บขส.ทุ่ม 2 พันล้าน ซื้อรถใหม่แข่งเอกชน

บขส.ทุ่ม 2 พันล้าน ซื้อรถใหม่แข่งเอกชน

บขส.ทุ่ม 2 พันล้าน ซื้อรถใหม่ 400 คันแข่งเอกชน ฟุ้งไตรมาสแรกปี 61 กำไร 35 ล้าน

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ว่า บขส. รายงานผลการดำเนินงานในปี 2560 มีกำไรจำนวน 16 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้นจากปี 2559 ที่มีผลประกอบการขาดทุน สำหรับการดำเนินงานในช่วงไตรมาสแรกของปี 2561 มีกำไร 35 ล้านบาท และคาดว่าทั้งปีจะมีกำไร 120 ล้านบาท เนื่องจาก บขส. ได้ปรับปรุงคุณภาพของรถ เดิมจำนวน 149 คัน ซึ่งขณะนี้ปรับปรุงแล้วเสร็จ 127 คัน และนำมาวิ่งทดแทนรถเก่าแล้ว

นอกจากนี้ ขอให้ บขส. เร่งจัดหารถใหม่เพื่อนำมาให้บริการ โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ 1. รถขนาดใหญ่ความยาว 12 เมตร มีแผนการจัดหา 314 คันและ2. รถขนาด 8 เมตร ซึ่งเป็นรถขนาดกลางที่จะนำมาให้ระยะสั้นทดแทนรถตู้ จำนวน 55 คัน เพื่อปรับปรุงให้คุณภาพและบริการของ บขส. สามารถแข่งขันกับการเดินรถของเอกชนได้

นายอาคม กล่าวต่อว่า ได้มอบหมายให้ บขส. ปรับปรุงระบบการขายตั๋วโดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ เช่น การซื้อตั๋วผ่านแอพพลิเคชั่นหรือระบบออนไลน์มากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมอบให้ บขส. เร่งปรับปรุงและพัฒนาสถานีที่อยู่ในความรับผิดชอบจำนวน 8 แห่ง จากสถานีทั่วประเทศจำนวน 102 แห่งทั่วประเทศเพื่อเป็นต้นแบบให้เอกชน โดยเฉพาะการปรับปรุงห้องน้ำให้สะอาด รวมทั้งให้เชื่อมรถไฟฟ้าความเร็วสูงรถไฟทางคู่และรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ

นายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด เปิดเผยว่า สาเหตุที่ บขส. กลับมามีกำไรในปี 2560 เนื่องจากมีการปรับลดค่าใช้จ่ายได้จำนวนมาก และมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขนส่งพัสดุภัณฑ์และการให้บริการศูนย์ซ่อมและเปิดรับตรวจสภาพรถ โดยปี 2561 ตั้งเป้าที่จะเพิ่มรายได้ 190 ล้านบาท

สำหรับแผนการจัดหารถโดยสารทั้งหมดมีจำนวน 378 คัน วงเงินรวม 2,450 ล้านบาท ได้แก่ รถขนาดใหญ่ 12 เมตร จำนวน 314 คัน วงเงิน 2,170 บาท แบ่งเป็นการจัดหาด้วยวิธีเช่า 215 คัน ระยะเวลา 4 ปี วงเงิน 1,500 ล้านบาท ซึ่งจะเปิดประมูลได้ในเดือนเม.ย. และใช้เวลาจนถึงส่งมอบรถ 18 เดือน หรือราวปลายปี 2562 และวิธีจัดซื้อ 99 คัน วงเงิน 670 ล้านบาท คาดว่าเปิดประมูลได้ในช่วงกลางปีและใช้เวลาจน 18 เดือนจึงส่งมอบรถได้

ส่วนการจัดหารถบัสขนาด 8 เมตรมี 55 คัน ที่ผ่านมา บขส. ได้ประกาศประมูลจัดหารถไปแล้ว 2 ครั้ง แต่ไม่มีเอกชนรายใดเสนอตัวเข้าร่วมประมูล เนื่องจากมองว่าราคากลางในการเช่าต่ำเกินไป โดย บขส. กำหนดราคาเช่า 4 ปี ด้วยวงเงิน 2,100 บาทต่อคันต่อวัน

“การจัดหารถ 12 เมตร เรากำหนดสเป็กไว้สูง เพราะเราวิ่งขึ้นเขาลงห้วย 500 กิโลเมตรต่อคันต่อวัน รถจึงต้องมีสมรรถนะดี ความปลอดภัยสูง และประชาชนนิยม สเปกที่เรากำหนดจึงเปิดทางให้แบรนด์ยุโรป อย่างเช่น เบนซ์ เข้าร่วมประมูลได้ด้วย” นาบจิรศักดิ์กล่าว

บขส. จึงจะเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ให้เพิ่มราคากลางอีก 20% เป็น 3,000 บาทต่อคันค่อวัน ขณะเดียวกันจะจัดหารถขนาด 8 เมตร เพิ่ม 9 คัน เพื่อนำมาวิ่งนำร่องก่อน เนื่องจากการจัดหาล็อตใหญ่ทำได้ช้า โดยรวมแล้วจะจัดหารถขนาด 8 เมตร ทั้งหมด 64 คัน คิดเป็นวงเงินรวม 280 ล้านบาท

นอกจากนี้ ประชาชนที่ถือบัตรผู้มีรายได้น้อยขอให้ บขส. เพิ่มเครื่องรูดผู้มีรายได้น้อย (EDC) ตามจุดจอดรถโดยสาร เนื่องจากปัจจุบันเครื่องอีดีซีติดตั้งตามสถานีขนส่ง 129 จุดเท่านั้น

บขส. จึงส่งหนังสือถึงกรมบัญชีกลางเพื่อขอติดตั้งเครื่องอีดีซีเพิ่มอีกกว่า 20 จุด โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คาดว่าจะให้บริการประชาชนได้ในช่วงกลางปีนี้