‘เมติคูลี่’จากแล็บ สตาร์ทอัพกระดูกเทียม

‘เมติคูลี่’จากแล็บ สตาร์ทอัพกระดูกเทียม

“เมติคูลี่” แพลตฟอร์มนวัตกรรมทางการแพทย์สปินออฟจากรั้วจุฬาฯ โดยนักวิจัยผู้คิดค้นกระดูกเทียมไทเทเนียมและเทคนิคการพิมพ์สามมิติ ตั้งเป้าก้าวสู่ตลาดโลก

“เมติคูลี่” แพลตฟอร์มนวัตกรรมทางการแพทย์สปินออฟจากรั้วจุฬาฯ โดยนักวิจัยผู้คิดค้นกระดูกเทียมไทเทเนียมและเทคนิคการพิมพ์สามมิติ ตั้งเป้าก้าวสู่ตลาดโลกผ่านการนำเสนอผลงานในต่างประเทศ พร้อมเปิดระดมทุนร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ หารายได้ช่วยเหลือผู้ป่วย 100 คนในโครงการกระดูกเทียมเพื่อคนไทย“เมติคูลี่” แพลตฟอร์มนวัตกรรมทางการแพทย์สปินออฟจากรั้วจุฬาฯ โดยนักวิจัยผู้คิดค้นกระดูกเทียมไทเทเนียมและเทคนิคการพิมพ์สามมิติ ตั้งเป้าก้าวสู่ตลาดโลกผ่านการนำเสนอผลงานในต่างประเทศ พร้อมเปิดระดมทุนร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ หารายได้ช่วยเหลือผู้ป่วย 100 คนในโครงการกระดูกเทียมเพื่อคนไทย

หลังจากใช้เวลากว่า 3 ปีวิจัยและพัฒนาวัสดุฝังในร่างกาย ประเภทกระดูกเทียมและแผ่นโลหะดามกระดูก โดยประยุกต์ใช้เครื่องพิมพ์สามมิติในการออกแบบและขึ้นรูปวัสดุให้ตรงกับรูปร่างหรือใกล้เคียงอวัยวะส่วนเดิมของผู้ป่วยแต่ละคน โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาด้านกระดูกจากอุบัติเหตุรวมถึงปัญหากระดูกจากโรคมะเร็ง ซึ่งที่ผ่านมาต้องนำเข้าวัสดุด้านออร์โธปิดิกส์ปีละประมาณ 1 แสนชิ้น มูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท อีกทั้งขนาดหรือสัดส่วนอุปกรณ์ไม่เหมาะกับสรีระคนไทย

เครื่องมือแพทย์สัญชาติไทย

บุญรัตน์ โล่ห์วงศ์วัฒน ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษาของเมติคูลี่ กล่าวว่า บริษัทมุ่งตอบโจทย์ของประเทศด้านอุปกรณ์การแพทย์ ด้วยการใช้องค์ความรู้และงานวิจัยมาต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อปูทางรับเทคโนโลยีวัสดุทางการแพทย์ในอนาคต ที่สำคัญจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศต่อไปข้างหน้า ส่งผลให้เกิดวัสดุทางการแพทย์ใหม่ออกมาช่วยทำให้แพทย์ทำงานได้ง่ายขึ้นและคุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้นล่าสุดได้ยกระดับด้วยการสปินออฟผลงานวิจัยไปสู่การให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ ในชื่อ บริษัท เมติคูลี่ จำกัด เมื่อปี 2560 ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท จากการร่วมทุนระหว่างทีมนักวิจัยและนิสิตจุฬาฯ

ปัญหาสำคัญประการหนึ่งของการรักษาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับกระดูก ไม่ว่าจะเกิดจากอุบัติเหตุและโรคต่างๆ การหาวัสดุมาใส่ทดแทนกระดูกส่วนที่เสียหายในบางตำแหน่งนั้นไม่สามารถหามาใส่ทดแทนได้อย่างเหมาะสม ทำให้ต้องผ่าตัดนำกระดูกบางส่วนของผู้ป่วยมาใช้แทน เช่น กระดูกขา สะโพก จึงเป็นที่มาของการค้นคว้าหาทางผลิตกระดูกเทียมดังกล่าว

“ช่วงที่ผ่านมามีคนไข้ประมาณ 20 คนที่ใช้กระดูกเทียมและแผ่นโลหะดามกระดูกจากผลงานวิจัย อีกทั้งมีแพทย์จากโรงพยาบาลต่างๆ เข้ามาทำงานร่วมกันในการออกแบบพัฒนาวัสดุที่นำไปใช้กับคนไข้ อาทิ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาฯ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลเชียงใหม่ โรงพยาบาลขอนแก่น เป็นต้น จึงเป็นเคสที่สามารถนำไปเป็นกรณีศึกษาที่ใช้แชร์ข้อมูลระหว่างกันในวงการแพทย์ โดยเฉพาะในเวทีต่างประเทศ เนื่องจากแพทย์ไทยได้รับการยอมรับทั้งฝีมือความรู้ในระดับต้นๆ โดยเฉพาะเมื่อเราสามารถพัฒนาวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น จึงกลายเป็นจุดแข็งที่สร้างความแตกต่างและการยอมรับได้เร็วขึ้น”

ขณะเดียวกัน ทางบริษัทเร่งทำมาตรฐานไอเอสโอและมาตรฐานยุโรป (CE) เพื่อสร้างความน่าเชื่อ รวมทั้งกระบวนการผลิตทุกขั้นตอนดำเนินการภายในห้องสะอาด ทั้งผ่านการรับรองและจดทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาให้เป็นสถานประกอบการด้านเครื่องมือแพทย์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ชั้น 6 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กำลังการผลิตปีละ 3,000-4,000 ชิ้น ส่วนหนึ่งเป็นการผลิตตามออเดอร์แพทย์ อีกส่วนหนึ่งเป็นการผลิตเพื่อการวิจัยซึ่งสัดส่วนมากถึง 90% เพราะงานวิจัยต้องทำต่อเนื่องหยุดทำไม่ได้

โซลูชั่นตอบโจทย์แพทย์&คนไข้

“จากเดิมที่มุ่งพัฒนาเพื่อผู้ป่วยไทยให้เข้าถึงวัสดุทางการแพทย์ราคาถูก แต่ในความเป็นจริงหากคิดแบบนั้นจะกลายเป็นกรอบการพัฒนาที่ทำให้ต้นทุนต่ำ เพื่อให้จำหน่ายในราคาถูกเท่านั้น จึงไม่ใช่คำตอบสำหรับความยั่งยืนในระยะยาวในเชิงพาณิชย์ ส่งผลให้ต้องปรับแนวคิดการพัฒนา และเตรียมที่จดสิทธิบัตรในอเมริกา ยุโรปและญี่ปุ่น ล้วนเป็นตลาดหลักที่มีความต้องการและกำลังซื้อสูง คาดว่า อีก 2 ปีจะเริ่มทำตลาดต่างประเทศอย่างจริงจัง จะทำให้กลุ่มผู้ใช้ในไทยเกิดความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นด้วย”

บุญรัตน์ กล่าวสำหรับแนวทางของเมติคูลี่จะเน้นสร้างนวัตกรรมให้เป็นที่ยอมรับในตลาดต่างประเทศ เพื่อให้บริษัทมีรายได้ที่จะย้อนกลับมาช่วยให้ผู้ป่วยไทยเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น ผู้ป่วยที่ใช้กระดูกเทียมไทเทเนียมดังกล่าว ได้แก่ ภาวะกระดูกหักในตำแหน่งที่ซับซ้อน เนื้องอกกระดูก มะเร็งกระดูก ผู้ป่วยที่บาดเจ็บบนใบหน้า เช่น โหนกแก้มแตก กะโหลกร้าวและกลุ่มผู้สูงวัย 2 กลุ่ม คือกลุ่มสมองบวมจากเส้นเลือดในสมองอุดตันต้องผ่าตัดเปิดกะโหลก และกลุ่มกระดูกทรุดจากภาวะกระดูกพรุน 

บุญรัตน์ กล่าวว่า การทำตลาดอุปกรณ์ทางการแพทย์เป็นเรื่องยากไม่แพ้ตลาดยา ภาวะการแข่งขันรุนแรง ขณะที่บริษัทต้องอาศัยทีมขายที่เชี่ยวชาญในตลาดเครื่องมือแพทย์ ควบคู่กับการนำเสนอผ่านประสบการณ์ใช้จริงของแพทย์ในการผ่าตัดแก้ไขปัญหาซับซ้อน ขณะที่วงการแพทย์ทั่วโลกยอมรับฝีมือของแพทย์ด้านกระดูกของไทยอยู่แล้ว จะส่งผลให้แบรนด์เป็นที่รู้จักและยอมรับในตลาด