ต่างวิถีที่ ‘แม่ฮ่องสอน’

ต่างวิถีที่ ‘แม่ฮ่องสอน’

พาร่างไปพัก พาใจไปหลงรักวิถีชุมชนในโอบล้อมของธรรมชาติและวัฒนธรรมอันงดงาม

เสน่ห์ของเมืองสามหมอกแห่งนี้ ไม่ได้มีเพียงหมอกขาวที่ล่องลอยเหนือผิวน้ำและในหุบเขา ทว่า เรื่องราววิถีวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่มีเอกลักษณ์คือความงดงามที่หลายคนอยากมาสัมผัส และในจำนวนแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่ต้องห้ามพลาดของจังหวัดแม่ฮ๋องสอน แน่นอนว่าต้องมีชุมชนเหล่านี้อยู่ในลิสต์

  • เทใจให้ ‘จ่าโบ่’

เอ่ยถึงการท่องเที่ยวชุมชนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน บ้านจ่าโบ่ จัดอยู่ในลำดับต้นๆ ของบ้านดอยวิวหลักล้านที่โด่งดังในโลกโซเชียลด้วยภาพร้านก๋วยเตี๋ยวห้อยขา ที่นักท่องเที่ยวสามารถนั่งคีบเส้นเข้าปากเหนือทะเลหมอกได้อย่างสบายอารมณ์ แต่ถ้าถามถึงความน่าสนใจของหมู่บ้านแห่งนี้แล้ว ขอบอกว่าคือการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และรูปแบบการท่องเที่ยวก็มีให้เลือกหลากหลาย ไม่ใช่แค่แวะกินแล้วจากไป ถ้าจะให้ถึงแก่นต้องพักค้างคืนในโฮมสเตย์ สัมผัสวิถีชีวิตชาวลาหู่แท้ๆ ด้วยตัวเอง

27913147_1673961182662687_1963849769075849529_o

หมู่บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ความสูงประมาณ 900 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล โอบล้อมด้วยเทือกเขาหินปูน ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ที่ยังคงรักษาวิถีวัฒนธรรมของตัวเองไว้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแต่งกายที่ใช้สีดำเป็นหลัก หรือภาษาที่ใครไปใครมาก็ยังได้ยินคำว่า “อะบูดายา”

27748053_1673961032662702_6054891654331683958_o

และหากนักท่องเที่ยวต้องการพักค้างแรมในโฮมสเตย์แนะนำให้จองล่วงหน้ากับ กลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยชุมชนบ้านจ่าโบ่ (ศรชัย 08 0677 5794) โดยทางกลุ่มจะจัดให้นอนในบ้านของชาวบ้าน ซึ่งทุกหลังเป็นบ้านไม้ ไม่มีไฟฟ้า ใช้น้ำประปาภูเขา ได้บรรยากาศธรรมชาติสุดๆ ตื่นเช้าก็รับประทานอาหารซึ่งเจ้าของบ้านจัดเตรียมไว้ให้ อิ่มท้องแล้วถ้าสนใจแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่นี่มีจุดชมวิวที่มองเห็นเทือกดอยเรียงรายในมุมมองพาโนรามา หรือจะไปเข้าถ้ำก็มีให้เลือกหลากหลาย ทั้งถ้ำตอก๊อ ถ้ำบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ และถ้ำผีแมน แหล่งประวัติศาสตร์สำคัญที่มีโลงไม้อายุนับพันปีอยู่ในนั้น อยู่ห่างจากชุมชนไปประมาณ 1 กิโลเมตร ต้องเดินเท้าและปีนป่ายอีกนิดหน่อย แต่ถือว่าคุ้มเหนื่อยเพราะนอกจากความมหัศจรรย์ของโลงไม้แล้ว ภายในถ้ำยังมีหินงอกหินง้อยที่สวยงามอีกด้วย

27912789_1673961235996015_142971342290716254_o

สำหรับแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของชาวลาหู่ก็มีโรงทอผ้า ลานเต้นจะคึ โรงตีเหล็ก ไร่หมุนเวียน โรงตำข้าว ซึ่งหากเดินทางมาในช่วงที่มีประเพณีพิธีกรรมก็จะได้ร่วมกิจกรรมกับชาวบ้านด้วย เช่น ประเพณีกินวอปีใหม่ พิธีกินข้าวใหม่ รวมถึงเรียนรู้วิถีชีวิตการเกษตร อาทิ การเตรียมไร่ข้าว ไร่ข้าวโพด ถางหญ้า ปลูกถั่วแดง การเก็บเกี่ยวเพื่อนำมาบริโภค หรือจะทดลองทอผ้า จักสานก็ได้เช่นกัน

27629240_1673961019329370_3364139481952910698_o

ชุมชนบ้านจ่าโบ่ ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ต.ปางมะผ้า อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ไม่ไกลจากแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมอย่างปาย ถ้าขับรถมาเองใช้เส้นทางปาย-แม่ฮ่องสอน (1095) ถึงอำเภอปางมะผ้า ขับตรงไปอีก 12 กิโลเมตร เจอแยกบ้านแม่ละนา เลี้ยวเข้าไปประมาณ 4 กิโลเมตร ถ้าไม่มีรถส่วนตัว สามารถใช้บริการรถตู้ปาย -แม่ฮ่องสอน หรือรถโดยสารประจำทางมาลงปากทางเข้าแล้วนัดแนะกับรถในหมู่บ้านให้มารับ นับเป็นทางเดินทางที่ไม่ยากลำบากแต่ได้อารมณ์สโลว์ไลฟ์สุดๆ

  • รัก ‘ปอนๆ’

 หากจะพูดถึงเมืองใดเมืองหนึ่งที่เต็มเปี่ยมด้วยวิถีชีวิตพื้นถิ่นแสนเรียบง่าย สอดรับกับการทำเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม แถมยังมีประวัติศาสตร์ความเป็นมานับร้อยปี เมืองปอน คงเป็นคำตอบของคุณสมบัติที่พรรณนามา

27912562_1673961532662652_8598666298078057814_o

 แต่ดั้งเดิม เมืองปอน เป็นชุมชนชาวไต หรือ ไทใหญ่ ที่วางรกรากในพื้นที่อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน มาไม่น้อยกว่า 200 ปี ชาวไตที่นี่ยังดำรงวิถีชีวิตเรียบง่ายไว้แทบไม่แตกต่างจากอดีต แม้ปัจจุบันความทันสมัยจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งบ้าง ทว่าความเข้มข้นในอัตลักษณ์ซึ่งมีศิลปะและวัฒนธรรมเป็นรากฐานก็ยังคงอยู่ บวกกับวิถีเกษตรกรรมแบบพอเพียง กลายเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดให้มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลมามากมายในทุกปีๆ ย้อนกลับไป อดีตเมืองเล็กๆ แห่งนี้เป็นเมืองการค้าการขาย ด้วยเหตุผลว่าเป็นทางผ่านไปยังอำเภอใหญ่ๆ และจังหวัดต่างๆ เช่น อำเภอแม่สะเรียง และจังหวัดเชียงใหม่ ไปจนถึงข้ามไปฝั่งเมียนมา อดีตอันมั่งคั่งทำให้บรรยากาศการค้าค่อนข้างคึกคัก เศรษฐกิจที่นี่จึงดีอย่างไม่ต้องสงสัย โดยหลักๆ จะค้าขายผ่านมาทางลำน้ำปอน สินค้าก็มีตั้งแต่ผ้า เกลือ น้ำมันงา ไปจนถึงอาหารทะเล

 ทั้งทรงเสน่ห์อย่างหาที่เปรียบไม่ได้ ทั้งเต็มไปด้วยอัตลักษณ์งดงาม ที่สำคัญยังรักษาแก่นแกนของตัวตนไว้ครบถ้วนทั้งศิลปวัฒนธรรมและประเพณี ตลอดจนวิถีชีวิตแบบชาวไทใหญ่ไว้ได้ไม่ขาดตกบกพร่อง ทุกองค์ประกอบจึงเป็นเหตุผลที่เมืองนี้คือจุดหมายของนักท่องเที่ยวผู้หลงใหลความง่ายงามแบบฉบับโฮมสเตย์ ซึ่งเดินทางมาได้ไม่ยากเกินไป หากมาจากกรุงเทพฯ แนะนำเส้นทางอำเภอเถิน ผ่านอำเภอลี้ อำเภอฮอด อุทยานแห่งชาติออบหลวง แล้วมุ่งหน้าสู่อำเภอแม่สะเรียง ตรงไปยังอำเภอแม่ลาน้อย เลยไปหน่อยคือขุนยวม ส่วนบ้านเมืองปอน ตั้งอยู่ในอำเภอขุนยวม อยู่บนทางหลวงหมายเลข 108 ถ้าไปจากแม่ลาน้อยจะถึงก่อนอำเภอขุนยวมไม่เกิน 10 กิโลเมตร

27857793_1673961425995996_7448241139744649138_n

 ส่วนสิ่งที่ทำให้นักท่องเที่ยวต้องหลงรักคือสารพัดกิจกรรมทั้งสนุกและมีความหมาย เช่น ชมการทำหมวกกุ๊บไต ที่ปัจจุบันเหลือปราชญ์ชาวบ้านที่ทำได้เพียงไม่กี่คน, การปักลายเสื้อแบบไทใหญ่ ซึ่งสมัยก่อนจะปักลายดอกไม้ตามเดือนที่ดอกไม้บาน, การทำ ‘ต้องลาย’ หรือการฉลุลายบนแผ่นโลหะ กระดาษ เพื่อในไปใช้ประดับอาคาร สถานที่ หรือในพิธีต่างๆ หรือการทำ ‘ตุงนางผาน’ ส่วนประกอบหนึ่งของ ‘ตำข่อน’ เครื่องบวงสรวงดวงวิญญาณผู้ล่วงลับ ซึ่งเชื่อว่าใครทำได้ถือว่าจะได้บุญสูงสุด

 เมื่อพูดถึงประเพณีคู่จังหวัดแม่ฮ่องสอน คงหนีไม่พ้นการบวชลูกแก้ว หรือการบวชเณรนั่นเอง ซึ่งประเพณีนี้มาพร้อมกับวัฒนธรรมอาหารการกินที่น่าสนใจ เช่น การทำข้าวตอกปั้น ข้าวปองตอก ที่เป็นอาหารมงคลใช้ในงานพิธีที่ว่านี้ด้วย แน่นอนว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารบ้านเมืองปอน ได้นำอาหารพื้นถิ่นจากพิธีกรรมมาทำเป็นผลิตภัณฑ์จำหน่าย และพัฒนาต่อยอดจนเกิดเป็นสินค้าหลากหลายกว่า 20 ชนิดแล้ว

 นอกจากวิถีชีวิตและกิจกรรมต่างๆ สิ่งที่สะท้อนความเป็นเมืองปอนได้อย่างหมดจด งดงาม เสมือนศูนย์กลางทั้งชีวิต ศรัทธา และวัฒนธรรม คือวัดเมืองปอนที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบไทใหญ่ ทั้งวิหาร, กุฏิ และศาลาการเปรียญรวมหลังเดียวกันเป็นหลังคาไม้หลังคาซ้อนแบบยกคอสองชั้น และมีชายคาสามตอนหรือที่เรียกว่า สองคอสามชาย

เฉพาะวิหารมีหลังคาผสมระหว่างหลังคาซ้อนแบบยอดปราสาทประดับตกแต่งด้วยไม้หรือโลหะฉลุลาย ในศาลาการเปรียญมีองค์ประกอบ 3 ส่วนหลัก ได้แก่ หอพระ หรือจองพระ กุฏิ หรือจองสละ เฉลียง หรือจองตาน หรือจองอะเมีย เป็นที่ต้อนรับพระสงฆ์

 อีกแห่งที่รวบรวมผู้คนไว้เนืองแน่น คือ ตลาดเช้า ซึ่งจะคึกคักตั้งแต่ตีสี่จนถึงฟ้าสางก่อนหกโมงเช้า ที่นี่ชาวบ้านจะมาขายและซื้อของที่ตลาดโดยไม่มีวันหยุด สำหรับอาหารสดส่วนมากเป็นผลผลิตในชุมชน เช่น พืชผักต่างๆ เนื้อหมู เนื้อไก่ อาหารปรุงสุก ทั้งคาวและหวาน ส่วนมากเป็นอาหารของชาวไทใหญ่

27629449_1673961519329320_855658592191325390_o

ถามไถ่ถึงความหมายในชื่อเมืองปอน ‘ปอน’ มาจากคำว่า พร ที่แปลว่า สิริมงคล แต่บางความเชื่อก็ว่า ‘ปอน’ หมายถึง พญา หรือเมืองใหญ่ แต่ไม่ว่าจะความหมายใด เมืองปอนคือความหมายของความสุข สงบ น่ารัก ไม่ทิ้งราก และเปี่ยมด้วยเสน่ห์ เป็นอีกเมืองที่การันตีความเป็นเมืองที่ทำให้อบอุ่นใจแม้อยู่ใต้มวลหมอกและไอหนาว

  • รักเธอ ‘รักไทย’

คงเพราะชื่อเมืองสามหมอก ใครต่อใครที่ฝันจะไปแม่ฮ่องสอนสักครั้ง จึงมักมีหมุดหมายอยู่ที่อ่างเก็บน้ำกลางหุบเขาอย่าง ‘ปางอุ๋ง’ แต่หากปรับพิกัดเลยเข้าไปบนถนนเส้นเดียวกันอีกไม่ไกล อีกหนึ่งหมู่บ้านที่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่สวยงามไม่แพ้กัน ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลหมอกจำแป่ ชื่อว่า บ้านรักไทย

27709410_1673961612662644_6109853439327776150_o

หมู่บ้านแห่งนี้เดิมชื่อ ‘บ้านแม่ออ’ เป็นหมู่บ้านสุดท้ายก่อนถึงชายแดนไทย-เมียนมา ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวจีนยูนนาน หรือจีนฮ่อ ที่อพยพหนีภัยมาจากทางตอนใต้ของจีนในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ และบางส่วนเป็นชาวไทใหญ่ที่อาศัยมาหลายชั่วอายุคน ทำให้ที่นี่มีเอกลักษณ์และความกลมกลืนทางวัฒนธรรม ทั้งบ้านเรือน เครื่องแต่งกาย อาหารการกิน และภาษา

เมื่อเข้ามาถึงหมู่บ้าน ภาพที่หลายคนจะต้องร้องว้าว! ก็คือ ผืนน้ำกว้างเรียบนิ่งของอ่างเก็บน้ำสะท้อนเงาหมู่บ้านที่อยู่รายรอบยามต้องแสงอาทิตย์ อีกมุมหนึ่งที่ต้องตาไม่แพ้กันก็คือไร่ชาไล่ระดับบนเนินเขา ซึ่งการปลูกชาเป็นอาชีพดั้งเดิมของคนที่นี่ แต่ปัจจุบันกลายเป็นแลนด์มาร์คสำหรับการถ่ายภาพและยังเป็นที่ตั้้งของรีสอร์ทชื่อดังที่ถูกแชร์ต่อกันอย่างมากมายในโลกโซเชียล 

27788546_1673961645995974_1516581476896600236_o

การได้นั่งจิบชาอู่หลงรสเลิศ ชิมขาหมูหมั่นโถวอาหารขึ้นชื่อ นั่งชมละอองหมอกระเรี่ยผืนน้ำยามเช้า คือความสุขที่คุ้มค่ากับการเดินทางจริงๆ และสถานที่แห่งนี้ก็เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่ต้องการผ่อนคลายท่ามกลางความเป็นธรรมชาติ ไม่วุ่นวายเกินไป แต่ก็ไม่เงียบเหงา เพราะถือเป็นหนึ่งในชุมชนท่องเที่ยวของจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาไม่ได้ขาด

ยิ่งถ้าเป็นคนชอบสีสันทางวัฒนธรรม ความที่หมู่บ้านนี้มีคนจีนยูนนานอาศัยเป็นส่วนมาก บ้านเรือนร้านค้าจำนวนหนึ่งจึงสร้างจากดินเหนียวผสมฟางข้าว ทาสีเหลืองอมน้ำตาล มีการประดับโคมสีแดง และตกแต่งด้วยลวดลายแบบจีน สวยงามแปลกตา เช่นเดียวกับภาษาและอาหารหน้าตาแปลกๆ ที่สะท้อนถึงความเป็นมาของคนที่นี่ ส่วนชาวบ้านถ้าไม่ได้อยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการก็ยังคงใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายและมีรอยยิ้มให้เสมอ สำหรับของฝาก นอกจากชาชั้นดีที่มีให้เลือกหลากหลายแล้ว ยังมีสินค้าจากพม่าอย่างอัญมณี ไม้แกะสลัก เครื่องประดับจากเงิน ฯลฯ

27797697_1673961599329312_4390143229001306905_o

การเดินทางก็ไม่ยาก บ้านรักไทยอยู่ห่างจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอนประมาณ 44 กิโลเมตร ถ้าใช้รถส่วนตัว แนะนำเส้นทางแม่ฮ่องสอน - ปาย (1095) ออกจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอนไปประมาณ 15 กม. หรือกลับกันถ้ามาจากเชียงใหม่ก็คือเส้นทางเชียงใหม่-ปาย-แม่ฮ่องสอน ก่อนถึงตัวเมืองประมาณ 15 กม. จะมีทางแยกซ้ายมือมีป้ายบ้านหมอกจำแป่และป้ายบอกทางไปภูโคลนให้เลี้ยวซ้ายเข้าไป 

27788763_1673961675995971_3374219065762219190_o

ระยะทางจากปากทาง - บ้านรักไทยประมาณ 29 กม. เมื่อเลี้ยวซ้ายเข้าไปแล้วก็ตรงไปเรื่อยๆ ผ่านภูโคลน น้ำตกผาเสื่อ พระตำหนักปางตอง บางช่วงจะเป็นทางขึ้นเขาค่อนข้างชันมีโค้งหักศอกพอสมควร ใครที่ยังไม่ชินทางต้องเพิ่มความระมัดระวัง เส้นทางนี้จะเลยบ้านรวมไทยหรือปางอุ๋งไปประมาณ 7 กม. ถ้าใช้บริการรถประจำทางจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ต้องไปขึ้นรถสองแถวสายแม่ฮ่องสอน - บ้านรักไทย (แม่ออ) บริเวณหลังตลาดสายหยุด ใช้เวลาเดินทางประมาณหนึ่งชั่วโมง

และแม้จะห่างจากตัวเมืองไม่มาก แต่ทันที่ไปถึง...ความสงบงามที่ตามหาจะทำให้รู้สึกราวกับว่า นี่คือดินแดนในฝัน(ที่เป็นจริง)