ศาล ปค.สูงสุดยืนคำสั่งเดิม ห้ามขัดขวาง We walk จนถึง 17 ก.พ.

ศาล ปค.สูงสุดยืนคำสั่งเดิม ห้ามขัดขวาง We walk จนถึง 17 ก.พ.

"ศาลปกครองสูงสุด" ยืนตามคำสั่งศาลปกครองกลางให้ ผบ.ตร. สั่งการให้ ผบช.ภ.3-4 คุ้มครองความสะดวก “We walk เดินมิตรภาพ"

เมื่อวันที่ 15 ก.พ.61 เวลา 14.00 น. ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ ศาลปกครองกลาง อ่านคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ในคดีที่นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ กับพวกรวม 4 คน ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กับพวกรวม 7 คน จากการร่วมชุมนุมและจัดกิจกรรม “We walk เดินมิตรภาพ” จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มุ่งสู่จังหวัดข่อนแก่น โดยมีคำขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและเจ้าหน้าที่ตำรวจยุติการดำเนินการปิดกั้น ขัดขวาง คุกคาม ข่มขู่ การใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยชอบด้วยกฎหมายและให้ดูแลการชุมนุมสาธารณะ อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ชุมนุม กับให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการละเมิด

ซึ่งศาลปกครองกลาง มีคำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาโดยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สั่งการให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 และ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 ในฐานะเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ไม่ให้กระทำการใด ๆ ที่มีลักษณะเป็นการปิดกั้น ขัดขวางในการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร่วมชุมนุมภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย และใช้อำนาจหน้าที่ดูแลการชุมนุมสาธารณะและรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนโดยเคร่งครัด จนถึงวันที่ 17 ก.พ.นี้ แต่หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร่วมชุมนุมกระทำการใดอันเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าพนักงานก็ชอบจะพิจารณากำหนดเงื่อนไขหรือมีคำสั่งหรือประกาศให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมหรือแก้ไขหรือร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งให้เลิกการชุมนุม หรือดำเนินการอื่นใดตามอำนาจหน้าที่เพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย

ขณะที่วันนี้ ศาลปกครองสูงสุด ได้วินิจฉัยกรณีดัวกล่าวแล้วเห็นว่า เสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะเป็นสิทธิและเสรีภาพที่สำคัญประการหนึ่งของประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยซึ่งรัฐธรรมนูญรับรองไว้ แต่จะถูกจำกัดได้เฉพาะแต่กรณีเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ได้กำหนดหลักเกณฑ์การใช้สิทธิชุมนุมสาธารณะไว้ ขณะที่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ ได้มีหนังสือแจ้งการชุมนุมต่อผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรคลองหลวงแล้ว ซึ่งผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรคลองหลวงไม่ได้มีคำสั่งให้แก้ไขหรือคำสั่งห้ามการชุมนุมแต่อย่างใด และจากพยานหลักฐานมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีการปิดกั้น ขัดขวาง และทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้เข้าร่วมชุมนุมรู้สึกหวาดกลัว ซึ่งอาจมีการกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไปในเหตุที่ถูกฟ้องร้อง อันกระทบต่อสาระสำคัญของ สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม การมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวของศาลไม่ทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคแก่การบริหารงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติแต่อย่างใด

แต่ระหว่างที่มีการชุมนุม หากเจ้าพนักงานตำรวจเห็นว่ามีการกระทำใด ๆ อันนำไปสู่การชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าพนักงานตำรวจก็ชอบที่จะพิจารณากำหนดเงื่อนไข หรือมีคำสั่งหรือประกาศให้มีการแก้ไขหรือร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งเลิกชุมนุมหรือสั่งให้ยุติการกระทำนั้น หรือดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะหรือกฎหมายอื่นได้ ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง