จับบ.ระบบโทรผ่านเน็ต ให้ผู้ใช้โทรป่วนขู่บึ้มดอนเมือง

จับบ.ระบบโทรผ่านเน็ต ให้ผู้ใช้โทรป่วนขู่บึ้มดอนเมือง

รวบกรรมการ บ.ระบบโทรผ่านเน็ตไร้ใบอนุญาต เผยให้ผู้ใช้โทรป่วนขู่บึ้มดอนเมือง

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ สน.ดอนเมือง พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว (รองผบช.ทท.) นายพิชัย สุวรรณกิจบริหาร ผอ.สำนักกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม สำนักงาน กสทช. พร้อมตำรวจ บช.ทท. กสทช.และสน.ดอนเมือง ร่วมกันแถลงจับกุมนายอมรรัตน์ สนธิไทย อายุ 46 ปี กรรมการบริษัท ทูเอพลัส จำกัด ตั้งอยู่ในซอยลาดพร้าว 101 แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ ซึ่งเปิดบริษัทให้บริการโทรศัพท์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต หรือระบบ VoIP (Voice over Internet Protocol) แต่มีการให้บริษัทอื่นเช่าช่วงต่อ ซึ่งถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม 2544 มาตรา 7 (1) และมาตรา 67 (1) ข้อหาประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภท 1 โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท

พล.ต.ต.สุรเชษฐ์กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา เวลา 16.45น. มีคนร้าย น้ำเสียงเป็นชาย อายุ 35-40 ปี พูดภาษาไทยสำเนียงใต้โทรศัพท์ข่มขู่วางระเบิดที่สนามบินดอนเมือง โดยมีเลขหมายคือ 02-153-9514 ต่อมาวันที่ 17 มกราคม เวลา 11.30 น. มีคนร้ายน้ำเสียงเป็นชาย อายุประมาณ 35 ปี พูดภาษาไทยสำเนียงใต้ โทรมาข่มขู่วางระเบิดที่สนามบินดอนเมืองอีกครั้ง ปรากฏเลขหมาย 053-106-247 หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเบอร์ดังกล่าวพบว่าเป็นเบอร์โทรศัพท์จากบริษัทผู้ต้องหาที่เช่าหมายเลขโทรศัพท์ ซิมและสัญญาณจากบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เมื่อเช่ามาแล้วกลับนำไปให้บุคคลหรือบริษัทอื่นเช่าช่วงต่อทั้งในและนอกประเทศอีกทอดหนึ่ง ซึ่งตามกฎหมายไม่สามารถทำได้

รอง ผบช.ทท.กล่าวต่อว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบยังพบว่าคนร้ายที่โทรศัพท์มาข่มขู่นั้นได้เช่าช่วงต่อจากบริษัทผู้ต้องหา แล้วคนร้ายใช้อุปกรณ์แปลงสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบจีเอสเอ็มเพื่อให้สามารถแปลงสัญญาณเป็นหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อไปยังโทรศัพท์ภายในสนามบินดอนเมืองเพื่อข่มขู่วางระเบิดได้ การกระทำดังกล่าวเรียกว่า Call Termination (VoIP Termination) ถือเป็นการให้บริการโทรคมนาคม ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมถึงจะดำเนินการได้

พล.ต.ต.สุรเชษฐ์กล่าวว่า จริงๆ แล้วการใช้โทรศัพท์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตมีประโยชน์มากต่อการทำธุรกิจ แต่มีคนร้ายนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้สร้างความเสียหาย ทางตำรวจได้หารือกับทาง กสทช.เพื่อหามาตรการร่วมกัน เพราะ กสทช.เป็นผู้เสียหายในเรื่องนี้ อยากเตือนบริษัทที่ดำเนินการให้เช่าช่วงต่อในลักษณะนี้จะถูกดำเนินคดีทุกราย เบื้องต้นพบว่ามีบริษัทที่ทำธุรกิจดังกล่าว 500 กว่าแห่ง ก็จะต้องเชิญมาพูดคุยทำความเข้าใจกันต่อไป

ด้านนายพิชัยกล่าวว่า คดีนี้ กสทช.เป็นผู้เสียหายเข้าร้องเรียนกับทาง พงส.สน.ดอนเมือง ดำเนินคดีกับบริษัทดังกล่าวเจ้าทุกข์ ส่วนการมีกล่องแปลงสัญญาณเครือข่ายโทรศัพท์หรือกล่องซิมล็อกนั้น ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ไม่สามารถพกพาหรือนำเข้าได้เองเพราะจะถือว่ามีความผิดทันที

ด้านผู้ต้องหารับสารภาพให้การว่า เปิดบริษัทเพื่อวางระบบโครงข่ายโทรศัพท์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตให้กับบริษัททั่วไป ทำมาแล้ว 3 ปี ทราบว่าคนร้ายเช่าช่วงสัญญาณต่อในราคา 80 สตางค์ต่อนาที เฉลี่ยเดือนละ 20,000 บาท ไม่ทราบมาก่อนว่าการให้เช่าช่วงสัญญาณต่อนั้นผิดกฎหมายและจะไม่ทำอีกต่อไปเด็ดขาด