กองทุนเงินทดแทน เตรียมจ่ายลูกจ้างสูญเสียอวัยวะ กว่า 5 แสน

กองทุนเงินทดแทน เตรียมจ่ายลูกจ้างสูญเสียอวัยวะ กว่า 5 แสน

กองทุนเงินทดแทน เตรียมจ่ายลูกจ้างสูญเสียแขน ถูกเครื่องจักรตัดขาด กว่า 5 แสนบาท

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวถึงข่าวผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ "ถาวร บุญมานัน" โพสต์ข้อความร้องขอความช่วยเหลือจากโรงงานแห่งหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมบางปู หลังประสบอุบัติเหตุถูกเครื่องจักปั่นและตัดแขนข้างขวาขณะปฏิบัติงาน เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2560 แต่เรื่องผ่านมา 2 เดือน ยังไม่ได้รับการเยียวยาช่วยเหลือจากโรงงานดังกล่าวแต่อย่างใดจึงออกมาเรียกร้องสิทธิ

นายสุรเดช ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรปราการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลและประสานงานให้ความช่วยเหลือลูกจ้างโดยด่วนแล้ว ผู้ประกันตนที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานได้รับสิทธิความคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินทดแทน พ.ศ.2537 คือ ค่ารักษา ตามความจำเป็นไม่เกิน 2 ล้านบาท หยุดพักรักษาตัวเกิน 3 วัน ได้รับค่าทดแทนร้อยละ 60 ของค่าจ้าง ค่าสูญเสียอวัยวะ ร้อยละ 60 ของค่าจ้าง

ซึ่งเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2560 นายจ้างของโรงงานที่ลูกจ้างประสบเหตุ ได้มายื่นแบบ กท.16 กรณีลูกจ้างประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานกับสำนักงานประกันสังคมแล้ว และเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560 สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรปราการได้มีการวินิจฉัย เงินทดแทนกรณีหยุดงานตามที่แพทย์ได้สั่งในใบรับรองแพทย์ให้ลูกจ้างที่ประสบเหตุพักรักษาตัว 2 เดือน ซึ่งได้มีการจ่ายเงินทดแทนกรณีหยุดงานไปแล้ว 1 เดือน เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2561 เป็นเงิน 4,836 บาท ส่วนอีก 1 เดือน มีกำหนดจ่ายในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2561 นี้ และเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 ลูกจ้างที่ประสบเหตุได้เดินทางมาพบเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม จังหวัดสมุทรปราการแล้ว

ซึ่งเจ้าหน้าที่ฯ ได้ให้คำแนะนำเรื่องสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทน ที่ลูกจ้างจะได้รับ พร้อมแนะนำให้ลูกจ้างเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน เพื่อรับแขนเทียมและประเมินการสูญเสียอวัยวะ สำหรับการตรวจสอบเบื้องต้นลูกจ้างที่ประสบเหตุได้รับค่าจ้างรายวัน วันละ 310 บาท แขนขาดต่ำกว่าข้อศอก ซึ่งการประเมินสูญเสียอวัยวะทั้งหมด 114 เดือน จะได้รับเงิน สูญเสียสมรรถภาพเป็นเงินจำนวน 551,300 บาท ซึ่งสำนักงานประกันสังคมพร้อมจ่ายทันที เมื่อลูกจ้างได้มีการสิ้นสุดการรักษา

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวในตอนท้ายว่า สำนักงานประกันสังคมได้สอบถามลูกจ้างที่ประสบเหตุ ได้รับการชี้แจงว่าการประสบเหตุดังกล่าวที่ตนเองออกมาเรียกร้องในครั้งนี้ เพื่อเรียกร้องค่าทำขวัญจากนายจ้างไม่ใช่เรียกร้องจากสำนักงานประกันสังคมแต่อย่างใด ทั้งนี้ลูกจ้างรายนี้ทราบสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายเงินทดแทนอย่างดีแล้ว หากลูกจ้างท่านใด มีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง/จังหวัด/สาขา/ที่ท่านสะดวก หรือโทร.1506 (เจ้าหน้าที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th

640_bfj7ke6b5aa7b8678j5gb