อยากชนะต้องคุณภาพ 'เกศรา มัญชุศรี'

อยากชนะต้องคุณภาพ 'เกศรา มัญชุศรี'

ตลาดหุ้นไทยปี 2561 สร้างประวัติการณ์ทำดัชนี SET INDEX พุ่ง New High สูงสุดในรอบ 43 ปี ตั้งแต่ก่อตั้งที่ 1,838.96 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขายระดับแสนล้านบาทต่อวัน ถือเป็นสถิติทิ้งทวนก่อนหมดวาระของ “ตุ๊-เกศรา มัญชุศรี”

'ผู้จัดการตลาดหุ้นคนที่ 13 กำลังจะมา'

สุดท้ายเก้าอี้จะตกเป็นของคนในหรือคนนอก หลังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศมีการขยายเวลาเปิดรับสมัครกรรมการผู้จัดการเพิ่มรอบที่ 2 และปิดรับสมัคร 31 ม.ค.ที่ผ่านมา จากเดิม 15 ธ.ค.2560-15 ม.ค.2561 หวังว่าภายในเดือน พ.ค. คงได้รู้!! เพราะ 'ตุ๊-เกศรา มัญชุศรี' กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ คนปัจจุบันหมดวาระพอดี...

เก้าอี้ 'เอ็มดีตลาหุ้นไทย' ถือว่าสำคัญอย่างมาก เพราะว่าต้องมากุมชะตาตลาดทุนของประเทศไทยแล้ว ที่ปัจจุบันมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (market capitalization) 18.17 ล้านล้านบาท (ณ วันที่ 5 ก.พ.2561) ยังเป็นผู้ดูแลขุมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่มีเงินกองทุน 25,398 ล้านบาท (ข้อมูล ณ ปี 2559) จึงทำให้ทุกสายตาจับจ้องมาที่นี่

ขณะที่ 'เกศรา' กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ คนปัจจุบัน ได้แสดงเจตจำนงค่อนข้างชัดเจนว่า 'จะไม่เดินหน้าต่อ' ในตำแหน่งที่ทำอยู่ต่อ แต่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการสรรหา เพราะมองว่าเมื่อครบวาระ ก็คือครบ และเปิดโอกาสให้คนใหม่มาสานต่อ จากที่ผ่านมาได้วางรากฐานไว้แล้ว ผู้จัดการตลาดย้ำให้ฟัง

แม้ว่าในยุคของ 'เกศรา' ดีกรีปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ (Bachelor of Art in Economics) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโททางการเงิน (Master of Science in Finance) Golden Gate University, San Francisco, USA (1 มิ.ย.2557-31 พ.ค.2561) จะไม่มีวิกฤติทางด้านการเมืองรุนแรง เหมือนเช่น 'จรัมพร โชติกเสถียร' อดีตผู้จัดการตลาดหุ้นที่โดนทั้งเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองในปี 2553 ครั้งนั้นเกิดไฟไหม้ชั้นล่างของอาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตึกเก่า) ผ่านมาถึงปี 2554 เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ และการชุมนุมทางการเมืองของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กกปส.)

ทว่า ในรอบ 4 ปี (2557-2561) กลับสร้างสถิติใหม่เป็นประวัติศาสตร์หน้า 1 ของตลาดหุ้นไทย โดยดัชนี SET INDEX ขึ้นไปยืน 'จุดสูงสุด' ครั้งใหม่ตลอดเกือบทุกวันทำการช่วงเดือน ม.ค. ปัจจุบันทำ New High อยู่ที่ 1,838.96 จุด (24 ม.ค.) สร้าง 'จุดต่ำสุดใหม่' อยู่ที่ 1,778.53 (3 ม.ค.) เรียกว่า SET ทะลุทะลวงสถิติสูงสุดเดิมที่เคยทำไว้เมื่อ 24 ปีก่อน (4 ม.ค.2537 สูงสุดเดิม 1,753 จุด)

จากวันแรกที่ 'เกศรา' เข้ารับตำแหน่งในปี 2557 ดัชนีต้อนรับเธออยู่ที่ 1,440.94 จุด ถึงวันที่ดัชนี ALL TIME HIGH 1,838.96 จุด ช่วง 3 ปีครึ่งขึ้นมา 398.02 จุด ให้ผลตอบแทนที่ดีถึง 25%

ก้าวต่อไปที่ตลาดหลักทรัพย์ยังต้องการคือ ความยั่งยืนและขนาดของตลาดที่ใหญ่แบบมีคุณภาพ พร้อมด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ คือ การมีบริษัทใหม่และบริษัทขนาดใหญ่ เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลัก ทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) และต้องเป็นตลาดหุ้นที่มีสภาพคล่อง มี Live Platform เป็นเครื่องมือการระดมทุนของสตาร์ตอัพด้วย

'ตลาดหุ้นไทยไม่มีปัญหาที่จะหาบริษัทขนาดใหญ่เข้ามาป้อนให้กับนักลงทุน ยังมีบริษัทขนาดใหญ่ต้องการระดมทุน ดังเห็นได้จากจำนวนบริษัทใหญ่ที่เข้าระดมทุนในตลาดหลัก ทรัพย์ที่ผ่านมามีจำนวนถึง 3 บริษัท (บี.กริมฯ, กัลฟ์ และสีทีโอเอ)'

สอดคล้องกับ 'รุ่งทิพย์ เจริญวิสุทธิวงศ์' ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานการตลาดผู้ออกหลักทรัพย์ 2 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บอกว่า ปัจจุบันมีบริษัทขนาดใหญ่สนใจเข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้นไทยหลายราย หลังจากหน่วยงานการให้บริการการวิ่งออกหาลูกค้า (บริษัทระดมทุน) เพื่อให้มีลูกค้าสนใจเข้าใช้บริการระดมทุนของตลาดมากขึ้น

พบว่า ในเมืองไทยยังมีธุรกิจขนาดใหญ่อีกมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการบริหารงานแบบกงสี และหลังจากการไปพบเจอปรากฏว่าบริษัทเหล่านี้มีความสนใจเข้ามาระดมทุน เพราะทราบถึงประโยชน์ของการเข้ามาระดมทุนแล้ว แต่ปัจจุบันยังติดปัญหาเรื่องของการจัดโครงการภายใน ซึ่งปัญหาดังกล่าวต้องใช้เวลาจัดการพอสมควร

'เกศรา' ที่นำทีมสื่อมวลชนกว่า 30 กว่าชีวิต ไปเยี่ยมชมตลาดหลักทรัพย์เกาหลี (KRX) ประเทศเกาหลีใต้ ถือโอกาสฝากสารถึงผู้จัดการตลาดหุ้นคนใหม่และสื่อมวลชนว่า อยากให้ช่วยกันพัฒนาตลาดหุ้นให้มีประสิทธิภาพต่อไป และสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้

ทั้งนี้ การมาเยี่ยมชมตลาดหุ้น KRX ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างตลาดหลักทรัพย์ไทยกับตลาดหลักทรัพย์เกาหลีในครั้งนี้ เพื่อศึกษาแพลทฟอร์มสตาร์ทอัพของเกาหลี ซึ่งเกาหลีมีสตาร์ทอัพมาร์เก็ตแล้ว โดยตลาดหลักทรัพย์เกาหลีเปิดตัว KRX Startup Market (KSM) แพลตฟอร์มซื้อขายหุ้นสตาร์อัพเพื่อเป็นแหล่งระดมทุนในสตาร์อัพ และเพิ่มโอกาสต่อยอดไปสู่การเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลัก เมื่อ พ.ย.2559 ปัจจุบันมีสตาร์ทอัพเข้ามาจดทะเบียน 75 บริษัท โดยมี 41 บริษัทที่มาจากการ Crowdfunding หรือผ่านการระดมทุนแล้ว และที่เทรดดิ้ง (แอคทีฟ) อยู่ราว 5-6 บริษัท

ตลท. ก็จะศึกษาแพลทฟอร์มของการซื้อขาย ทั้งรูปแบบโมบายแอพพลิเคชั่นช่วยอำนวยความสะดวกในการซื้อขาย เพื่อเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพและผู้ลงทุนสามารถเจรจากันโดยตรง ซึ่งก็จะศึกษารูปแบบต่างๆ เพื่อให้มีกรอบการทำงาน ส่วนรายละเอียดต้องดูว่า อะไรที่นำไปปรับใช้ในไทยได้บ้าง

'หลักการแพลทฟอร์มสตาร์ทอัพของไทย กับ KSM ใกล้เคียงกัน คือไม่ใช่ระบบออโต้แมทชิ่ง การซื้อขายเจรจาตกลงกันเอง ไม่ต้องผ่านโบรกฯ และรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ สนับสนุนสตาร์ทอัพเหมือนกัน'

ด้าน 'ประพันธ์ เจริญประวัติ' ผู้ช่วยผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) กล่าวว่า ในปีนี้ ตลาด mai จะมุ่งเน้นดึงบริษัทที่ประกอบธุรกิจด้านเทคโนโลยี อินโนเวชั่น ให้เข้าจดทะเบียนมากขึ้น จากปัจจุบันบจ.ใน mai มี 150 บริษัท สัดส่วน 60% อยู่ในกลุ่มอินดัสเตรียล และเซอร์วิส
ขณะที่ในตลาดหุ้นเกาหลี ส่วนใหญ่เป็นบริษัทเทคโนโลยี ที่ประสบความสำเร็จ

ดังนั้น ในปีนี้ mai จึงจัดอบรมชักชวนบริษัทดังกล่าวในงาน IDE (Innovation Driven Enterprises) ในเดือน ก.พ.2561 โดยอบรม 8 สัปดาห์ ซึ่งปัจจุบันสำรวจพบมี 50 บริษัท ที่น่าสนใจชักชวนเข้ามาจดทะเบียน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นสตาร์ทอัพ 15 บริษัท ธุรกิจที่เกี่ยวกับซอฟแวร์ ไอที ของไทย ราว 15 บริษัท บริษัทที่อยู่ในกลุ่มลูกค้า mai ที่พร้อมจะเข้าจดทะเบียนใน 2-3 ปีข้างหน้า จำนวน 10 บริษัท และอยู่ในกลุ่มเทคโนฯ อินโนเวชั่นราว 10 บริษัท ที่คาดว่าจะพร้อมเข้าใน 2-5 ปีข้างหน้า

'ก็เชื่อว่าใน 5 ปีข้างหน้า จะได้เห็นบริษัทเหล่านี้เข้ามาจดทะเบียนใน mai ได้ หลังจากนั้น ในช่วงปลายปี จะเปิดอบรม รุ่น 2 ในกลุ่มโรงพยาบาลและอาหาร'

'พงศ์ปิติ เอกเธียรชัย' ผู้อำนวยการ งานส่งเสริมบริษัทจดทะเบียนและวิสาหกิจเพื่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์ ฯ กล่าวว่า สำหรับไลฟ์แพลทฟอร์มของสตาร์ทอัพ คาดว่าเสร็จในไตรมาส 1 ปี 2561 โดยระบบทำเสร็จแล้ว เหลือเพียงทบทวนกระบวนการรับบริษัทเข้ามาระดมทุน เบื้องต้นมีบริษัทราว 10 กว่าแห่งที่สนใจและเข้ามาคุยรายละเอียดแล้ว

ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์เกาหลี มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 1.78 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จำนวนบริษัท 2,134 บริษัท แบ่งเป็น บจ. ในประเทศ 2,114 บริษัท ต่างประเทศ 20 บริษัท มี บจ.เข้าใหม่ (IPO) ในปี 2560 จำนวน 80 บริษัท

ต่อความร่วมือเกาหลี

'เกศรา มัญชุศรี' กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ลงนามต่ออายุบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับตลาดหลักทรัพย์เกาหลี (KRX) โดยมีระยะเวลา 5 ปี (5 ก.พ.61-4 ก.พ.66) ซึ่งสอดคล้องกับแผนงานสำคัญของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการเชื่อมโยงการระดมทุนและการลงทุนเพื่อสร้างโอกาสการขยายธุรกิจในระยะยาว

โดยความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นการตอกย้ำถึงความสัมพันธ์อันดีของทั้ง 2 ตลาด รวมถึงสานต่อการทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาตลาดทุนในด้านการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนซึ่งจะช่วยขยายโอกาสการลงทุนให้กับผู้ลงทุน

นอกจากนี้ จะมีการสำรวจโอกาสความเป็นไปได้ในการส่งเสริมการลงทุนร่วมกัน ตลอดจนการแลกเปลี่ยนความรู้อันจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาตลาดทุนในอนาคตด้วย

'จีวอน จอง' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ตลาดหลักทรัพย์เกาหลี (KRX) กล่าวว่า การต่ออายุบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้เป็นผลมาจากความสำเร็จของความร่วมมือในหลายด้านระหว่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตลาดหลักทรัพย์เกาหลี ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อาทิ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การแลกเปลี่ยนความรู้ เป็นต้น

การลงนามในครั้งนี้จะเปิดประตูสู่ความร่วมมือใหม่ๆ ของทั้ง 2 ตลาด อีกทั้งยังช่วยขยายโอกาสการเติบโตร่วมกัน ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์เกาหลีได้ริเริ่มนวัตกรรมมาสู่ตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคอย่างไม่หยุดยั้ง อาทิ ด้านธุรกิจข้อมูลและการสร้างระบบนิเวศน์ใหม่สำหรับสตาร์ทอัพ

ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ไทยได้ประสบความสำเร็จในการเติบโตทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ พร้อมการเป็นผู้นำบุกเบิกในระดับภูมิภาค เมื่อผนวกความสำเร็จของตลาดหลักทรัพย์ทั้ง 2 แห่งเข้าด้วยกัน ตลาดหลักทรัพย์เกาหลีเชื่อว่า ความร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะนำไปสู่บทบาทใหม่ในการสร้างการเติบโตของธุรกิจตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต่อไป

'SET และ KRX ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างกัน ตั้งแต่ปี 2549 อีกทั้งยังมีการทำงานร่วมกันอีกหลายด้าน อาทิ การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาพัฒนาระบบชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ สำหรับตราสารทุน และอนุพันธ์ เป็นต้น'