งการให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคทุกแห่ง เพื่อประเมินความเสี่ยงอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่ได้ดำเนินการอยู่แล้วตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดนกของประเทศไทย โดยได้ประสานความร่วมมือกับปศุสัตว์ เพื่อติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกทั้งคนและสัตว์อย่างเข้มข้น แม้ว่าไทยไม่พบรายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกมากว่า 10 ปี แต่ยังคงมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก ผ่านผู้เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาด หรือจากนกอพยพ และการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกทั้งบริเวณแนวชายแดนจากประเทศเพื่อนบ้านและภายในประเทศ เช่น ไก่ชน เป็ดไล่ทุ่ง เป็นต้น ซึ่งยังคงมีรายงานพบสัตว์ปีกป่วยโรคดังกล่าวอยู่บ้างในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา ลาว พม่า มาเลเซีย และเวียดนาม

นายแพทย์สุวรรณชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า โรคไข้หวัดนก เกิดจากการติดเชื้อจากสัตว์ปีกได้โดยจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของสัตว์ป่วยโดยตรงและโดยอ้อม เช่น อุจจาระ น้ำมูก น้ำลาย ผู้ป่วยมักรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายเมื่อเอามือที่สัมผัสสารคัดหลั่งจากสัตว์มาสัมผัสกับหน้า จมูก หรือปากของตนเอง อาการจะคล้ายกับโรคไข้หวัดใหญ่ คือ ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย มีน้ำมูก ไอ และเจ็บคอร่วมด้วย สามารถป้องกันได้โดยการดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล โดยการหมั่นล้างมือบ่อยครั้งด้วยสบู่และน้ำ ระมัดระวังการสัมผัสสัตว์ปีกรวมทั้งนกธรรมชาติ รับประทานผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีกที่ปรุงสุก หากมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ภายในช่วง 14 วันหลังกลับจากพื้นที่พบสัตว์ปีกป่วยตาย ควรสวมหน้ากากอนามัย และรีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติการเดินทางและประวัติสัมผัสโรค


สำหรับประชาชนที่เลี้ยงไก่หรือพบเห็นไก่หรือนกตายผิดปกติขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์/อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทันที และรอเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการ หากจำเป็นต้องสัมผัสสัตว์ปีกควรสวมหน้ากากอนามัย และถุงมือยางหรือถุงพลาสติกหนาๆ ห้ามจับสัตว์ปีกด้วยมือเปล่า หลังการสัมผัสให้ล้างมือด้วยสบู่และน้ำทุกครั้ง หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422