ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นกว่า2%

ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นกว่า2%

หลังอีไอเอเผยสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาด

สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าเวสต์เท็กซัส ปิดตลาดวันพุธ (14ก.พ.)ตามเวลาท้องถิ่น ดีดตัวขึ้น หลังสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (อีไอเอ) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดในสัปดาห์ที่แล้ว แต่ราคาน้ำมันดิบร่วงลงในช่วงแรก จากความกังวลเกี่ยวกับการผลิตน้ำมันที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภาวะน้ำมันล้นตลาด

อย่างไรก็ดี ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และแนวโน้มที่ซาอุดิอาระเบียจะปรับลดการผลิตน้ำมันในเดือนหน้า

กระทรวงน้ำมันของซาอุดิอาระเบียเปิดเผยว่า บริษัทอารามโคของซาอุดิอาระเบียจะมีการผลิตน้ำมันในเดือนมี.ค.ต่ำกว่าระดับในเดือนก.พ.ราว 1 แสนบาร์เรล/วัน ขณะที่การส่งออกจะอยู่ต่ำกว่าระดับ 7 ล้านบาร์เรล/วัน

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ส่งมอบเดือนมี.ค. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาดไนเม็กซ์ บวก 1.41 ดอลลาร์ หรือ 2.4%  ปิดที่ 60.60 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ เพิ่มขึ้น 1.68 ดอลลาร์ หรือ 2.7% ปิดตลาดที่ราคา 64.40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

อีไอเอ เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐเพิ่มขึ้น 1.8 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว เทียบกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าพุ่งขึ้น 2.8 ล้านบาร์เรล ขณะที่สถาบันปิโตรเลียมอเมริกา (เอพีไอ) ระบุก่อนหน้านี้ว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐพุ่งขึ้น 3.9 ล้านบาร์เรล  โดยสต็อกน้ำมันเบนซินพุ่งขึ้น 3.6 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว เทียบกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านบาร์เรล

สต็อกน้ำมันกลั่น ซึ่งรวมถึงฮีตติ้งออยล์และน้ำมันดีเซล ลดลง 459,000 บาร์เรล เทียบกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลง 1.1 ล้านบาร์เรล

ด้านสำนักงานพลังงานสากล (ไออีเอ) ออกรายงานระบุว่า การผลิตน้ำมันในสหรัฐมีการขยายตัวอย่างมาก จนทำให้การผลิตน้ำมันในปีนี้อาจเทียบเท่ากับการขยายตัวของความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลก

“นี่เป็นเรื่องน่าคิดสำหรับประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายอื่นๆ ซึ่งกำลังปรับลดกำลังการผลิต และเผชิญกับการท้าทายจากการที่ถูกแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด” รายงานระบุ

ในเดือนพ.ย.2557 กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ใช้นโยบายเพิ่มกำลังการผลิต และกดดันราคาน้ำมันให้ลดลงอย่างมาก โดยหวังชิงส่วนแบ่งในตลาด และเพื่อทำให้กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (shale oil) ของสหรัฐประสบภาวะขาดทุนจนไม่สามารถทำการผลิตต่อไปได้ เนื่องจากมีต้นทุนสูงกว่าการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปก

อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันที่ทรุดตัวลงอย่างหนัก ก็ได้ส่งผลกระทบต่อสถานะการเงินของโอเปกเอง จนทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการผลิตในเวลาต่อมา โดยที่ประชุมโอเปกและประเทศนอกโอเปก เช่น รัสเซีย เห็นพ้องกันในการปรับลดกำลังการผลิต เพื่อผลักดันราคาน้ำมันในตลาดให้ดีดตัวขึ้น และต่อมามีการขยายเวลาปรับลดการผลิตจนถึงสิ้นปีนี้ แต่ราคาน้ำมันที่ดีดตัวขึ้น ก็ได้ดึงดูดให้ผู้ผลิตน้ำมันของสหรัฐกลับมาเพิ่มกำลังการผลิตเช่นกัน