เตรียมชง 'กพช.' ออกกฎควบคุมอาคารประหยัดพลังงาน

เตรียมชง 'กพช.' ออกกฎควบคุมอาคารประหยัดพลังงาน

"กบง." เตรียมชง "กพช." 7 มี.ค.นี้ อนุมัติออกกฎกระทรวงควบคุมอาคารประหยัดพลังงาน มีผลบังคับใช้ในปีนี้ คาดช่วยประหยัดไฟฟ้ามูลค่า 4.8 หมื่นล้านบาท ใน 20 ปีข้างหน้า

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)ในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ที่มีนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้เห็นชอบการออก กฎกระทรวงกำหนดประเภท หรือขนาดของอาคาร และมาตรฐาน หลักเกณฑ์และวิธีการ ในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. ....(Building Energy Code:BEC) ตามที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.)นำเสนอ เพื่อเป็นมาตรการบังคับใช้ขั้นต่ำกับอาคารขนาดใหญ่ที่มีปริมาณการใช้พลังงานสูง ด้วยการกำหนดมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดการพลังงานกับอาคารที่จะก่อสร้างใหม่หรือดัดแปลงตั้งแต่เริ่มต้นออกแบบอาคาร เพื่อให้อาคารมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยกำหนดให้อาคารที่จะก่อสร้างใหม่หรือดัดแปลง 9 ประเภทอาคาร ได้แก่ 1.สำนักงาน 2. โรงแรม 3.โรงพยาบาล 4.ศูนย์การค้า 5.โรงมหรสพ 6.สถานบริการ 7.อาคารชุมนุมคน 8.อาคารชุด และ 9. สถานศึกษา ที่มีขนาดพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องออกแบบให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่ระบุในกฎกระทรวงฯ ได้แก่ ระบบกรอบอาคาร ระบบปรับอากาศ ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบผลิตน้ำร้อน และการใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งอุปกรณ์ต่างๆจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานประหยัดพลังงาน

ทั้งนี้ จะทยอยบังคับใช้กับอาคารทั้ง 9 ประเภท ภายใน 3 ปี ซึ่งปีแรก จะบังคับใช้กับอาคาร ขนาดตั้งแต่ 1 หมื่นตารางเมตรขึ้นไป ปีที่ 2 บังคับใช้กับอาคาร ขนาดตั้งแต่ 5,000 ตารางเมตรขึ้นไป และปีที่ 3 บังคับใช้กับอาคาร ขนาดตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป โดยกฏกระทรวงฯ จะต้องนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 7 มี.ค.นี้ และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติต่อไป และจะมีผลบังคับใช้หลังออกประกาศกฎกระทรวงฯภายใน 120 วัน หรือไม่เกินสิ้นปีนี้ ซึ่งหากการก่อสร้างอาคารดังกล่าวไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดจะไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้

อย่างไรก็ตาม คาดว่า มาตรการดังกล่าว จะทำให้การใช้พลังงานภายในอาคารมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ประหยัดพลังงานได้มากกว่า 10% โดยมีเป้าหมายว่าภายใน 20 ปี จะสามารถประหยัดไฟฟ้าได้รวมประมาณ 13,700 ล้านหน่วย หรือคิดเป็นมูลค่าเท่ากับ 4.8 หมื่นล้านบาท