จับ 6 เขมร ลักตัดไม้พยุงอุทยานทับลาน แฉมี 2 ไส้ศึกเป็นคนไทย

จับ 6 เขมร ลักตัดไม้พยุงอุทยานทับลาน แฉมี 2 ไส้ศึกเป็นคนไทย

มาตรการจับก่อนตัดไม้พะยูงได้ผล! จับ 6 เขมร ลักตัดไม้พยุงอุทยานทับลาน หลังมี 2 ไส้ศึกเป็นคนไทยนำเข้ามา

เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 61 นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน กล่าวว่า "คณะเจ้าหน้าที่สายตรวจหน่วยพิทักษ์ฯ ทล.20 (ห้วยคำภู) ร่วมกับสายตรวจส่วนกลางอุทยานแห่งชาติทับลาน และฐานปฏิบัติการป้องกันรักษาป่าพรานนุช หลังได้รับแจ้งจากระบบ NCAPS ในเวลา 3.40 น. พบว่ามีกลุ่มบุคคลกำลังแบกเป้เสบียงอาหารลักลอบเข้าไปในในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน บริเวณป่าคลองน้ำใส ต.แก่งดินสอ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี

จึงได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ออกตรวจติดตามโดยทันที จนสามารถติดตามจับกุมผู้กระทำผิดได้เป็นชาวกัมพูชาจำนวน 6 คน พร้อมเลื่อยโซ่ยนต์ จำนวน 2 ตัว และเสบียงอาหารจำนวนมาก โดยจากการสอบถามชาวกัมพูชาที่สามารถพูดและสื่อสารภาษาไทยได้ให้การว่า กลุ่มของพวกตนเป็นชาวกัมพูชาทั้งหมด จำนวน 37 คน โดยมีชาวไทย 2 คน เป็นผู้นำทาง เพื่อที่จะเข้าไปตัดและขนย้ายไม้พะยูงออกจากพื้นที่ แต่ถูกคณะเจ้าหน้าที่จับกุมเสียก่อน คณะเจ้าหน้าที่จึงร่วมกันวางแผน และติดตามจับกุมผู้ที่หลบหนีมาดำเนินคดีตามกฎหมาย ผลเป็นประการใดจะนำเรียนให้ทราบต่อไป" นายประวัติศาสตร์ กล่าว
และได้กล่าวต่อถึงประโยชน์ของระบบ NCAPS ว่า

“อุทยานแห่งชาติทับลานคืออุทยานแห่งแรกที่นำระบบนี้มาใช้ NCAPS ย่อมาจาก Network Centric Anti Poaching System ระบบนี้ประกอบไปด้วยกล้องที่เราติดตั้งไว้ในป่า ในพื้นที่ที่ยากต่อการมองเห็น เช่น จุดขึ้นลงเนินเขา ซึ่งกล้องจะจับภาพคนและสัตว์ป่า โดยใช้เลเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว ไม่มีแสงและเสียง แล้วส่งภาพกลับมายังอีเมล เป็นระบบ Network คล้ายกับกล้อง CCTV โดยเมื่อภาพถูกส่งมายังอีเมลเรียบร้อยแล้ว แอดมินหรือผู้ควบคุมระบบจะทำการส่งภาพผ่านแอพพลิเคชั่น LINE กลุ่ม เพื่อร่วมกันประชุมวิเคราะห์พฤติกรรมคุกคามนั้นๆ เป็นการต่อต้านการกระทำผิด ลดการสูญเสียทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และเป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนให้เกิดความเกรงกลัวและไม่กล้ากระทำผิด เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เพราะมันคือการจับก่อนตัด เป็นการปกป้องป่าทับลานอย่างยั่งยืน”

ระบบ NCAPS นอกจากจะช่วยปกป้องป่าอย่างยั่งยืนแล้ว ยังช่วยลดการสูญเสียหรือการบาดเจ็บจากการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่กับคนร้ายได้อีกด้วย เพราะเมื่อผู้บุกรุกเข้าไปในป่า พบเจอกล้อง NCAPS ต่อให้ทำลายหรือเผากล้องทิ้ง แต่ระบบก็ได้จับภาพและส่งภาพผู้บุกรุกมายังอีเมลของเจ้าหน้าที่เรียบร้อยแล้ว สามารถตามจับกุมดำเนินคดีได้แน่นอน ถือเป็นเครื่องมือที่สร้างความได้เปรียบให้เจ้าหน้าที่ ตรวจจับภาพกลางคืนหรือ Night Vision ก็ได้ อาจไม่คุ้มหากให้เจ้าหน้าที่เข้าปะทะตอนกลางคืนในทันทีทันใด แต่กล้อง NCAPS จะช่วยวิเคราะห์ได้ว่า ผู้บุกรุกมีอาวุธมากน้อยเพียงใด และน่าจะเดินทางไปยังเส้นทางใด

เมื่อเจ้าหน้าที่ประเมินสถานการณ์ได้ถูกต้อง ก็สามารถวางแผนได้อย่างรัดกุม นอกจากคุณสมบัติที่ยอดเยี่ยมของกล้องแล้ว ระบบ NCAPS ยังต้องประกอบไปด้วยความพร้อมของเจ้าหน้าที่ทุกระดับชั้น ทั้งหัวหน้าผู้บังคับบัญชาที่ต้องกล้าตัดสินใจ จนถึงลูกน้องที่ต้องพร้อมปฏิบัติงานด้วยความทุ่มเท มีจิตใจที่เข้มแข็ง มีทักษะในการสะกดรอยและป้องกันตัว รวมไปถึงต้องมีแผนที่ดี นั่นคือ ต้องเป็นแผนที่ชัดเจน รัดกุมและลดการสูญเสียทุกเรื่อง รวมไปถึงอุปกรณ์อื่นๆที่จำเป็น เช่น GPS ที่จะช่วยสั่งงานไปยังเจ้าหน้าที่ลาดตะเวนกลางป่าให้เข้ามาเป็นกองกำลังสมทบอย่างทันท่วงที ซึ่งถือได้ว่าระบบ NCAPS จะต่อยอดการลาดตะเวนเชิงคุณภาพ หรือ Smart Patrol ได้เป็นอย่างดี

"ระบบ NCAPS ทำให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าของอุทยานแห่งชาติทับลาน สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้หลายครั้ง เช่น เมื่อปลายปี 2559 ก็สามารถจับกุมกลุ่มที่ลักลอบตัดไม้พะยูงได้ และเมื่อต้นปี 2560 จากการจับภาพของกล้อง NCAPS ทำให้ติดตามจับกุมกลุ่มชาวกัมพูชาที่หลบหนีอยู่ในป่าท้ายบ้านลำเพียก ต.ลำเพียก อ.ครบุรี จ.นครราชสีมาที่บุกรุกป่าได้เพิ่มอีก 7 คน และตรวจยึดไม้พะยูงแปรรูปได้เพิ่มอีกจำนวน 2 แผ่น

การติดกล้อง NCAPS ไว้ในป่า เจ้าหน้าที่ไม่กลัวที่คนร้ายจะรู้ว่าเรามีการติดตั้งกล้องไว้ เพราะเราอยากให้เกิดความยำเกรงไม่กล้าทำผิด หรืออย่างน้อยเจ้าหน้าที่สามารถเข้าจับกุมได้ทันเวลาก่อนที่จะตัดไม้ ถึงแม้จะไม่มีของกลาง โทษที่ได้รับจะน้อย แต่แบบนี้คุ้มกว่า ได้ปกป้องป่าจากการถูกทำลาย ปกป้องคนร้ายจากคุก ถึงแม้เขาจะทำผิด แต่ถ้าถูกจับ ญาติพี่น้องของผู้กระทำผิดก็จะบ่มเพาะความรู้สึกเกลียดชังเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ดังนั้นการจับก่อนตัด จึงให้ผลดีในระยะยาว ลดการสูญเสียทุกรูปแบบ แม้ตอนนี้จะยังป้องกันได้ไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์เนื่องจากป่าทับลานยังมีไม้พะยูงอยู่เยอะมาก ซึ่งล่อตาล่อใจให้กระทำผิด ไม้พะยูงเป็นไม้ที่มีราคาสูงมาก แต่จริงๆมันคือ ไม้แห่งความตาย ก่อให้เกิดการแย่งชิง หักหลังเข่นฆ่า ก็หวังว่ากล้อง NCAPS จะช่วยเปลี่ยนใจคนที่คิดจะกระทำผิดได้บ้าง รวมไปถึงช่วยปกป้องชีวิตสัตว์ป่า ลดการปะทะระหว่างสัตว์ป่ากับชาวบ้าน เช่น นำมาใช้เผ้าระวังช้างป่าออกนอกพื้นที่ สามารถสกัดช้างป่าและต้อนกลับเข้าป่าได้อย่างปลอดภัย" นายประวัติศาสตร์กล่าว