ศักราชใหม่โลกไอที โจทย์ท้าทายธุรกิจยุค4.0

ศักราชใหม่โลกไอที โจทย์ท้าทายธุรกิจยุค4.0

เชื่อหรือไม่ว่าภายในปี 2573 โลกไอทีที่รู้จักทุกวันนี้จะไม่พบเห็นกันอีกต่อไป

สตีเฟ่น ไมล์ ประธานเจ้าหน้าฝ่ายเทคโนโลยี ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิคและญี่ปุ่น ซีเอเทคโนโลยี เปิดประเด็นไว้อย่างน่าสนใจ

เขาคาดการณ์ว่า ปีดังกล่าวสิ่งที่รู้จักว่าเป็นโลกไอทีในทุกวันนี้ จะเปลี่ยนแปลงจนไม่เหลือโฉมหน้าเดิมอีกต่อไป ระบบไอทีในวันข้างหน้าจะกลายเป็น “ลูกผสมระหว่างคนและจักรกล”

โดยรูปแบบของสิ่งแวดล้อมการทำงานระหว่างคนเทคโนโลยีจะมีปรากฏทั้งในธุรกิจปัจจุบันและธุรกิจที่เกิดใหม่ในอนาคต พลิกผันได้ในแบบเรียลไทม์ เพื่อมุ่งสู่ความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ 

"ตัวแปรเหล่านี้จะมีบทบาทในอนาคต เป็นจุดเริ่มต้นของการปูทางเพื่อบรรลุเป้าหมาย พร้อมกดดันให้โครงสร้างบริษัทเอ็นเทอร์ไพรซ์ขนาดใหญ่แบบเก่าได้รับผลกระทบโดยเศรษฐกิจแบบรายเล็กย่อยอิสระจะเริ่มกรุยทางให้เกิดโมเดลใหม่ๆ ที่อาจจะก่อตัวเป็นระบบเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ในระดับชาติก็ได้"

ที่น่าสนใจ เกิด “ซอฟต์แวร์ที่ไม่ได้ใช้โค้ด” โดยแทนที่ด้วยระบบแพลตฟอร์มหรือใช้โค้ดซอฟต์แวร์ในระดับต่ำ โดยการประกอบบล็อกของโค้ดเข้าด้วยกันเพื่อเป็นแอพพลิเคชั่นใหม่สามารถทำได้โดยไม่ต้องมานั่งแก้ไขตัวโค้ดที่อยู่ด้านหลังการทำงานโดยตรง มีการเรียนรู้โดยอัตโนมัติ สามารถเขียนได้ด้วยตัวเองและวิวัฒนาการตัวเองผ่านการเรียนรู้

ทั้งนี้ ต่อไปศูนย์กลางและความสำคัญของการตัดสินใจในองค์กรจะย้ายจากการสั่งการจากเบื้องบนของโครงสร้างบริหารระบบไอทีแบบเดิม ไปเป็นการใช้แบบรับฟังความเห็นจากเบื้องล่าง แอพพลิเคชั่นแบบเดิมที่รวมศูนย์เป็นหนึ่งเดียวจะเปิดทางให้มีการพัฒนาโซลูชั่นใหม่ที่เน้นการกระจายตัวและยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง นวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีผลักดันจะเกิดได้จากทุกแห่งทุกหน่วยงานไม่จำเป็นต้องมาจากหน่วยงานไอทีเสมอไป

อัตโนมัติ-เรียลไทม์

เขากล่าวต่อว่า ทั้งหมดที่เล่ามาเป็นเรื่องของอนาคตในระยะไกล ส่วนระยะใกล้ ระบบข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลจะเดินหน้าปฏิวัติการบริหารจัดการแบบยืดหยุ่นในปัจจุบัน โดยการนำเสนอโมเดลวิเคราะห์ใหม่ๆ ซึ่งจะขยายตัวและเร่งการทำงานมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันต้องการข้อมูลการวิเคราะห์เชิงลึกมากขึ้น กลายมาเป็นส่วนสำคัญของการสร้างคุณค่าใหม่ๆ ทางธุรกิจ นำเสนอได้ในแบบเรียลไทม์ทั้งมาตรวัดทางการเงินและธุรกิจที่ต้องการ ต่อไปจะสามารถคาดการณ์และตรวจวัดผลของการลงทุนและการใช้งานซอฟต์แวร์ว่าดีและจำเป็นแค่ไหนเพียงไรรวมทั้งคาดการณ์ได้ในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

นอกจากนี้ ที่จะได้เห็นระบบอัตโนมัติที่ใช้งานอยู่ทุกวันนี้จะผ่านการใช้งาน มีการทดสอบ เรียนรู้และเกิดเป็นกระบวนการทางธุรกิจที่เป็นระบบอัตโนมัติ แต่ทั้งนี้การจะใช้ประโยชน์สูงสุดจำเป็นที่จะต้องวางมาตรฐานและเชื่อมต่อระบบเวิร์กโฟลว์อย่างราบรื่น ผ่านทั้งกระบวนการการพัฒนาระบบ รวมถึงเครื่องมือที่ใช้งานระบบวิเคราะห์จะช่วยให้ค้นพบปัญหาคอขวดหรือจุดอ่อนที่มีในระบบการทำงานของซอฟต์แวร์

"อนาคตของระบบอัตโนมัติคือปัญญาอัจฉริยะซึ่งจะเรียนรู้ ปรับตัว และใช้งานสูงสุดจากระบบที่มีทั้งหมด โดยที่จะเริ่มเห็นซอฟต์แวร์ที่จะพัฒนาตัวเองได้ในบางส่วนของการใช้งานแทนที่จะพัฒนาขึ้นจากมนุษย์แต่อย่างเดียว"

ท้าทายยุคเฟื่องเอไอ

ไมล์ชี้ว่า ปีนี้จะเห็นระบบปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ที่มีการพัฒนาดีขึ้น โดยไม่ใช่หมายถึงแค่ หุ่นยนต์ที่พูดได้อีกต่อไป แต่จะเป็นชุดของอัลกอริทึมส์ ที่แสดงออกผ่านโค้ดที่ใช้งานกับระบบข้อมูลต่างๆ ที่มีโดยระบบเอ็นจินเชิงวิเคราะห์ระดับสูง ระบบเอไอและการเรียนรู้โดยจักรกลจะผลักดันแนวทางที่แตกต่างไปโดยสิ้นเชิงในการพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยระบบจักรกลอัจฉริยะจะนำเสนอความฝันที่ตั้งใจไว้ของการใช้งานบิ๊กดาต้า และระบบที่สามารถเรียนรู้ได้ตัวเองจะพัฒนาและนำเสนอซอฟต์แวร์ออกมาได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี หัวใจสำคัญของการบริหารจัดการและการรักษาความปลอดภัยของเทคโนโลยีจะไม่หายไปไหนแต่จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการใช้งานผ่านระบบอัตโนมัติและดำเนินการในแบบอัจฉริยะซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้สามารถเน้นหนักไปที่เรื่องอื่นที่มีความสำคัญและสร้างคุณค่าใหม่ๆ เพื่อผลักดันธุรกิจให้ก้าวต่อไป

ยุคสมัยที่ซอฟต์แวร์กลายเป็นเครื่องมือในการติดต่อสัมพันธ์หลักกับลูกค้าของแบรนด์และบริษัทต่างๆ การรักษาความปลอดภัย คือเรื่องเดียว กับคำว่าไว้วางใจ หรือกล่าวได้ว่า จะต้องรักษาความปลอดภัยให้กับทั้งระบบเชื่อมโยงทั้งบริษัทและแบรนด์ มิใช่แค่รักษาความปลอดภัยของตัวข้อมูลแต่เพียงอย่างเดียว

ดังนั้น การลดความเสี่ยงทำได้โดยการนำระบบอัจฉริยะมาช่วยจัดการระบบไอดีและเดินหน้าระบบการวิเคราะห์ซับซ้อนที่จะช่วยพัฒนาการรักษาความปลอดภัยในอนาคตแต่อย่างไรก็ตาม พวกแฮกเกอร์เจาะระบบก็มีขีดความสามารถด้านนี้เพิ่มด้วย เช่นกันกันการเรียนรู้ด้วยจักรกลและเอไอจะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาความปลอดภัย

พร้อมระบุ ปัญหาความเสี่ยงที่บริษัทระดับเอนเทอร์ไพรซ์กำลังเผชิญปัจจุบันจะยังเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ความเสี่ยงต่อข้อมูลและความต่อเนื่องทางธุรกิจโดยระบบเอไอจะเป็นภัยคุกคามใหม่ที่ต้องรับมือ