ตุ้ยเหลียน เขียนมงคล

ตุ้ยเหลียน เขียนมงคล

แม้ยุคสมัยเปลี่ยน แต่ปลายพู่กันของบรรดาซินแสยังคงตวัดอยู่ ความงดงามและมงคลยังคงเดิม ที่เพิ่มเติมคือการปรับตัว

ถึงเทศกาลตรุษจีน ลูกหลานเชื้อสายมังกรได้เวลาสรรหาสารพัดของมงคลด้วยความเชื่อว่าจะเสริมส่งให้ชีวิตดีสุดๆ

กระดาษแผ่นยาวสีแดงมีตัวอักษรจีนสีทองเขียนอย่างงดงาม เป็นอีกไอเทมความมงคลที่อยู่คู่ชาวจีนมาแสนนาน เรียกกันว่า ตุ้ยเหลียน (ถ้าติดประตูบ้านมักเรียกว่า เหมินเหลียน หรือ ชุนเหลียน) แปลกันง่ายๆ ว่า กลอนตรุษจีน เพราะนิยมเปลี่ยนตุ้ยเหลียนแผ่นใหม่ในช่วงตรุษจีน และแม้ทุกวันนี้จะได้รับความนิยมน้อยลงจนหาคนที่เขียนตุ้ยเหลียนได้ยาก แต่มงคลศักดิ์สิทธิ์ยังเป็นของคนที่ศรัทธา

  • มงคลแห่งตรุษจีน

แต่ดั้งเดิมตุ้ยเหลียนถูกเขียนขึ้นเป็นบทกวีที่ไพเราะ โดยมีหลักการว่าทั้งสองบาทต้องมีจำนวนคำเท่ากัน เสียงสูงต่ำและการสัมผัสคล้องจองรื่นหู มีการเล่นคำ ที่สำคัญคือต้องมีคติสอนใจ มีความหมายที่เป็นมงคล ให้ผู้ที่อยู่อาศัยมีความสุขความเจริญ

ในแผ่นดินจีน ตุ้ยเหลียนเจริญรุ่งเรืองเรื่อยมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง และเจริญสูงสุดในสมัยราชวงศ์หมิง ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์หมิงคือ จักรพรรดิ์จูหยวนจังทรงโปรดการแต่งกลอนคู่มาก และสนับสนุนให้ข้าราชบริพารแต่งด้วย ตุ้ยเหลียนจึงแพร่หลายมากจนมีการรวบรวมเป็นเล่ม ถือเป็นวรรณกรรมที่มีค่าชนิดหนึ่ง

ทว่ายุคสมัยที่ค่อยๆ เปลี่ยนไป การทำมาค้าขายกลายเป็นเรื่องใหญ่ของวิถีชีวิต คนส่วนมากมีเวลาน้อยลง สุนทรียภาพขาดพร่อง กลอนตุ้ยเหลียนยุคหลังๆ จึงเข้าสู่สายพานการผลิตแบบอุตสาหกรรม ตีพิมพ์จากแท่นพิมพ์จนหมดเสน่ห์ไปโดยปริยาย

มิหนำซ้ำความมีมนต์ขลังแบบเก่ากลับถูกแทนที่ด้วยรูปแบบการนำเสนอไอเทมทำนองเดียวกันกับตุ้ยเหลียน แต่เปลี่ยนเป็นกระดาษแดงที่มีตัวอักษรตัวเดียวที่มีความหมายเป็นมงคล และอาจเสริมด้วยภาพทวยเทพและภาพที่สื่อถึงความเจริญรุ่งเรือง อุดมสมบูรณ์ ร่ำรวย และอีกมากมายความมงคล

เช่น การติดตัวอักษร ‘ฝู’ กลับหัว ในคอลัมน์ ‘คือความเป็นจีน’ โดย พันหนีต๋า อธิบายว่า ครั้งหนึ่งจักรพรรดิ์จูหยวนจังทรงกริ้วที่มหาดเล็กติดกระดาษแดงตัวอักษร ‘ฝู’ กลับหัว มหาดเล็กหัวไวกราบทูลว่า ใครก็ตามที่เห็นตัวฝูกลับหัวก็ต้องอุทานออกมาว่า ‘ฝูเต้าเลอ’ ซึ่งแปลได้สองความหมาย แปลว่า ‘ฝูตีลังกากลับหัวเสียแล้ว’ หรือ ‘โชคลาภมาถึงแล้ว’ ก็ได้ ถ้ามีคนเห็นแล้วอุทานร้อยครั้งพระองค์ก็จะมีโชคร้อยครั้ง จักรพรรดิ์ได้ฟังแล้วทรงพอพระทัย พระราชทานรางวัลให้มหาดเล็กหัวใสหลายสิบตำลึง

สำหรับในประเทศไทย ตุ้ยเหลียนยังเป็นของมงคลที่อยู่คู่เทศกาลตรุษจีนเช่นกัน และมีพลวัตรไม่แตกต่างจากตุ้ยเหลียนบนแผ่นดินมังกร มีส่วนหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่ยังมีอีกกลุ่มเล็กๆ ที่ยังตวัดปลายพู่กันสรรค์สร้างเป็นตุ้ยเหลียนแบบแฮนด์เมดให้ผู้ที่ชื่นชอบและศรัทธาได้นำมาติดบ้านเสริมสิริมงคล

  • ฝึกฝนจนเป็นซินแส

กว่า 18 ที่ โอวเส็ก ยึดอาชีพซินแสตุ้ยเหลียน แม้เขาจะเริ่มต้นอาชีพนี้ในวัยกลางคนคือเมื่ออายุ 40 กว่า เพราะก่อนหน้านั้นเขาจะทำอะไรก็ไม่ประสบความสำเร็จ เรียกง่ายๆ ว่า ‘เจ๊ง’

หลังจากเป็นนักเจ๊งมาหลายสิบปี ได้ลองฝึกฝนการเขียนตุ้ยเหลียนจากศาลเจ้าจีน เริ่มจากการเขียนใบอนุโมทนาบัตรให้แก่ผู้ที่มาบริจาคเป็นภาษาจีน ซึ่งใบดังกล่าวนี้มีอีกออปชั่นคือใช้ในพิธีสะเดาะเคราะห์ตามความเชื่อ

จากการเคี่ยวกรำทักษะการเขียนอักษรจีนจนกลายเป็นกระบี่มือหนึ่งของศาลเจ้า ด้วยจุดเด่นที่เขาอธิบายว่าทุกอย่างต้องเป๊ะ ไม่มีพลาด และไม่มั่วซั่ว

“ผมเขียนด้วยลายมือที่พอดูได้ ไม่น่าเกลียด ไม่ดำน้ำ และผมเจาะจงให้ตรงทุกจุด กี่จุด กี่เส้น ต้องเป๊ะ จะเกินไปเส้นหนึ่งความหมายก็เปลี่ยนไป”

อีกเหตุผลที่ทำให้เขามาไกลจนถูกเรียกขานว่า ‘ซินแส’ เพราะชอบขีดเขียนตั้งแต่เด็ก โอวเส็ก เชื่อว่านี่คือสิ่งที่เทพเจ้าเลือกสรรมาให้เขา และเขาคือผู้ถูกเลือกจากเทพเจ้า ทำนองเดียวกับคนที่บวชเป็นพระแล้วไม่สึก ซึ่งน่าจะมีอะไรที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต้องการให้เป็นอย่างนี้...เขาเชื่ออย่างนั้น

นอกจากทำหน้าที่มือเขียนประจำศาลเจ้า ตามงานต่างๆ เช่น การกินเจ งานม้าทรง ฯลฯ เขาก็ไปร่วมทำงานให้ เขาเชื่อด้วยว่านี่ช่วยให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้นด้วย

“แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ ผมไปขอให้ใครสอนเขาก็ไม่ต้อนรับ เราก็เลยต้องศึกษาจากศาลเจ้า ครูพักลักจำไปเรื่อยๆ ดูผู้ใหญ่ที่เขียนดี แล้วเราก็เอามาฝึก ตอนนั้นก็เริ่มจากคอยช่วยจับกระดาษ ขยับกระดาษให้เขา เวลาเขาจะเขียนก็เรียกให้ผมไปช่วย

แรกๆ ที่เริ่มทำก็ถูกเขาตำหนิว่าเขียนไม่ได้เรื่อง ก็นำมาพัฒนาเรื่อยๆ จนถึงจุดที่เราเขียนได้ดี และรู้ว่าแบบไหนที่เรียกว่าเขียนได้ดี คนไหนดำน้ำ รายละเอียดไหนหายไป เขียนผิดเขียนถูกเราจะรู้”

จากมือเขียนใบอนุโมทนาบัตรที่ศาลเจ้า ทำให้มีผู้ใจบุญที่ศรัทธา ‘เต๊ย’ (บริจาค) เข้ามามาก ศาลเจ้าก็อยู่ได้ ตัวโอวเส็กก็อยู่ได้ โดยเฉพาะช่วงตรุษจีน เขาจึงก้าวเข้าสู่วงการซินแสตุ้ยเหลียนอย่างเต็มตัว

ขณะพูดคุยกัน โอวเส็ก โชว์ลีลาการเขียนตุ้ยเหลียน หากเป็นการประลองยุทธ์นี่คือกระบวนท่าที่สังหารศัตรูในดาบเดียว คือ ทั้งมั่นคง พลิ้วไหว และแม่นยำ เพียงอึดใจก็กลายเป็นตุ้ยเหลียนประโยคที่ว่า "ซิง ที่ เกี่ยง คัง" แปลว่า สุขภาพแข็งแรง และอีกสารพัดคำอวยพรที่หลายคนทยอยเข้ามาให้เขาเขียนให้เพื่อนำกลับไปติดที่บ้าน

“การเขียนไม่มีอะไรมาก ผมใช้หัวใจเขียน คุณต้องรักมัน อย่าย่อท้อ เพราะกว่าจะเขียนได้แบบนี้ต้องฝึกฝนหนักมาก เพราะมันพลาดไม่ได้ ส่วนเรื่องเทคนิคก็คือต้องแบ่งเซคชั่น ตัวหนังสือมีบน-ล่าง บางตัวมีซ้าย-ขวา ต้องแบ่งให้พอดี ต้องเล็ง ไม่มีการมาตีสเกลนะ หลักๆ คือต้องฝึกฝนจนทำได้”

  • ตุ้ยเหลียนออนไลน์

ตลอดมาที่อยู่ในแวดวงนี้ โอวเส็กมองเห็นว่า ตุ้ยเหลียนก็คล้ายกับวงการพระเครื่องหรือเครื่องรางของขลังอื่นๆ ที่มีขึ้นมีลง บางปีพระวัดหนึ่งเป็นที่นิยม แต่ปีต่อไปกลับทรุด ตุ้ยเหลียนก็คล้ายกัน คือ บางปีคนนิยมมาก ตรุษจีนทีหนึ่งเรียกได้ว่าเขียนจนมือเป็นตะคริวทีเดียว

แต่ในระยะหลังทั้งเหตุผลเรื่องเศรษฐกิจ, วิถีชีวิตคน ไปจนถึงรูปแบบการใช้ตุ้ยเหลียนที่นิยมเปลี่ยนแค่เฉพาะตรุษจีน ซินแสโอวเส็ก ถึงกับเอ่ยปากตัดพ้อว่า “ถ้าอยากเห็นคนเขียนตุ้ยเหลียนให้รีบไปดูที่เยาวราชนะ เดี๋ยวหลังตรุษจีนก็ไม่มีแล้ว หลังตรุษจีนคนเขียนตุ้ยเหลียนก็เหมือนหมาตัวหนึ่ง ช่วงนี้ได้โกย หลังจากนั้นก็จบ อีกเหตุผลคือเพราะเดี๋ยวนี้ใช้พิมพ์เอา คนเขียนถึงตายไง”

จากนั่งรอลูกค้าแถวแยก SAB ละแวกวรจักร เขาจึงย้ายฐานที่มั่นสู่โลกออนไลน์ โดยการชักชวนของ ประวิทย์ ติยะปัญจนิตย์ เจ้าของเว็บไซต์ ChinatownYaowarach.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์รวบรวมสิ่งที่น่าสนใจในย่านเยาวราชอยู่แล้ว ตั้งแต่ข้อมูลร้านอาหารอร่อย สินค้าของฝากเจ้าดัง หรือว่าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ย่านเยาวราช รวมถึงศิลปะการเขียนตุ้ยเหลียนด้วยเช่นกัน ซึ่งกำลังกลายเป็นศิลปะที่หาดูได้ยากแล้วในปัจจุบัน

เจ้าของเว็บไซต์ดังกล่าวเล่าถึงทัศนคติที่มีต่อการเขียนพู่กันจีนมงคลว่า “การเขียนตุ้ยเหลียนนั้น เป็นการสืบต่อวัฒนธรรมประเพณีจีนที่มีมาอย่างยาวนาน นิยมติดไว้หน้าบ้าน โรงงาน ศาลเจ้า หรือบางคนนำไปติดในบ้านหน้าห้องก็มี โดยจะต้องเปลี่ยนแผ่นใหม่ทุกปี เพื่อมอบความเป็นสิริมงคลให้แก่สถานที่นั้นๆ สำหรับคุณค่าของตุ้ยเหลียนในปัจจุบัน คนรุ่นใหม่อาจไม่รู้จักเลย แต่สำหรับผมแล้ว นับเป็นสุดยอดศิลปะที่หาได้ยากแล้วในปัจจุบัน โดยเฉพาะการตวัดพู่กันแค่ครั้งเดียวแล้วสวยเลยนี่ หายากจริงๆ”

และหลังจากพาการเขียนตุ้ยเหลียนขึ้นออนไลน์ คือใช้เว็บไซต์เป็นศูนย์กลางการสั่งผลิต ให้ลูกค้าเลือกประโยคที่ต้องการ แล้วจึงใช้ซินแสเขียนอย่างวิจิตรบรรจง นับตั้งแต่ที่เริ่มเมื่อปี 2556 จนถึงตอนนี้เขาบอกว่า กระแสถือว่าดีมาก นอกจากจะมีจุดประสงค์คือนำไปติดบ้านแล้ว คนจำนวนไม่น้อยอยากดูโชว์การเขียน โดยเฉพาะช่วงตรุษจีนแบบนี้ เขาจึงต้องทำคลิปวีดีโอโปรโมทผ่านเฟซบุ๊กและเว็บไซต์ ให้คนทั่วไปได้เห็นว่ายังมีศิลปะแบบนี้อยู่ ในเชิงธุรกิจก็ช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ซินแสหลายคนได้อีกทางหนึ่งด้วย

“แต่สำหรับคนที่อยากได้ไปติดบ้านจริงๆ เช่นใครจะขึ้นบ้านใหม่ ต้องการหาตุ้ยเหลียน แต่ไม่มีเวลามาที่เยาวราช การสั่งผ่านออนไลน์ถือเป็นทางเลือกที่ทำได้เลยทันที ผู้ให้บริการก็จัดส่งให้อย่างรวดเร็ว โดยที่เว็บไซต์ได้รวบรวมบุคลากรฝีมือดีไว้ที่เว็บแล้ว ลูกค้าไม่ต้องไปเดินตามหาที่อื่นให้เสียเวลา หรือต้องคอยลุ้นว่าจะเขียนได้สวยไหม”

โอวเส็กให้ข้อมูลว่า ตอนนี้ที่เยาวราชน่าจะเหลือคนเขียนตุ้ยเหลียนเพียงไม่กี่เจ้า (ราว 3-4 เจ้า) ส่วนอีกจำนวนหนึ่งปรับตัวเหมือนกับเขา คือ รอรับออเดอร์จากเว็บไซต์ต้นสังกัด นอกจากจะเขียนเพื่อจำหน่ายแล้ว ยังมีคิวเขียนโชว์ตามงานอีเวนต์ด้วย ยิ่งเพิ่มมูลค่าและต่อลมหายใจให้ตุ้ยเหลียนในยุคที่ต้องพึ่งพาอาศัย E-Commerce

แม้รูปแบบจะทันสมัยมากขึ้น ทว่าเรื่องความเชื่อและความศรัทธาหากเต็มเปี่ยมก็ได้ผลลัพธ์ที่ไม่แปรเปลี่ยน คงคล้ายกับการปลุกเสกพระหรือเครื่องรางของขลังต้องอาศัยพระเกจิอาจารย์ แต่สำหรับตุ้ยเหลียน ซินแสบอกว่าไม่ต้องปลุกเสก แค่เขียนไปด้วยอวยพรไปด้วย คืออ่านคำที่เขียนซึ่งเป็นคำอวยพรอยู่แล้ว

“ความมงคลจะเกิดเมื่อเขาเชื่อว่าสิ่งที่เราเขียนจะช่วยเขา”