หนี้สาธารณะคงค้างสิ้นเดือนธ.ค.อยู่ที่ 41.76% ของ GDP

หนี้สาธารณะคงค้างสิ้นเดือนธ.ค.อยู่ที่ 41.76% ของ GDP

"กระทรวงคลัง" เผยหนี้สาธารณะคงค้างสิ้นเดือน ธ.ค.60 อยู่ที่ 6,371,416.12 ล้านบาท หรือคิดเป็น 41.76% ของ GDP

นายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ รายงานหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 มีจำนวน 6,371,416.12 ล้านบาท หรือคิดเป็น 41.76% ของ GDP แบ่งเป็น หนี้รัฐบาล 5,027,438.43 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ 940,263.45 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 393,062.98 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานของรัฐ 10,651.26 ล้านบาท ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าหนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มขึ้นสุทธิ 45,947.43 ล้านบาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้

หนี้รัฐบาล จำนวน 5,027,438.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสุทธิ 68,112.31 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของหนี้รัฐบาล ดังนี้

การกู้เงินตามแผนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 และเพื่อการบริหารหนี้สาธารณะ เพิ่มขึ้นสุทธิ 66,940.50 ล้านบาท เนื่องจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพื่อนำไปลงทุนในการพัฒนาประเทศ สร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจ จำนวน 48,440.50 ล้านบาท การเพิ่มขึ้นของตั๋วเงินคลัง 22,500 ล้านบาท และการไถ่ถอนพันธบัตร 4,000 ล้านบาท

การกู้เงินเพื่อการลงทุนจากแหล่งเงินกู้ในประเทศเพิ่มขึ้น 2,751.79 ล้านบาท แบ่งเป็น การกู้ให้กู้ต่อแก่ (1) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เบิกจ่ายเงินกู้จำนวน 1,562.08 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการก่อสร้างทางคู่ในเส้นทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออก ช่วงฉะเชิงเทรา – คลองสิบเก้า - แก่งคอย จำนวน 620.97 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ – ขอนแก่น จำนวน 620.10 ล้านบาท, โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงฯ จำนวน 256.01 ล้านบาท และโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - รังสิต จำนวน 65 ล้านบาท และ (2) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเบิกจ่ายเงินกู้จำนวน 1,189.71 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวจำนวน 650.17 ล้านบาท สายสีน้ำเงินจำนวน 303.19 ล้านบาท สายสีส้มจำนวน 226.96 ล้านบาท และสายสีม่วงจำนวน 9.39 ล้านบาท

การชำระหนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541 (FIDF 1) จำนวน 1,220 ล้านบาท และกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่สอง พ.ศ. 2545 (FIDF 3) จำนวน 16.31 ล้านบาท

หนี้ต่างประเทศลดลงสุทธิ 343.67 ล้านบาท เนื่องจากการเบิกจ่ายเงินกู้สกุลเงินเยน การชำระคืนหนี้สกุลเงินเหรียญสหรัฐ และการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน

ส่วนหนี้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 940,263.45 ล้านบาท ลดลงสุทธิ 16,385.65 ล้านบาท โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจาก

หนี้ที่รัฐบาลค้ำประกัน เพิ่มขึ้น 561.52 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจากหนี้ที่เพิ่มขึ้นขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และการรถไฟแห่งประเทศไทย

หนี้ที่รัฐบาลไม่ค้ำประกัน ลดลง 16,947.17 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจากหนี้ที่ลดลงของบมจ. การบินไทย (THAI) และบมจ. ปตท. (PTT)

หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) จำนวน 393,062.98 ล้านบาท ลดลงสุทธิ 4,735.38 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจากการชำระคืนต้นเงินกู้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หนี้หน่วยงานของรัฐ จำนวน 10,651.26 ล้านบาท ลดลงสุทธิ 1,043.85 ล้านบาท โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เนื่องจากการชำระคืนต้นเงินกู้ของสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย

โดยหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2560 จำนวน 6,371,416.12 ล้านบาท แบ่งเป็น หนี้ในประเทศ 6,076,002.26 ล้านบาท หรือ 95.36% และหนี้ต่างประเทศ 295,413.86 ล้านบาท (ประมาณ 8,960.62 ล้านเหรียญสหรัฐ) หรือ 4.64% ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด และหนี้สาธารณะคงค้างแบ่งตามอายุคงเหลือ สามารถแบ่งออกเป็นหนี้ระยะยาว 5,811,242.81 ล้านบาท หรือ 91.21% และหนี้ระยะสั้น 560,173.31 ล้านบาท หรือ 8.79% ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด