คาดเปิดประมูลทางด่วนพระราม3-ดาวคะนอง วงแหวนรอบนอกฯมี.ค.นี้

คาดเปิดประมูลทางด่วนพระราม3-ดาวคะนอง วงแหวนรอบนอกฯมี.ค.นี้

รองผู้ว่าฯ กทพ. คาดเปิดประมูลทางด่วนพระราม3, ดาวคะนองและวงแหวนรอบนอกฯ เดือนมี.ค.นี้ เผยเสนอบอร์ดกู้ 2-3 พันล้านบ. ก่อนหลัง TFF สะดุด

นายวิชาญ เอกรินทรากุล รองผู้ว่าการฝ่ายวิชาการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก โดยมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สำนักงานเขต องค์กรอิสระ ผู้นำชุมชน ประชาชนในพื้นที่และผู้ที่สนใจเข้าร่วมประชุมเพราะนับว่าชาวบ้านสนใจกับโครงการนี้อย่างมาก สำหรับการเวนคืนที่ดินมีเพียง 70 - 80 หลัง ถือว่าน้อยมากหากเทียบกับโครงการขนาดใหญ่อื่นๆ คาดสามารถประกวดราคาได้ภายในเดือนมีนาคมนี้ และคาดจะได้ผู้รับเหมาพร้อมก่อสร้างเดือนกรกฎาคม 2561 แน่นอน ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 39 เดือนและจะสามารถเปิดให้บริการได้ปี 2564

นายวิชาญ กล่าวเพิ่มเติมว่า พร้อมเตรียมแผนสำรอง หากไม่สามารถนำเงินในกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์(TFF)มาใช้ได้ทันตามกำหนด เพราะอยู่ระหว่างสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กทพ.ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด จึงเตรียมเสนอกระทรวงการคลังขอกู้เงินระยะสั้นจากแหล่งเงินทุนภายในประเทศ วงเงิน 2,000 - 3,000 ล้านบาท เพื่อมาใช้ก่อสร้างไปก่อน จึงเตรียมเสนอให้บอร์ด กทพ. พิจารณาวันพุธที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ ก่อนจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง

โครงการดังกล่าว ช่วยแบ่งเบาการจราจรของทางพิเศษเฉลิมมหานครช่วงดาวคะนองถึงสะพานพระราม 9 สามารถรองรับการเดินทางระหว่างพื้นที่ชั้นนอกและชั้นในกรุงเทพมหานคร ช่วยแบ่งเบาปัญหาการจราจรที่ติดขัดบนถนนพระรามที่ 2 ช่วงดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก และทางพิเศษเฉลิมมหานคร ช่วงบางโคล่ - ดาวคะนอง และ ยังเป็นเส้นทางรองรับการเดินทางและขนส่งสินค้าในกรณีที่เกิดเหตุภัยธรรมชาติและเหตุฉุกเฉิน

ทั้งนี้ โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก เป็นโครงการเชื่อมต่อโครงข่ายทางพิเศษ ไปยังทิศตะวันตกและภาคใต้ มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อ กับโครงการทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 (ธนบุรี-ปากท่อ) ของกรมทางหลวงที่ กม. 13 + 000 ของถนนพระราม 2 โดยโครงการเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร (ทิศทางละ 3 ช่องจราจร) ซ้อนทับไปตามแนวเกาะกลางถนนพระราม 2 จากนั้นแนวเส้นทางจะเบนขวาบริเวณโค้งทางแยกต่างระดับดาวคะนอง เพื่อไปซ้อนบนทางพิเศษเฉลิมมหานครไปจนถึงช่วงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาจะก่อสร้างสะพานใหม่ ขนาด 8 ช่องจราจร (ทิศทางละ 4 ช่องจราจร) ขนานอยู่ทางด้านทิศใต้ของสะพานพระราม 9 จากนั้นแนวเส้นทางจากข้ามถนนพระราม 3 เพื่อไปเชื่อมต่อกับทางพิเศษเฉลิมมหานครและทางพิเศษศรีรัช บริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่ รวมระยะทาง 18.7 กิโลเมตร ผ่านพื้นที่ 5 เขตของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ เขตบางขุนเทียน เขตจอมทอง เขตราษฎร์บูรณะ เขตบางคอแหลมและเขตยานนาวา