ปปง.ยึดทรัพย์กว่า4พันล้าน คดีดังโกงงบภัยพิบัติ-ทัวร์ศูนย์เหรียญ

ปปง.ยึดทรัพย์กว่า4พันล้าน คดีดังโกงงบภัยพิบัติ-ทัวร์ศูนย์เหรียญ

ปปง. มีมติอายัดทรัพย์ 4 คดีใหญ่ อดีตผู้ว่าฯอุบล โกงงบภัยพิบัติ 422 ล้าน. บ.โอเอทัวร์ศูนย์เหรียญ ฉ้อโกงภาษี 4,843 ล้าน แก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามชาติ-นักค้ายาเสพติด

เมื่อวันที่ 13 ก.พ.61 ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร รองเลขาธิการฯ รักษาราชการแทนเลขาธิการปปง. เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 3/2561 ว่า คณะกรรมการธุรกรรมมีมติให้ยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำความผิด และให้ส่งเรื่องไปยังพนักงานอัยการ เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย จำนวน 4 คดี ดังนี้

1. คดีนายสัมฤทธิ์ ยะไวย์ กับพวก สืบเนื่องจาก ปปง. ได้รับรายงานจากตำรวจภูธรชะอำ ได้ร่วมกันจับกุมนายสัมฤทธิ์ ยะไวย์ กับพวก พร้อมของกลางยาบ้า จำนวน 830,000 เม็ด โดยกล่าวหาว่า ร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาบ้า) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยผิดกฎหมาย ปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาในชั้นศาล การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับยาเสพติด. ปปง.จึงอายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน จำนวน 5 รายการ พร้อมดอกผล นับตั้งแต่วันที่ คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ รวมมูลค่ากว่า 3,437,209 บาท

2. คดีกรณีร้องเรียนการทุจริตในการจัดซื้อสารเคมีผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีโรคระบาดด้านพืช สืบเนื่องจาก สำนักงาน ปปง. ได้รับรายงานจากคณะกรรมธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน รายงานเรื่องร้องเรียนการทุจริตในการจัดซื้อสารเคมีผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีโรคระบาดด้านพืชของอำเภอต่างๆ ในจ.อุบลราชธานี โดยผลการตรวจสอบสอดคล้องต้องกันว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ นายสุรพล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กับพวก เข้าข่ายเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และกระทำการด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 เป็นเจ้าพนักงานรับรองเป็นหลักฐานว่าตนได้กระทำการอย่างใดขึ้น หรือว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นเท็จ หรือรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสาร. มุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ ทำให้ราชการได้รับความเสียหายจากผลของการกระทำ โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าว การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการทุจริต และการยักยอก ฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3(5) และ (18)

คดีนี้ คณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติให้เลขาธิการ ปปง. ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ เพื่อยื่นคำร้อง ต่อศาลให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินแล้ว จำนวน 327 รายการ มูลค่ากว่า 422,136,965 บาท ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล และในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ในวันนี้ (13 ก.พ.) มีมติให้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพิ่มเติมอีก 1 รายการ ประมาณ 850,000 บาท รวมทรัพย์สินที่ได้ส่งให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องต่อศาล ให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินไปแล้วทั้งสิ้น จำนวน 328 รายการ มูลค่ากว่า 422,986,965 บาท

3. คดีนายธงชัย โรจน์รุ่งรังสี กับพวก (ทัวร์ศูนย์เหรียญ) สืบเนื่องจากสำนักงาน ปปง. ได้รับรายงานจากกรมสรรพากร กรณีนายธงชัยกับพวก กระทำความผิดตามมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากร กล่าวคือ คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองความผิดทางภาษีอากรที่เข้าข่ายความผิดมูลฐานตามกฎหมาย ปปง. ได้ให้ความเห็นชอบ แก่อธิบดีกรมสรรพากรในการส่งข้อมูลให้สำนักงาน ปปง. เพื่อดำเนินการกับนายธงชัยฯ ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ เสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากร โดยหลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงตั้งแต่ 10 ล้านบาทต่อปีภาษีขึ้นไป และได้กระทำในลักษณะที่เป็นกระบวนการหรือเป็นเครือข่าย โดยสร้างธุรกรรมอันเป็นเท็จหรือปกปิดเงินได้พึงประเมิน หรือรายได้เพื่อหลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงภาษีอากร และมีพฤติกรรมปกปิดหรือซ่อนเร้นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อมิให้ติดตามทรัพย์สินนั้นได้ โดยได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเท็จ ตั้งแต่ปี 2554-2559 จนเป็นเหตุให้กรมสรรพากรได้รับความเสียหาย ประมาณ 7,788,362,147.89 บาท การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 37 ตรี แห่งประมวลรัษฎากรและเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542คดีนี้ คณะกรรมการธุรกรรม ในการประชุม ครั้งที่ 23/2560 เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.60 ได้มีมติให้อายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ จำนวน 125 รายการ พร้อมดอกผล รวมมูลค่ากว่า 4,246,569,770 บาท และต่อมาในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรมในวันนี้ (13 ก.พ.) ได้มีมติให้เลขาธิการ ปปง. ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 124 รายการ มูลค่ากว่า 4,834,800,320 บาท

4. คดีนายทวีศักดิ์ สุจริตวัฒนะนนท์ กับพวก สืบเนื่องจากสำนักงาน ปปง. ได้รับรายงานจาก กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 6 รายงานพฤติการณ์แก๊งคอลเซ็นเตอร์และการกระทำผิดฐาน มีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ (ไทย-จีน-ไต้หวัน)ใช้โทรศัพท์หลอกลวงประชาชนด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ จนทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หลงเชื่อตามคำหลอกลวงและโอนเงินไปยังบัญชีเงินฝากธนาคารต่างๆ ประกอบกับจากการสืบสวนปรากฏว่า หมายเลขโทรศัพท์ซึ่งกลุ่มคนร้ายใช้โทรหลอกลวงผู้เสียหาย ได้ขายในประเทศจีน ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ว่าสถานที่ตั้งคอลเซ็นเตอร์อยู่ที่ประเทศจีนโดยกลุ่มคนร้ายได้โทรศัพท์มาหลอกลวงประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทย เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำดังกล่าว จำนวน 59 ราย คดีนี้ คณะกรรมการธุรกรรม ในการประชุม ครั้งที่ 23/2560 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2560 มีมติให้อายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ จำนวน 120 รายการ พร้อมดอกผล รวมมูลค่ากว่า 53,000,000 บาท และส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่ได้อายัดไว้ชั่วคราว จำนวน 114 รายการ พร้อมดอกผล รวมมูลค่ากว่า 39,517,747.22
บาท ไปคืนหรือชดใช้ให้แก่ผู้เสียหายจำนวน 59 ราย