รวมพลังฮีโร่วัยใสพิทักษ์น้ำ ด้วยมหัศจรรย์แห่งจุลินทรีย์

รวมพลังฮีโร่วัยใสพิทักษ์น้ำ ด้วยมหัศจรรย์แห่งจุลินทรีย์

รวมพลังฮีโร่วัยใสพิทักษ์น้ำ ด้วยมหัศจรรย์แห่งจุลินทรีย์

“น้ำคือชีวิต” เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า "น้ำ" เป็นทรัพยากรที่สำคัญต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก เมื่อจำนวนประชากรเพิ่มสูงขึ้น  มีการขยายตัวของเมืองและชุมชน  ปริมาณความต้องการน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภคก็เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ในขณะเดียวกันแหล่งน้ำสะอาดตามธรรมชาติกลับลดลง แม่น้ำหรือแหล่งน้ำหลายแห่งเต็มไปด้วยขยะและเป็นที่รองรับน้ำเสียจากครัวเรือน ลุกลามเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมและส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน

จากความตระหนักในความสำคัญของน้ำและเล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ที่ทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่จากโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา 2 ริเริ่มโครงการ คลองสี่สดใส ชุมชนร่วมใจรักษ์ ด้วยน้ำหมักชีวภาพด้วยความมุ่งมั่นที่จะจัดการปัญหาน้ำเน่าเสียในคูคลองรอบโรงเรียนและชุมชนเฟื่องฟ้าพัฒนา ในเขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร   โดยใช้หลักการบูรณาการร่วมกันระหว่างโรงเรียนกับชุมชนและมีเยาวชนในโครงการเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน  น้องๆ ได้ประยุกต์ใช้ความรู้และนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ พร้อมกับสร้างเครือข่ายความร่วมมือในชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำในพื้นที่  โดยนำแรงบันดาลใจที่ได้จากการเข้าค่ายเรียนรู้การอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม PTTEP Teenergy ปีที่ 4 ตอน “ก้าวเพื่อรักษ์” ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งจัดโดย บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. มาเป็นพลังในการขับเคลื่อนกิจกรรม

นายวรวุฒิ แสงจันทร์ หรือ น้องเฟรม นักเรียนชั้น ม. 6 โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา 2 หัวหน้าโครงการ “คลองสี่สดใส ชุมชนร่วมใจรักษ์ ด้วยน้ำหมักชีวภาพ” เล่าถึงที่มาของโครงการนี้ว่า

“ระหว่างเข้าร่วมกิจกรรมค่าย PTTEP Teenergy ปีที่ 4 นอกจากจะได้เพื่อนใหม่และประสบการณ์ดีๆ หลายอย่างแล้ว   เพื่อนๆ ทุกคนยังมีโอกาสเสนอโครงการเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนหรือชุมชนของตัวเอง  ผมก็เลยคิดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวผม นั่นก็คือปัญหามลพิษในลำคลองรอบโรงเรียน   

ผมและเพื่อนๆ ในกลุ่มได้เสนอโครงการพัฒนาคลองที่ใช้ร่วมกันระหว่างโรงเรียนกับชุมชน ซึ่งจะส่งผลดีทั้งกับโรงเรียนและชุมชนใกล้เคียงด้วย ผมอยากจะทำให้คลองนี้สะอาดไม่มีกลิ่นเน่าเสีย อยากให้โรงเรียนกับชุมชนร่วมมือกันในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างชุมชนกับโรงเรียนครับ” นายวรวุฒิกล่าว

คลองสี่ ที่พาดผ่านโรงเรียนและชุมชน  กำลังประสบปัญหามลพิษ จากการทิ้งขยะปริมาณมากอย่างต่อเนื่องจากชุมชนลงในคลอง จนเกิดการเน่าเหม็นส่งกลิ่นไปทั่วบริเวณ   นอกจากนั้น ยังมีผักตบชวาจำนวนมากขวางทางระบายน้ำ และทำให้น้ำมีออกซิเจนน้อยจนสัตว์น้ำอาศัยอยู่ไม่ได้  แต่ขณะเดียวกันรากของผักตบชวา ยังพอมีประโยชน์และช่วยในการบำบัดน้ำเสีย  จึงต้องรักษาปริมาณผักตบชวาให้มีปริมาณที่เหมาะสม

“ผมและเพื่อนๆ ในโรงเรียนและอาจารย์ที่ปรึกษาจึงคิดและช่วยกันทำน้ำหมักชีวภาพและปั้นอีเอ็มบอลเพื่อนำไปบำบัดน้ำเสียในคลอง  เราได้ชักชวนชาวบ้านที่อยู่ด้านหลังคลอง  เจ้าหน้าที่ทุกคนในโรงเรียนและเครือข่ายผู้ปกครองเข้าร่วมโครงการ  พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากสำนักงานเขต เพื่อมาช่วยกันนำผักตบชวาออกจากคลอง และช่วยกันเทน้ำหมักชีวภาพและอีเอ็มบอลลงในลำคลอง จากนั้นมีการติดตามผลทุกสัปดาห์”

 น้องเฟรมเล่าด้วยความภาคภูมิใจว่า   ลำคลองมีกลิ่นเหม็นน้อยลง ขยะและผักตบชวาลดลงมาก น้ำดูใสขึ้น เริ่มมีสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น สภาพแวดล้อมของโรงเรียนและชุมชนดีขึ้น ส่วนผลพลอยได้คือชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมของโรงเรียน เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างโรงเรียนกับชุมชน ก่อให้เกิดการทำงานร่วมกันในโครงการต่างๆอย่างต่อเนื่อง  ปัจจุบันโรงเรียนและชุมชนมีการร่วมมือกันต่อยอดทำกิจกรรมต่างๆ มากมาย เช่น โครงการวิทย์สู่ชุมชน โครงการอ่านข่าวภาษาอังกฤษให้ทางวิทยุชุมชน เป็นต้น

“เราทุกคนเกิดมาต้องพึ่งพาอาศัยธรรมชาติฉันใด ธรรมชาติก็ต้องการการดูแลเอาใจใส่ที่ดีจากมนุษย์ฉันนั้น การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้ด้วยตัวเอง เช่น การไม่ทิ้งขยะหรือปล่อยน้ำเสียลงในแม่น้ำลำคลอง ปิดน้ำให้สนิท ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้งาน แม้จะเป็นเรื่องเล็กก็ไม่ควรมองข้าม ถ้าทุกคนทำได้ธรรมชาติที่สมบูรณ์ก็จะอยู่คู่กับมนุษย์ไปตราบนานเท่านาน”  น้องเฟรม กล่าวทิ้งท้าย

พลังของน้อง ๆ ในการทำกิจกรรมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นในชุมชนครั้งนี้ นับเป็นกิจกรรมเล็ก ๆ กิจกรรมหนึ่ง ในฐานะแนวร่วมเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ได้รับการปลูกฝังจากการเข้าค่าย "PTTEP Teenergy"  ซึ่งมีเป้าหมายในการปลูกจิตสำนึกและจุดประกายให้เยาวชนทั่วประเทศตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนำความรู้มาต่อยอดพัฒนา เกิดเป็นเครือข่ายเยาวชนที่จะร่วมกันทำประโยชน์ให้กับชุมชนและสังคม ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาวต่อไป