ชี้เอกชน-ปชช.ยังไม่เข้าใจ 'พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ'

ชี้เอกชน-ปชช.ยังไม่เข้าใจ 'พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ'

สภาหอการค้าฯ เผยภาคเอกชน-ประชาชนยังไม่เข้าใจ "พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ" หวั่นทำเอสเอ็มอีแบกรับภาษีเพิ่ม แนะเก็บอัตราเดียวแทนขั้นบันได

นายอธิป พีชานนท์ กรรมการบริหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า จากการหารือกับผู้ประกอบการภาคเอกชน หอการค้าไทย และประชาชนโดยส่วนใหญ่ พบว่า ส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมกับภาระภาษีที่จะเพิ่มขึ้น หากมีผลบังคับใช้จริงในต้นปี 2562 เนื่องจากส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจในกฎหมายร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยเฉพาะอัตราภาษีที่เป็นแบบขั้นบันไดที่จะทำให้ประชาชนสับสน รวมถึงการตีความของที่ดิน ดังนั้นจึงอยากเสนอให้อัตราภาษีเป็นอัตราเดียว มากกว่าเป็นแบบขั้นบันได

นอกจากนี้ ยังห่วงว่า การจัดเก็บภาษีในรูปแบบใหม่ อาจกระทบกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จะต้องแบกรับภาระภาษีที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องแบกรับภาระจากต้นทุนค่าแรงที่ปรับใหม่ ซึ่งบางรายอาจได้รับผลกระทบจนไม่สามารถแบกรับต้นทุนอื่นได้อีก

ขณะเดียวกันยังเป็นห่วงเรื่องดุลยพินิจ แม้ว่ากฎหมายดังกล่าวจะระบุว่าช่วยลดการใช้ดุลยพินิจ แต่ระบบการจัดเก็บนั้น ยังต้องตีความเรื่องของที่ดี เช่น ที่ดินรกร้างเดิมหากมาปลูกพืชแต่ไม่ได้หวังผลทางเกษตรกรรม จะตีความว่าเป็นเกษตรกรรมหรือไม่ พิจารณาอย่างไร เป็นต้น ดังนั้นการตีความดังกล่าว ยังต้องใช้ดุลยพินิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. เข้ามาพิจารณาเช่นเดิม

ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าว หากเป็นกรณีที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 ขึ้นไปนั้น ยอมรับว่าจะกระทบกับผู้ประกอบการอย่างแน่นอน รวมถึงกระทบกลุ่มบ้านพักตากอากาศ หรือผู้ประกอบการที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อปล่อยให้เช่า เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม หากดูอัตราภาษีเบื้องต้นที่รัฐบาลระบุว่าส่วนเกินจาก 20 ล้านบาท จะเสียในอัตรา 0.02% เช่น 30 ล้านบาท ส่วนที่เกิน 10 ล้านบาท เท่ากับอัตราภาษีที่จะต้องเสีย คือ 2,500 บาทต่อปีเท่านั้น