'กสทช.' เตรียมให้ 86 ผู้สมัครแสดงวิสัยทัศน์ 5 นาทีชี้ชะตา

'กสทช.' เตรียมให้ 86 ผู้สมัครแสดงวิสัยทัศน์ 5 นาทีชี้ชะตา

กสทช.เตรียมให้ผู้สมัคร 86 คน แสดงวิสัยทัศน์ 19-21 ก.พ.นี้ เพื่อให้กระบวนการสรรหาเดินหน้าต่อไม่สะดุด เหตุหากคัดออกก่อน ผู้ที่ตกเกณฑ์คุณสมบัติอาจยื่นฟ้องศาลปกครอง

เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 61 จากกระแสข่าวเรื่อง กระบวนการสรรหา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.เตรียมให้ผู้สมัคร ทั้ง 86 คนที่ยื่นใบสมัคร ได้ผ่านเข้าไปแสดงวิสัยทัศน์ระหว่างวันที่ 19-21 ก.พ.นี้ เพื่อให้กระบวนการสรรหาเดินหน้าต่อไม่สะดุด เพราะหากมีการคัดผู้สมัครคนใดออกก่อน ผู้ที่ตกเกณฑ์คุณสมบัติอาจยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้ เพราะตาม พ.ร.บ.กสทช. มาตรา 15 วรรค 4 ระบุว่า ในกรณีที่มีการฟ้องคดีเกี่ยวกับการสรรหากรรมการต่อศาลปกครอง การฟ้องคดีดังกล่าว ไม่เป็นเหตุให้ระงับหรือชะลอการดำเนินการใดๆ เว้นแต่ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ต่อประเด็นดังกล่าวนี้ ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า บอร์ด กสทช.ชุดใหม่ ผู้ที่เป็นตัวเต็งและสัดส่วน ยังคงเป็นผู้สมัครที่มาจากกองทัพ โดยเฉพาะในยุค คสช.ที่มองมิติ “ความมั่นคง” เป็นด้านหลัก ปัญหาก็คือ กรอบคิดภายใต้มิติข้างต้นอาจจะทำให้ ภาพลักษณ์ของกองทัพ คสช. และรัฐบาลตกต่ำลงไป โดยเฉพาะภายใต้กระแสปัจจุบัน อันจะเป็นการสะสมเงื่อนไขความไม่พอใจของประชาชนมากขึ้นไปอีก

สำหรับบทบาทของกสทช. ที่ต้องมีภารกิจใน “ภูมิทัศน์สื่อใหม่” ระบบคิดเน้น “ความมั่นคง” หากคิดระบบ “ราชการ” เป็นหลัก จะนำพาประเทศล้าหลังในเวทีประชาคมโลก ซึ่งบทเรียนการเปิดประมูลคลื่นทีวีดิจิตอลเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนกล่าวคือจำนวนเงินที่ได้จากการประมูลและประมาณว่าจะเป็นรายได้เข้าประเทศนั้น สุดท้ายแล้วคือความล้มเหลว เมื่อผู้รับสัมปทานทยอยคืนคลื่น เหตุเพราะผลประกอบการไม่เป็นไปตามแผน

นอกจากนี้กระแสเรื่อง คุณสมบัติของกรรมการ กสทช. ต้องเป็นบุคคลที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 70 ปีบริบูรณ์ มีวาระดำรงตำแหน่ง 6 ปี ปรากฏชื่อผู้สมัครที่มาจากกองทัพ อาทิ พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร อายุ 66 ปี หรือ พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ อดีต สปท. อายุ 64 ปี ซึ่งหากได้รับการคัดเลือกจะสามารถทำงานได้ไม่ครบวาระ หากมีการสรรหาใหม่อาจต้องใช้งบประมาณของแผ่นดิน หรือหากไม่ต้องสรรหา ให้บอร์ดเท่าที่มีอยู่ทำงานต่อไปอาจกลายเป็นการเสียโอกาสของประเทศ ที่ควรจะมีบุคคลากรทำงานครบองค์ประกอบและเต็มกำลังความสามารถ

ข้อวิจารณ์สุดท้ายกับความพยายามสร้างกระแสภาพของผู้สมัครจากกองทัพหลายคนว่า โยงกับขั้วอำนาจของรัฐบาล หรือ คสช. ยิ่งจะเป็นการสร้างความเสื่อมให้กับภาพลักษณ์ของรัฐบาลและคสช. กรณีนี้มีตัวอย่าง การวิจารณ์ความเป็นตัวเต็งของ พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่มีบทบาทสำคัญใน สปท. และ สปช. หลายเรื่อง โดยเฉพาะ บทบาทในฐานะประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน ซึ่งผลักดันเรื่องการตีทะเบียนสื่อ และลงสมัครเป็นบอร์ด กสทช.ด้านกิจการกระจายเสียงในคราวนี้ด้วยนั้น หากเช็คข้อมูลในทางลึกแล้ว การสรรหาบอร์ด กสทช. พล.อ.อ.คณิต ไม่ได้มีความยึดโยงหรือได้รับไฟเขียวจากรัฐบาล หรือ คสช.แต่อย่างใด

อนาคตของประเทศในเรื่องความสามารถในการแข่งขันของสื่อยุคดิจิตอล ภาพลักษณ์ของรัฐบาลที่จะไม่ติดลบหนักลงไปอีกนั้น จึงเป็นภาระและบทบาทของคณะกรรมการสรรหา และ สนช. ที่จะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกบอร์ด กสทช.ชุดใหม่