ฝาก 'สนช.-กกต.-กรธ.' พิจารณากฎหมายส.ส.และส.ว. ตรงไปตรงมา

ฝาก 'สนช.-กกต.-กรธ.' พิจารณากฎหมายส.ส.และส.ว. ตรงไปตรงมา

"รองหน.ปชป." ฝาก "สนช.-กกต.-กรธ." พิจารณากฎหมาย ส.ส.-ส.ว. ตรงไปตรงมา ตอบสังคมได้ อย่าเอื้อประโยชน์ให้ใคร หวั่นเป็นชนวนขัดแย้งบานปลาย

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงความไม่ชัดเจนในการกำหนดระยะเวลาการเลือกตั้ง ว่า ความชัดเจน หรือไม่ชัดเจน ของการกำหนดวาระเวลาการเลือกตั้งขึ้นอยู่กับการทำงานของคณะกรรมาธิการร่วมกัน 3 ฝ่ายคือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. จากนั้นขั้นตอนสุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับ สนช. ว่าจะพิจารณาเห็นชอบ หรือ ไม่เห็นชอบกับร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ ถ้า สนช. เห็นชอบก็จะเข้าสู่ขั้นตอนของการประกาศใช้กฎหมาย ซึ่งจะทำให้เห็นความชัดเจนขึ้น แต่ถ้าสนช. ไม่เห็นชอบกฎหมายก็ตกไปอันส่งผลให้เกิดความไม่ชัดเจนอย่างมากตามมา เพราะจะต้องเริ่มกระบวนการร่างกฎหมายกันใหม่ ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะใช้วิธีไหน อย่างไร ไม่มีใครบอกได้ว่าการเลือกตั้งจะอยู่ในช่วงระยะเวลาใด อันจะก่อให้เกิดความสับสน ความไม่แน่นอน ทางการเมืองตามมาอย่างแน่นอน

นายองอาจ กล่าวว่า การทำงานของกรรมาธิการร่วม 3ฝ่าย สนช. กกต. และ กรธ และการพิจารณาว่าเห็นชอบ หรือ ไม่เห็นชอบกฎหมายทั้งสองฉบับของ สนช.จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องติดตามดูว่าจะทำงานอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่ ถ้าทำงานตรงไปตรงมามีเหตุผลอธิบายได้ชัดเจน เชื่อว่าผู้คนส่วนมากในสังคมก็พร้อมจะยอมรับได้ แต่ถ้าการทำงานมีลับลมคมใน ไม่ตรงไปตรงมา มีเจตนาเพื่อเอื้อประโยชน์ทางการเมืองให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เชื่อว่าผู้คนส่วนมากในสังคมคงไม่สามารถยอมรับได้ อาจเป็นชนวนก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคมกลายเป็นปัญหาบานปลายออกไปได้

" ขอฝากให้ สนช. กกต. และ กรธ ใช้วิจารณญาณพิจารณากฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. และกฎหมายการได้มาซึ่ง ส.ว. ทั้งสองฉบับโดยคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน บนหนทางของการเห็นพ้องต้องกันของประชาชนส่วนใหญ่ ที่อยากเห็นประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้ตามครรลองประชาธิปไตยในที่สุด"รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว