ปชช.กว่า95% เชื่อว่าดื่มสุรา-เบียร์ เป็นเหตุให้พิการและตายได้

ปชช.กว่า95% เชื่อว่าดื่มสุรา-เบียร์ เป็นเหตุให้พิการและตายได้

สำรวจความเชื่อต่อข้อความคำเตือนสติดื่มเหล้าเบียร์ พบว่า ปชช.กว่า95% เชื่อว่าดื่ม สุรา-เบียร์ เป็นเหตุให้พิการและตายได้

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการ สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) มูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ เปิดเผย ผล Alcohol Poll แอลกอฮอล์โพล เรื่อง เยาวชนเข้าถึงโฆษณาเหล้าเบียร์ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพ จำนวนทั้งสิ้น 5,407 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10 มกราคม – 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา

พบว่า จำนวนมากหรือร้อยละ 42.0 ระบุสถานการณ์ปัญหาการดื่มเหล้าเบียร์ของคนไทยยังคงเหมือนเดิม รองลงมาคือร้อยละ 34.9 ระบุแย่ลงไปอีก ร้อยละ 12.1 ระบุลดลงบ้าง เพียงร้อยละ 2.0 ระบุลดลงมาก ที่เหลือร้อยละ 8.8 ระบุไม่ทราบและร้อยละ 0.2 ไม่ตอบ

ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.0 ระบุจำเป็นต้องมีมาตรการใหม่ๆ ควบคุมปัญหา เช่น ป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ บทลงโทษรุนแรง บังคับใช้กฎหมายเข้มงวด และความชัดเจนควบคุมการดื่มรอบสถาบันการศึกษาพื้นที่ของเด็กเยาวชนปลอดเหล้า ปลอดเบียร์ เป็นต้น ในขณะที่เพียงร้อยละ 5.4 ระบุไม่ต้องมีมาตรการใหม่อะไร ร้อยละ 11.0 ไม่แน่ใจ และร้อยละ 0.6 ไม่ตอบ

นอกจากนี้ เมื่อถามถึงความเชื่อต่อข้อความคำเตือนสติ ดื่มเหล้าเบียร์ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 98.2 เชื่อว่า สุรา เบียร์ เป็นเหตุทะเลาะวิวาทและอาชญากรรมได้ รองลงมาคือ ร้อยละ 95.6 เชื่อว่า สุรา เบียร์ เป็นเหตุให้พิการและตายได้ ร้อยละ 92.7 เชื่อว่า สุรา เป็นเหตุให้พิการได้ ร้อยละ 91.3 เชื่อว่า สุรา เป็นเหตุให้สมองเสื่อมได้ และร้อยละ 89.1 เชื่อว่า สุรา เป็นเหตุ ก่อมะเร็งได้ ตามลำดับ

แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.3 ระบุ เคยพบเห็นเด็ก เยาวชน เข้าถึงโฆษณา เหล้าเบียร์ ที่ ผับ บาร์ สถานบันเทิง รองลงมาคือร้อยละ 79.6 ระบุ พบเห็นที่ร้านสะดวกซื้อ ร้อยละ 72.8 พบเห็นในโทรทัศน์ วิทยุ สิ่งพิมพ์ ร้อยละ 69.9 พบเห็นในสังคมโซเชียล ออนไลน์ เฟสบุค ร้อยละ 69.8 พบเห็น ตามป้ายริมทาง บนอาคารสูง และร้อยละ 69.7 พบเห็นในห้างสรรพสินค้า ตามลำดับ