รวยแล้ว...ล่า?

รวยแล้ว...ล่า?

เมื่อการล่าสัตว์ถูกมองเป็นความบันเทิงของคนรวย รสนิยมห่วยๆ แบบนี้มีที่มาอย่างไร

2-3 วันที่ผ่านมา ใครๆ ก็พูดถึงเรื่องการล่าสัตว์ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

ภาพเสือดำถูกแชร์นับร้อยนับพันครั้ง เช่นเดียวกับภาพซากสัตว์ ภาพนักบริหารผู้ก่อการ พรานนำทาง และคำแก้ตัวข้างๆ คูๆ ที่ตามมาด้วยเสียงก่นด่า

นักธุรกิจซึ่งคลุกคลีกับกิจกรรม Outdoor ยืนยันว่า เสื้อที่ผู้ต้องหาใส่ในวันถูกจับกุมพร้อมซากสัตว์ เป็นเสื้อ shooting jacket สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการยิงปืนยาวอย่างชัดเจน สังเกตจากการออกแบบซึ่งมีแผ่นสักหลาดบนบ่ารองพานท้ายปืนไม่ให้ลื่น เหมาะสำหรับการใช้ปืนยาวอย่างปืนไรเฟิลที่ต้องใช้ลำแขนช่วยสร้างความสมดุลในท่ายิง ต่างจากยิงปืนสั้นที่ใช้เพียงข้อมือ

ดูจากหลักฐานและเสื้อผ้า เขาจึงฟันธงไม่ยากว่า ผู้ใส่มีไลฟ์สไตล์ชอบเข้าป่าล่าสัตว์อย่างแน่นอน และกิจกรรมที่ว่านี้ในหมู่มหาเศรษฐียุโรปฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะในสหราชอาณาจักรบางกลุ่มมองว่าเป็นเกมกีฬา การสันทนาการ ไม่ต่างจากการตีกอล์ฟ ขี่ม้าโปโล เล่นไพ่บริดจ์

การล่า เรื่องล้าสมัย

ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว Pipad Krajaejun เรื่อง “ว่าด้วยวัฒนธรรมการล่าสัตว์” ตอนหนึ่งว่า ตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ หน้าที่ล่าสัตว์มักตกเป็นของผู้ชาย ซึ่งด้านหนึ่งก็ทำเพื่อปากท้อง แต่อีกด้านหนึ่งก็เพื่อแสดงความเป็นชาย และยังแสดงถึงภาวะของการเปลี่ยนผ่านจากเด็กไปสู่การเป็นผู้ใหญ่

แนวคิดการสะสมเขาสัตว์ หัวสัตว์ และชิ้นส่วนของสัตว์ ยังแสดงรสนิยมความหรูหรา การเป็นผู้ดีมีเงิน และแสดงความเป็นชาย (แบบผู้ดีอังกฤษและยุโรปโดยทั่วไป) ทำให้การล่าสัตว์เป็นไปเพื่อความบันเทิงหรือเพื่อแสดงความเป็นชาย

ขณะที่ในสังคมตะวันออก การล่าสัตว์มักล่าสัตว์แปลกๆ ที่ไม่นิยมกิน หรืออาจนิยม โดยเอาบางชิ้นส่วนมาเป็นยา หรือเครื่องลาง แนวคิดเช่นนี้มีจีนเป็นผู้นำ ทำให้คนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รับความคิดนี้ไปด้วย สังเกตว่าชิ้นส่วนของสัตว์พวกนี้บ้างเอามาทำยา ส่วนใหญ่เป็นยาโด้ปให้ผู้ชาย แสดงว่าการล่าสัตว์แบบนี้หรือเอามาทำยาก็คือเน้นเพื่อผู้ชายเป็นหลัก

ส่วนภาพยนตร์สารคดีที่ชื่อ Safari (2016) อุลริค ไซเดิล (Ulrich Seidls) ผู้กำกับชาวออสเตรเลีย วางพล็อตเรื่องด้วยการตามกลุ่มนักท่องเที่ยวผู้ร่ำรวยไปทัวร์ล่าสัตว์ในแอฟฟริกา หนังเล่าเรื่องแบบนักสังเกตการณ์ โดยยังไม่ได้แบ่งฝักฝ่ายว่าใครคือตัวดีหรือตัวร้ายอย่างสิ้นเชิง หากสิ่งหนึ่งที่เป็นเหตุผลที่ทำให้กิจกรรมนี้ยังอยู่นั่นก็คือ มันเป็นธุรกิจซึ่งสามารถทำเงินให้แก่ชาวแอฟริกันท้องถิ่นได้มหาศาลยิ่งกว่าธุรกิจท่องเที่ยวธรรมดาหลายเท่า

สารคดี The Ivory Game ที่มีลีโอนาร์โด ดิคาร์ปิโอ เป็นหนึ่งในทีมโปรดิวเซอร์ ซึ่งฉายอยู่ใน Netflix ขณะนี้ให้มุมมองอีกด้าน พวกเขาตีแผ่การสังหารช้างป่าว่าได้รับการสรรเสริญจากบรรดากลุ่มนักล่าสัตว์ทั่วโลก นั่นเพราะเชื่อว่า ช้างที่ถูกฆ่าตายน่าจะเป็นช้างตัวที่ใหญ่ที่สุดที่ถูกล่าได้ในแอฟริกา ในรอบกว่า 30 ปี

ในกลุ่มคน'บางพวก'งาช้างมีค่ามหาศาล สำหรับนักสะสม งาช้างเป็นของประดับตกแต่งที่มีรสนิยม การแปรรูปงาช้างเป็นเครื่องประดับและของตกแต่งบ้านเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ข้ามชาติ เป็นห่วงโซ่อาชีพที่คนหลายคนร่วมอยู่ในกระบวนการโดยที่พวกเขาอาจไม่คาดคิดว่าของประดับหรือตะเกียบเล็กๆ ที่ทำจากงาช้างล้วนมีเบื้องหลังอันเจ็บปวดของชีวิตซุกซ่อนอยู่

‘ล่า’ รสนิยมประดิษฐ์

ถ้าดูภาพยนตร์ซีรีส์ว่าด้วยราชวงศ์ยุโรปเราก็น่าจะพอเข้าใจถึงวัฒนธรรมการล่าซึ่งแสดงถึงความเป็นชาย ความเป็นผู้นำทัพ เช่นเดียวกับบางฉากในสารคดีที่แสดงถึงความหิวโหยของฤดูหนาว เมื่ออาหารสดไม่มีเหลือ พืชพรรณล้มตาย วัวควายต้องเก็บไว้เพื่อการงาน ผู้นำครอบครัวจึงต้องออกไปล่ากระต่าย หรือสัตว์ที่ใหญ่กว่าเพื่อประทังชีวิต

หากในยุคโลกสมัยใหม่ที่กระแสโลกร้อน (Global warming) เป็นเรื่องที่ใครๆ รู้จักดี มีปศุสัตว์เป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญของอุตสาหกรรมอาหาร ไม่ว่าจะจบการศึกษาระดับไหนก็รู้ว่าการล่าสัตว์ในเขตอุทยานหรือทำร้ายสัตว์สงวนเป็นเรื่องต้องห้ามเด็ดขาด…ถึงเช่นนั้นแรงขับเคลื่อนที่ทำให้คนๆ หนึ่งแพ็คกระเป๋า พกปืนราคาแพง จ้างพรานท้องที่เดินทางเข้าป่าลึกคืออะไร

เสาวคนธ์ ศิรกิดา นักจิตวิเคราะห์ และประธานสถาบันคาร์ลจุง ประเทศไทย เชื่อมโยงว่า สิ่งนี้ใกล้เคียงกับคำว่า“รสนิยมประดิษฐ์” ของชนชั้นนำใหม่ ซึ่งรายได้ อาชีพ ถีบตัวให้ตัวเองมีทางเลือกในงานอดิเรกมากขึ้น แบบเดียวกับ การเล่นรถคลาสสิค เล่นพระ สะสมงานศิลปะ กระทั่งเลือกที่ดินสวยๆ ซึ่งคงความเป็นธรรมชาติให้มากที่สุด

 “รสนิยมเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นหลังจากฐานะทางสังคม ฐานะทางการเงินที่ดีขึ้น ซึ่งถ้าเป็นรสนิยมที่ไม่เบียดเบียนใครอย่างสะสมรถ สะสมงานศิลปะ ก็ไม่มีอะไร แล้วคนทั่วๆ ไปก็ทำกัน แต่ถ้าเป็นรสนิยมที่ผิดกฎหมายคงเป็นเรื่องที่อันตรายและสังคมยอมรับไม่ได้”

“รสนิยมประดิษฐ์” เช่นนี้เป็นความชอบที่ถูกสร้างขึ้นจากภูมิหลังชีวิต เช่น ไลฟ์สไตล์แบบ Wildlife หรือแบบ Adventure ซึ่งต้องการรู้จักธรรมชาติมากขึ้น เติมเต็มชีวิตอันราบเรียบหรือเบื่อหน่ายกับชีวิตเมือง การออกไปในธรรมชาติ ซึ่งให้บรรยากาศต่างจากเมืองเท่าไร ยิ่งให้ความอิสระ ให้ความตื่นเต้นมากกว่า

 “คนที่มีฐานะดี ถ้าไปลอนดอนหลายรอบแล้ว ไปปารีสก็หลายครั้ง เขาก็จะหาประสบการณ์แปลกๆ อย่างไปถ่ายรูปในทุ่งแอฟฟริกา อยากปีนเขาที่สูงๆ ไปในที่ยากๆ เพื่อยกระดับความพอใจไปอีกขั้น”

ส่วนของสะสมที่ยิ่งหายาก เป็น Rare item ซึ่งต้องบุกป่าฝ่าดงไปกว่าจะเอามาได้ การมีไว้ครอบครองนั้นบอกถึงความเป็นชายที่แข็งแรง กระตุ้นความเป็นมาสคิวลีน (Masculine) ของตัวเอง ยิ่งสิ่งที่ต้องการมีความคาบเกี่ยวกับกฎหมายหรือศีลธรรม เป็น 'ผลไม้ต้องห้าม' (forbidden fruit) ที่ใครๆ ก็เข้าไม่ถึงก็ยิ่งน่าสนใจ การครอบครองจะรู้สึกมีอำนาจ ดูเป็นชายมากขึ้น

“จะกี่มากน้อยขึ้นกับระดับมนุษยธรรมของคนนั้น เช่น บางคนอาจจะพึงพอใจกับการได้แค่ตกปลา ยิงกระต่าย หรือสัตว์เล็กๆ แต่สำหรับบางคนเขาพอใจที่จะเชื่อมโยงตัวเองกับสัตว์ที่ใหญ่ เพราะเขามองว่าหายาก และต้องใช้อำนาจเงินหรือบารมีที่จะหามาได้ เช่น บางคนจะชอบหนังเสือ งาช้าง เขากวาง กะโหลกเสือ ตรงนี้อาจไม่ได้หมายถึงว่าต้อง “ล่าเอง” เท่านั้น จะเป็นเพียงการรับซื้อหรือว่าจ้างคนให้หามาก็ได้ เมื่อเขามีไว้ครอบครองแล้วจะรู้สึกว่าตัวเองดูใหญ่ขึ้น”

เสาวคนธ์ นักจิตวิเคราะห์มองว่า ระดับการเติมเต็มความต้องการมีโอกาสพัฒนาได้ เช่นเคยซื้อเคยสะสม เมื่ออิ่มตัวแล้วก็อยากจะออกสนามเพื่อไปหาเอง แต่ทั้งนี้ก็ไม่ใช่ทุกกรณี เป็นเรื่องการตัดสินใจระดับบุคคล ที่จะหยุดความปรารถนาของตัวเองอย่างไร

จิตแพทย์รายหนึ่ง มองเรื่องเดียวกันนี้ว่า ภูมิหลังทางความคิดที่ส่งผลให้คนหนึ่งทำอะไรที่สุดโต่งนั้นเป็นเรื่อง individual (ระดับบุคคล) เอามากๆ เช่น ผู้มีฐานะระดับมหาเศรษฐี ถูกเลี้ยงดูมาเหมือนกัน ชอบการเดินป่า ชอบผจญภัยเหมือนกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่ต้องการจากป่าจะคล้ายๆ กัน ไลฟ์สไตล์เข้าป่าเพื่อ “ล่าสัตว์”จึงสะท้อนมาจากเบื้องลึกระดับปัจเจกจริงๆ เช่น ต้องการการยอมรับว่าเป็นคนแข็งแกร่ง มีประสบการณ์โชกโชน ทั้งที่การเลี้ยงดูตลอดที่ผ่านมาค่อนข้างราบเรียบ ถูกมองว่าเป็นเด็กธรรมดาๆ

อุดรูรั่วขบวนการล่า 

เชื่อไหมว่า การล่าสัตว์ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งเป็นข่าวใหญ่ตลอด 3 วันที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเพราะสังคมอยากจะเห็นคนกระทำผิดถูกดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าคนทำจะร่ำรวยหรือมีอำนาจบารมีเพียงไหน

กรณีทำนองนี้เคยเกิดขึ้นกับบางประเทศมาแล้ว เช่น การเรียกร้องในประเทศซิมบับเว ที่ต้องการตัวนายวอลเตอร์ พัลเมอร์ ทันตแพทย์ชาวอเมริกันมาขึ้นศาล ฐานฆ่าสิงโตเซซิล ขวัญใจนักท่องเที่ยว โดยที่นายพัลเมอร์ก็ยอมรับว่าเขาจ่ายเงินไปหลักล้านเพื่อล่าสิงโต หรือกรณีการตายของช้างป่าตัวใหญ่ซึ่อายุระหว่าง 40-60 ปี ซึ่งถูกพบในเขตอุทยานแห่งชาติ กอนาเรซู (Gonarezhou National Park) โดยที่นักล่าสัตว์รายนี้ก็บอกว่าเขาจ่ายเงินราวๆ 6 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 2.1 ล้านบาท) สำหรับการล่าช้างพลายขนาดใหญ่

 การล่าไม่ได้เกี่ยวกับฐานะทางเศรษฐกิจก็จริง แต่ความรวยและอำนาจก็นำพาให้คนบางกลุ่มมีโอกาสสนองความต้องการอันแปลกประหลาดง่ายขึ้น ​ข่าวการจับกุมในแต่ละครั้งไม่ว่าจะเป็นที่ในประเทศไทยหรือต่างประเทศก็มักจะพบผู้มีอำนาจทั้งเรื่องเงินหรือบารมีอยู่เบื้องหลัง

ท่ามกลางความเห็นอันหลากหลายของสังคม น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน (หมอล็อต) สัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งคลุกคลีกับป่า มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะไม่ได้บั่นทอนผู้ปฏิบัติหน้าที่ แต่กลับยิ่งสร้างความกระตือรือร้นให้เพิ่มขึ้นด้วย และต่อจากนี้เรื่องการรักษาป่าจะอยู่ในความสายตาของผู้คนอื่นๆ ไม่ใช่เฉพาะเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน

 ขณะที่ระบบที่ใช้อยู่ อาทิ การเข้าไปในพื้นที่ต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่ มีชุด Smart Patrol มีระบบติดตาม มีระบบตรวจสอบป้องกัน รวมถึงศักยภาพของหน่วยงานที่ปกป้องคุ้มครองเข้มแข็งมากอยู่แล้ว เช่นเดียวกับตัวกฎหมายว่าด้วยการกระทำผิดในเรื่องนี้มีความความชัดเจน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือหาช่องทางในการเล็ดลอด หลีกเลี่ยง ของผู้กระทำมากกว่า ดังนั้นช่องทางไหนที่จะทำให้มีการหลบเลี่ยงได้ ก็ควรจะอุดรูรั่วตรงนั้น

“อุปกรณ์ราคาไม่ถูกแน่ครับ ต้องมีเงิน มีเส้นสาย ไม่งั้นคุณไปแบบนี้ไม่ได้หรอก อย่าว่าแต่เดินป่า ล่าสัตว์เลย มีกิจกรรม มีของสะสมอีกเยอะที่ผิดกฎหมาย หายาก แต่ก็มีคนอยากได้ ซึ่งถ้ามันมีราคา มีคนพร้อมจ่าย ก็จะมีคนไปหามา” ผู้มีอันจะกินรายหนึ่งเปรยขึ้นมาอย่างคนรู้ทัน

การล่า จับจอง ครอบครอง ก็ยังเป็นความบันเทิงของคนรวยไร้สำนึก สนองรสนิยมที่ยังมีผู้สนองโดยที่ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด