ดีไซน์บั้นปลายชีวิต

ดีไซน์บั้นปลายชีวิต

จะมีสักกี่คนที่บอกว่า ได้เตรียมพร้อมก่อนแก่แล้ว ชีวิตเลือกได้จริงๆ หรือ

ว่ากันว่า ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยมาเป็นเวลา 12 ปีแล้ว และพ.ศ. 2568 กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์

ในปีพ.ศ. 2561ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุสูงถึง1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมดและมากกว่าประชากรเด็ก

โดยคาดว่าอีก 32 ปีคือ ปีค.ศ.2050 จำนวนประชากรผู้สูงวัยทั่วโลกที่มีอายุ 65 ปีจะเพิ่มสัดส่วนเป็นเท่าตัวกว่า 2 พันล้านคน

ปัจจุบันหลายหน่วยงานพยายามตอกย้ำการเข้าสู่สังคมสูงวัยมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้เห็นว่า ไม่ใช่เรื่องของคนสูงวัยเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของทุกคน

 

-1-

อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่วิถีแห่งความสูงวัย ไม่ได้มีเพียงความหดหู่ น่าเบื่อ ติดเตียง เลี้ยงหลาน แต่ชีวิตออกแบบได้

เหมือนเช่นศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ออกแบบนิทรรศการ "ชนชราแห่งอนาคต: สร้างความเข้าใจ ตั้งคำถาม และโอกาสและความท้าทายที่มาพร้อมกับสังคมสูงวัย และนิทรรศการ สวัสดีตัวฉันในอนาคต (จัดแสดงตั้งแต่วันนี้-29 เมษายน 2561 ที่ TCDC)

ล่าสุดทางสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) (OKMD )ได้ร่วมกับ ITAP สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนานวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุและผู้ประกอบการสังคม เพื่อตอบสนองชีวิตผู้สูงวัย

 “ผู้สูงอายุในยุคนี้ อาจไม่ใช่ภาพเดิมๆ เป็นคนแก่หลังค่อม ติดเตียง ยังมีผู้สูงอายุจำนวนมากที่ยังทำงานอยู่ทุกวัน และสร้างคุณค่าให้สังคม” ณัฐา อิสระพิทักษ์กุล ภัณฑรักษ์ จาก TCDC กล่าว ในฐานะผู้สร้างสรรค์นิทรรศการทั้งสองชุด เพื่อทำให้คนไทยเข้าใจว่า คนสูงวัยมีความแตกต่าง หลากหลาย และเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการ โดยคำนึงถึงความต้องการของคนสูงวัยมากที่สุด

 นอกจากนี้ เธอยังได้ยกตัวอย่าง คนวัยเกษียณที่มีทักษะชีวิตและเป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข โดยไม่ต้องยึดติดกับคำว่า สูงวัย

“อย่างเอนก นาวิกมูล นักประวัติศาสตร์คนนี้ เขาได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก จนลืมอายุ ไม่ต่างจากหลายคนที่ยังสนุกกับงานในช่วงวัยที่เปลี่ยนไป โรจ ควันธรรม นักจัดรายการวิทยุวัยกว่า 65 ปี ยังคงสนุกและมีความสุขกับงานที่ทำ”

ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปมากน้อยเพียงใด มนุษย์ก็ไม่สามารถหนีพ้นความแก่ เจ็บ และตาย

นั่นเป็นสัจธรรมที่ต้องเกิดขึ้น ทุกคนรู้ แต่ไม่ตระหนักรู้ว่า เวลาของคุณจะเหลือน้อยลงทุกวัน

และนี่คือสิ่งที่นิทรรศการชนชราแห่งอนาคต เมื่อปี 2559 ตั้งคำถามมากมาย อาทิ

“คุณอยู่คนเดียว หรือ อยู่กับครอบครัว? "

ก็มีคำตอบที่หลากหลาย...

“อยู่คนเดียวที่คอนโด เพราะมีบ้านอยู่ต่างจังหวัด”

“เมื่อก่อนอยู่สองคนกับพ่อ ตอนนี้อยู่คนเดียวที่บ้าน เพราะพ่อตายแล้ว”

“อยู่แบบครอบครัวใหญ่ มีลุง ป้า น้า อา”ฯลฯ

ภัณฑารักษ์ คนเดิม บอกว่า ก่อนจะออกแบบชีวิตให้ใคร นักออกแบบต้องทำความเข้าใจในหลายๆ มิติ ทั้งด้านความสัมพันธ์ในครอบครัว ไลฟสไตล์ และสังคม

“ไม่ใช่คิดแทนผู้สูงวัย ถ้าจะทำเรื่องนี้ต้องดูปัญหาและความต้องการในชีวิตจริงของพวกเขาด้วย” 

 

-2-

ถ้าอย่างนั้นลองทำความเข้าใจ ถ้าในอนาคตคุณต้องเข้าสู่ช่วงวัยที่เปลี่ยนไป จะเป็นอย่างไร

ข้อมูลจาก พญ.วิภาดา วามวานิชย์ เขียนไว้ในบทความ Aging Change นิตยสารคิด ปี 2557 ดังต่อไปนี้

เมื่อเซลล์สมอง ลดจำนวนลง เนื้อสมองฝ่อลง สมองส่วนความจำระยะสั้นทำงานแย่ลง จึงเป็นธรรมดาที่จะต้องมีอาการหลงๆ ลืมๆระบบการนอนเปลี่ยนไป หลับไม่ลึกและชอบตื่นเช้า

ผิวหนังที่เคยเต่งตึง ก็จะบางลง รอยย่นเซลล์กล้ามเนื้อลดขนาดลง ทำให้รูปหน้าเปลี่ยน เอ็นยึดใบหน้าหย่อนคล้อย ทำให้เห็นร่องริ้วรอยชัดเจน โดยเฉพาะใต้ตา ร่องแก้ม และคางที่ห้อยย้อน

เมื่อวันเวลาผ่านไปกระดูกที่เคยแข็งแกร่ง ก็ค่อยๆ เสื่อมลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนของเซลล์สร้างกระดูก ทำให้มีการสูญเสียมวลกระดูก และยังมีการเกิดภาวะกระดูกพรุนและกระดูกเปราะ พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

ส่วนลำไส้ใหญ่ที่เคยมีทั้งแบคทีเรียที่เป็นทั้งประโยชน์และโทษอยู่ในภาวะสมดุล เมื่ออายุย่าง 55 ปี จำนวนแบคทีเรียที่ดีก็จะลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว และทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อในลำไส้ใหญ่ และมีอาการท้องผูกมากขึ้น

เมื่อเข้าสู่อายุ 40 ปี กล้ามเนื้อยึดเลนส์ตาจะเริ่มเสื่อม เลนส์ตาแข็งขึ้นและเสียความยืดหยุ่น ทำให้โฟกัสภาพได้ช้าลง เกิดภาวะสายตายาว ตาแห้ง และหลังอายุ 60 เลนส์ตาจะขุ่นทึบและแข็งขึ้น เป็นอาการของโรคต้อกระจก ทำให้เกิดตาพร่ามัว

ตอนอายุ 20-30 เวลาเราหายใจเอาอากาศเข้าปอดได้เป็นปริมาตรประมาณ 1 ลิตรต่อครั้ง แต่จะลดลงเหลือเพียงครึ่งลิตรเมื่ออายุได้ 70 ปี นอกจากนี้ถุงลมเล็กๆ ในปอดยังเสียรูปทรง และกักลมไว้โดยไม่สามารถถ่ายเทออกซิเจนเข้าสู่เลือดได้อย่างปกติ ทำให้รู้สึกเหนื่อยง่าย และอาจมีอาการหายใจหอบเหนื่อยได้

คงเคยได้ยินเรื่อง ภาวะข้อเสื่อมในผู้สูงวัย เกิดจากการสูญเสียกระดูกอ่อนรอบข้อ พื้นผิวข้อไม่เรียบ เอ็นยึดข้อหดแข็ง และมีการลดลงของน้ำในข้อ ทำให้มีอาการปวดข้อ ข้อฝืดรับน้ำหนักได้น้อยลง ส่งผลให้ทำกิจกรรมต่างๆ ได้ลดลง

นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของสภาวะทางร่างกายที่เปลี่ยนไป ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจมองข้ามรายละเอียด

 

-3-

สภาพร่างกายคนเราที่เปลี่ยนไป เมื่ออายุมากขึ้น ทำให้ต้องมีตัวช่วยในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นช่องว่างทางการตลาด และปัจจุบันเห็นได้ว่า ตลาดสำหรับผู้สูงวัยเป็นตลาดที่ใหญ่ มีความต้องการผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อทำให้การใช้ชีวิตสะดวกมากขึ้น

“ต้องทำผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ได้จริงๆ บางคนบอกว่า อายุ 40 แก่แล้ว แต่บางคนบอกว่า อายุเป็นเพียงตัวเลข” กัลยา โกวิทวิสิทธิ์ จาก FABLAB Thailand เปิดประเด็นชวนผู้ประกอบการคิด โดยเน้นย้ำว่า การสร้างผลิตภัณฑ์สำหรับคนกลุ่มนี้ ควรคำนึงความต้องการของผู้สูงวัยมากที่สุด และตลาดที่เธอกล่าวถึง ก็ควรขยายไปสู่ตลาดเอเชียด้วย

 “ถ้าเราออกกำลังกาย รักษาสุขภาพ ก็จะสามารถประคองร่างกายไปได้เรื่อยๆ การแพทย์ก็มีการพัฒนาแล้ว ก็ช่วยยืดอายุของเรามากขึ้น หลายคนคิดว่าคนสูงวัยไม่สนใจเทคโนโลยี ในประเทศพัฒนาแล้ว คนสูงวัยให้ความสนใจเรื่องนี้มากกว่าวัยปกติ เพราะทำให้ชีวิตของพวกเขาสะดวกสบายยิ่งขึ้น 

เท่าที่เห็นผลิตภัณฑ์ที่ออกมา่ยังตอบสนองแค่รูปลักษณ์ภายนอก ช่วงห้าปีนี้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้มากขึ้น และหลายคนกลัวว่าหุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่มนุษย์ อย่างในญี่ปุ่นกิจกรรมงานวัด ก็มีการนำหุ่นยนต์มาใช้ทำงานที่ต้องทำซ้ำๆ เหมือนกันทุกวัน

ทางด้าน วราลักษณ์ แผ่นสุวรรณ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี กล่าวว่า ไม่อยากใช้คำว่า elderly พวกเราจึงหันมาใช้คำว่า New Age หรือ Senior เพื่อแทนคำว่า สูงวัย

“เศรษฐกิจกระแสใหม่ต้องเปลี่ยนแล้ว คนที่ทำสินค้าสำหรับเด็กต้องปรับตัวมาทำสินค้ากลุ่มผู้สูงวัยมากขึ้น เพราะคนสูงวัยเยอะกว่าเด็กแล้วในปีนี้”

นอกจากนี้เธอ ยังเล่าถึงที่อยู่อาศัยสำหรับคนสูงวัยที่เปลี่ยนไป นับจากปี 2496 เริ่มมีบ้านพักคนชรา เพื่อสงเคราะห์คนที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ กระทั่งปี 2505 รูปแบบที่อยู่อาศัยพัฒนามาเป็นที่อยู่ที่มีพื้นที่ส่วนตัวสำหรับคนสูงวัย รวมถึงบริการทางการแพทย์ แบบสวางคนิเวศน์ ของสภากาชาดไทย รวมถึงมีกลุ่มแพทย์ หันมาทำที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยมากขึ้น อย่าง Jin Well Being กลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี และอีกหลายแห่ง

“คนจะรู้สึกว่าแก่ก็ต่อเมื่ออายุ 60-70 และสิ่งที่เราพบเวลาออกแบบที่อยู่อาศัย ก็คือ แม้จะเป็นที่อยู่รวมกันในพื้นที่เล็กๆ คนสูงวัยก็ยังต้องการพื้นที่ส่วนตัว ถ้าเลือกได้ส่วนใหญ่อยากแก่แล้วไม่ต้องย้ายตัวเองไปไหน อยากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย

อีกปัญหาที่เจอคือ ส่วนใหญ่เวลาซื้อบ้าน จะใช้ชั้นสองเป็นห้องนอน พอแก่แล้ว ก็ต้องรีโนเวทบ้าน แต่การรีโนเวทจะมีปัญหาเยอะกว่า การคิดตั้งแต่แรกก็สำคัญ เพราะคนส่วนใหญ่ ถ้าไม่แก่ ก็ไม่คิด” วราลักษณ์เเล่า

และยกตัวอย่างการออกแบบบ้านให้คุณแม่ของเธอว่า ตอนนั้นคิดไปเองว่า คนแก่แล้ว คงต้องการห้องโล่งๆ หน้าต่างเยอะ ๆ

“คนแก่และเด็กเป็นกลุ่มที่เปราะบางมาก ความปลอดภัยจึงเป็นเรื่องสำคัญ คนแก่จะชอบให้มีต้นไม้เยอะๆ ไม่ใช่ว่าห้องต้องเปิดโล่งเหมือนที่เราคิด ต้องมีพื้นที่ส่วนตัวด้วย และที่ผ่านมา บ้านเรายังมีปัญหาเรื่องผังเมือง ถ้าจะซื้อบ้านหรูหน่อยต้องชานเมือง อยู่แบบนั้นคนแก่ก็เหงา ต่างจากในยุโรปหรือนิวยอร์ค พวกเขาจะคิดว่า ทำยังไงให้คนแก่อยู่ในเมืองได้ มีเมืองทางตอนเหนือของญี่ปุ่นเมืองหนึ่ง นายกเทศมนตรีทำรถรางเพื่อให้คนแก่ออกมาชอปปิ้งง่ายขึ้น ทำให้ไม่โดดเดี่ยว ไม่ติดบ้านเกินไป เป็นแนวคิดที่ดี นโยบายแบบนี้ไม่ได้ดูแลเฉพาะคนมีเงิน แต่ดูแลคนทุกชนชั้น นอกจากนี้ยังมีดีไซนเนอร์ที่เปิดร้านเพื่อคนแก่โดยเฉพาะ พวกเขาคิดว่า คนแก่ไม่จำเป็นต้องเชย"

การออกแบบที่อยู่อาศัยในประเทศที่เจริญแล้ว นอกจากจะทำให้คนเหล่านั้นใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าในแบบของเขาแล้ว ยังคำนึงถึงความต้องการ 

เหมือนเช่น อาจารย์วราลักษณ์ บอกว่า บางตึกที่พวกเขาออกแบบ จะมีโซนสำหรับคนแก่ที่ช่วยตัวเองได้ และโซนคนแก่ที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ รวมถึงมีสถานที่พักผ่อนในสวน 

"ห้องพักคนสูงวัยจะไม่อับๆ ทึบๆ เดี๋ยวจะพาให้ซึมเศร้ามากขึ้น ต้องมีแสงธรรมชาติและสวนช่วยทำให้บรรยากาศดีขึ้น”

 

((((ล้อมกรอบ)))

ไอเดียจาก Dear Elders

-ปี 2561 เป็นครั้งแรกที่จำนวนผู้สูงอายุแซงหน้าจำนวนประชากรเด็ก

ลองดูสิว่า ครอบครัวคุณมีผู้สูงวัยกี่คน

-คุณเตรียมพร้อมก่อนแก่หรือยัง

ความแก่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงขอแนะว่า ต้องจัดการความชราอย่างเหมาะสมกับวิถีของคุณ

-ลองตั้งคำถามว่า “อะไร คือ ข้อจำกัดในการใช้ชีวิต”

“อยากลองทำอะไรหลายอย่าง แต่เป็นคนไม่ค่อยมีวินัยในการใช้ชีวิตเท่าไร เลยพลาดอะไรไปเยอะ” จูน วัย 32 ปี

-ทุกครั้งที่ไปหาหมอ...หมอจะเขียนใบสั่งยาให้ 

ในเมื่อหมอสั่งยาให้ ลองเพิ่มอีกสักนิด ให้หมอเขียน“ใบสั่งออกกำลังกาย” ให้คนไข้ได้ไหม

-ก่อนจะออกแบบพื้นที่สาธารณะสำหรับคนสูงวัย ถามพวกเขาสักคำไหม

ออกไปรับฟังความต้องการของผู้ใช้งานและแลกเปลี่ยนความคิดกับผู้เชี่ยวชาญ

-จับคู่ระหว่างเจ้าของบ้านสูงวัยกับผู้เช่าวัยทำงาน

ถ้าต้องอยู่คนเดียวในบ้านหลังใหญ่ เพราะเหตุปัจจัยใดก็ตาม ลองจับคู่กับผู้เช่าต่างวัย อาศัยอยู่ด้วยกัน เพื่อเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

-ถ้าโครงสร้างของร่างกายที่เคยสามารถพยุงร่างกายได้ไม่แข็งแรงเท่าที่เคย และตาเริ่มฝ้าฟาง คุณจะทำยังไง

..................

-เมื่อไม่รู้ว่า อะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต

ลองเปลี่ยนความกลัวเป็นความเข้าใจต่อความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น และหาวิธีรับมือกับสิ่งเหล่านั้นจะดีกว่าไหม