สันติภาพฤามายา...น้ำตาผู้ลี้ภัย

สันติภาพฤามายา...น้ำตาผู้ลี้ภัย

ชะตากรรมของผู้ลี้ภัยในเมียนมาหลังองค์กรต่างชาติเริ่มตัดความช่วยเหลือด้วยความเชื่อว่าสันติภาพกำลังจะเกิดขึ้น

22.5 ล้านคน คือตัวเลขล่าสุดของผู้ลี้ภัยทั่วโลกตามรายงานของข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ซึ่งแนวโน้มมีแต่จะเพิ่มขึ้น

ในบรรดาประเทศที่ส่งออกผู้ลี้ภัยมากที่สุด เมียนมาอยู่ในอันดับ 7 ของโลก และในจำนวนนี้มีผู้ลี้ภัยชาวไทใหญ่ประมาณ 6,200 คน พวกเขาเหล่านี้ไม่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยตามกฎหมาย

ที่ผ่านมาผู้อพยพในเมียนมาไม่ว่าจะอยู่ในสถานะหรือกลุ่มชาติพันธุ์ใดจะได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ โดยเฉพาะปัจจัยการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน อย่างข้าวสาร อาหารแห้ง และยารักษาโรค แต่หลังจากเม่ียนมามีรัฐบาลพลเรือนในปี 2559 กระบวนการสันติภาพก็ได้เริ่มขึ้นพร้อมกับคำเชิญชวนให้ผู้ลี้ภัยเดินทางกลับถิ่นฐานเดิม ส่งผลให้องค์กรทุนยกเลิกการจัดหาอาหารให้ค่ายอพยพตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 เพื่อสนับสนุนเส้นทางแห่งความหวังนี้

ความจริงหลังค่าย 

ภาพข้าวสารสามสี่ถุงวางอยู่ตรงกลางยุ้งที่ว่างเปล่า ท่ามกลางความอดอยากขาดแคลนของของผู้ลี้ภัยในค่ายแห่งนั้น ถูกฉายขึ้นในงานเสวนาวิชาการเรื่อง ‘สถานการณ์ผู้ลี้ภัย แนวพรมแดนรัฐฉานและประเทศไทย’ ซึ่งจัดโดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

“นี่คือข้าวกองสุดท้าย หลังจากที่ผู้ลี้ภัยถูกตัดความช่วยเหลือ ชาวบ้านเห็นว่ามันไม่เพียงพอที่จะแจกสำหรับคน 2,000 คน ก็เลยไม่ได้เอามาแบ่ง เอาข้าวกองไว้ตรงนั้น”

ลืนหอม สาวไทใหญ่ ในฐานะคณะกรรมการผู้ลี้ภัยไทใหญ่ (ชายแดนไทย) เล่าถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับผู้ลี้ภัยในค่ายอพยพทั้งในและนอกประเทศเมียนมา

ปัจจุบันตามแนวพรมแดนรัฐฉาน-ไทยมีค่ายอพยพทั้งหมด 6 แห่ง มีผู้ลี้ภัยประมาณ 6,200 คน ในจำนวนนี้ 70 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้หญิงและเด็ก ค่ายเหล่านี้เกือบทั้งหมดตั้งอยู่ในฝั่งรัฐฉาน แต่มี 1 แห่งคือ ค่ายกุงจ่อ ตั้งอยู่ในเขตแดนไทย

นับเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วที่ชาวไทใหญ่รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ต้องหลบหนีการกวาดล้างของกองทัพรัฐบาลพม่าออกจากถิ่นฐานบ้านเดิม โดยเฉพาะใน ช่วงปี 2539-2541 มีชาวบ้านในรัฐฉานกว่า 300,000 คน ที่ต้องกลายเป็นผู้อพยพ และด้วยเหตุผลทางการเมืองชาวไทใหญ่เหล่านี้ถูกปฏิเสธสถานะ ‘ผู้ลี้ภัย’

“ผู้ลี้ภัยที่มาจากรัฐฉาน ไม่ได้รับการรับรองให้เป็นผู้ลี้ภัยตามกฎบัตรของสหประชาชาติ ไม่ได้รับรองในที่นี้หมายถึงว่า ไม่มีสถานะที่ถูกต้อง ไม่มีสิทธิที่จะขอไปตั้งถิ่นฐานใหม่ได้ในประเทศที่ 3 อยู่ในเมืองไทยก็ไม่สามารถเข้าสู่การสำรวจตามกฎหมายไทย ทำให้เขาไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน” ลืนหอม กล่าวพร้อมตั้งคำถามว่า

“เมื่อไม่ถูกรับรอง คนสามแสนคนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนเขาไปไหนกัน ก็ทะลักเข้ามาตามชายแดน เช่น ฝาง แม่อาย เชียงดาว สุดท้ายเข้ามาทำงานในสวนส้ม ก่อนย้ายเข้าไปอยู่ในตัวเมืองชั้นในต่อไป”

ปัญหาเก่าถูกนำมาเล่าใหม่ เพราะในวันนี้นอกจากจะยังไม่ได้รับการแก้ไข วิบากกรรมยังซ้ำเติมชาวไทใหญ่ หลังจากองค์กรต่างประเทศประกาศไม่สนับสนุนการจัดอาหารให้ค่ายอพยพทั้ง 6 แห่ง ตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว

ข้าวสารที่เคยประทังชีวิตไปได้ในแต่ละวันเริ่มไม่เหลือ ไม่ต้องพูดถึงโภชนาการด้านอื่นๆ หรือแม้แต่เครื่องนุ่งห่มคลายหนาว และแม้ว่าพวกเขาจะพยายามช่วยเหลือตัวเองแล้ว แต่ความเป็นจริงคือ พื้นที่ตั้งค่ายส่วนใหญ่จะอยู่ในหุบเขาหรือสันเขาสูงชัน ไม่มีพื้นที่ ไม่มีแหล่งน้ำ ยากต่อการเพาะปลูก

“ผู้อพยพหันมาปลูกผักที่ใช้ดำรงชีวิตได้ แต่สำหรับข้าวไม่สามารถที่จะปลูกให้เพียงพอสำหรับคนทั้งหมด นอกจากนั้นก็ยังประสบปัญหาในเรื่องสุขภาพ ขาดแคลนงบประมาณที่จะมาเยียวยารักษา ในเรื่องการศึกษาก็เช่นกัน มีเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบจำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นเด็กกำพร้า” ตัวแทนชาวไทใหญ่เล่าถึงความทุกข์ยากที่หลายคนอาจไม่เคยรับรู้มาก่อน

ทำไมไม่กลับบ้าน

หลังพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของนางออง ซาน ซู จี ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ของเมียนมา เมื่อ พ.ศ.2558 เวลานั้นทั่วโลกต่างเชื่อว่าแสงเทียนแห่งสันติภาพได้ถูกจุดขึ้นแล้ว และหลังจากนั้นไม่นานเมื่อรัฐบาลพลเรือนเริ่มแผนการเจรจากับผู้นำกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นเอชซีอาร์ (UNHCR) ก็ได้จัดการประชุมร่วมกับผู้นำค่ายผู้ลี้ภัยและองค์กรพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวข้องถึงร่างแผนการส่งกลับผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา

แม้ว่าคำเชิญชวนให้ผู้อพยพทั้งในและนอกประเทศกลับบ้านจะดูหอมหวาน แต่ดูเหมือนว่าตัวแทนผู้ลี้ภัยต่างไม่มีความเชื่อมั่นแม้แต่น้อย เพราะสิ่งที่คนในพื้นที่รับรู้ก็คือ หลังจากเริ่มต้นกระบวนการสันติภาพแล้ว การสู้รบยังคงดำเนินต่อไป

“สาเหตุแรกๆ เลยคือ กองทัพพม่ายังคงขยายฐานปฏิบัติการทางทหาร รวมถึงเพิ่มกองกำลังทหารในรัฐฉานอยู่เรื่อยๆ แม้หลังจากที่มีการเลือกตั้งซึ่งนางอองซานได้รับเลือกมา ก็ยังมีการเพิ่มกองทัพภาคเข้าไปในรัฐฉานอีก ชาวบ้านค่อนข้างหวาดกลัว เพราะพวกเขามีอาวุธครบ ชาวบ้านไม่กล้ากลับไปหรอกค่ะ” ลืนหอม กล่าวถึงสถานการณ์ในรัฐฉาน

“แล้วอีกสาเหตุหนึ่งก็คือหมู่บ้านเดิมที่ชาวบ้านถูกบังคับให้ออกจากพื้นที่ถูกทิ้งร้าง เขาไม่กล้ากลับไปอยู่ เพราะไม่รู้ว่ากองกำลังฝังกับระเบิดไว้ตรงไหน กลับไปแล้วจะมีความปลอดภัยไหม แล้วเขาจะต้องไปเริ่มอยู่ตรงไหน อันนี้ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่กล้ากลับไป แล้วบางแห่งก็มีคนเข้ามายึดพื้นที่เดิมแล้ว การกลับไปอยู่ก็จะมีปัญหามาก”

เมื่อไม่มีแนวทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม คำสัญญาว่าจะคืนบ้านที่สงบสุขให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ จึงไร้น้ำหนัก ตรงกันข้ามรัฐบาลเมียนมากลับเดินหน้าเมกะโปรเจคบนพื้นที่ของพวกเขา

“อย่างบนแม่น้ำสาละวิน รัฐบาลพม่าวางแผนว่าจะสร้าง 5 เขื่อน เพื่อผลิตไฟฟ้าบนแม่น้ำสาละวินหรือแม่น้ำคงของเรา และ 3 ใน 5 อยู่ในรัฐฉาน ยังไม่รวมถึงเหมืองแร่ลิกไนต์ขนาดใหญ่ ซึ่งจะนำไปใช้ในโรงไฟฟ้าถ่านหินก็อยู่ในรัฐฉาน ซึ่งแน่นอนว่าถ้ามีการขุดแร่บริเวณนั้นคนในรัฐฉานก็ต้องย้ายออกจากพื้นที่ไปอย่างถาวร ไม่พอยังกระทบกับคนไทยด้วย เพราะบริเวณนี้ถือเป็นต้นน้ำของแม่น้ำกกที่ไหลเข้าสู่ประเทศไทย” 

ในมุมของผู้ลี้ภัยที่อยู่ในประเทศไทย ลุงจายแลง จากค่ายกุงจ่อ กล่าวผ่านวิดีโอของช่างภาพสารคดี วินัย ดิษฐจร ที่เดินทางไปถ่ายทำความเป็นอยู่ของชาวไทใหญ่ ณ ค่ายอพยพแห่งนี้ว่า เขายังไม่มีความมั่นใจหากต้องเดินทางกลับไปบ้านเกิด คิดว่าการอยู่ที่นี่อย่างน้อยเด็กๆ ก็ได้เรียนหนังสือกันทุกคน

“ฝั่งโน้นสันติภาพยังไม่เกิด การสู้รบยังมีอยู่ หมู่บ้านที่จากมามีกลุ่มติดอาวุธบางกลุ่ม ถ้าอยู่ที่โน่นเขาจะเรียกให้ไปทำงาน ทำโน่นทำนี่ให้ หรือว่าเรียกเงิน...”

สำหรับชาวไทใหญ่แล้ว นอกเหนือจากความไม่มั่นใจในสถานการณ์ ความหวาดกลัวที่ฝังอยู่ในใจไม่เคยถูกลบเลือนไป

“ต่อให้ไม่ทำอะไร แค่ใส่ชุดเขียวๆ ยืนถือปืนจังก้าอยู่ แค่นั้นก็น่ากลัวแล้วสำหรับประชาชนชาวไทใหญ่”  อีกหนึ่งเสียงย้ำว่า...นี่คือเหตุผลที่แม้จะอยากกลับบ้าน แต่พวกเขาก็ไม่อาจกลับไป

มายาคติผู้ลี้ภัย

 “หนูอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง เพราะหนูอยากมีเงินเยอะๆ แล้วก็มาช่วยเด็กที่ด้อยโอกาส” คำนุ ลุงนุ เด็กสาวไทใหญ่ ค่ายกุงจ่อ บอกถึงความฝันเล็กๆ ของเธอ

เช่นเดียวกับคนอื่นๆ คำนุ อพยพมาอยู่ในค่ายแห่งนี้เพราะหนีภัยสงคราม ตอนนั้นเธออายุเพียง 2 ขวบ จึงไม่รู้ว่าเกิดเหตุการณ์อะไรบ้าง แต่พ่อแม่เล่าให้ฟังว่ามีทหารของพม่าไล่ยิงต่อสู้กัน และมีการวางระเบิดเลยหนีข้ามมา

และแม้การอยู่ในฝั่งไทยจะรู้สึกปลอดภัยกว่า แต่การไม่สถานะทางกฎหมายก็สร้างความลำบากให้ไม่น้อย

“หนูอยากได้บัตร ได้สิทธิ เพราะว่าถ้าเราเติบโตโดยไม่มีบัตร เราไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องอะไรให้กับตัวเองเลยค่ะ ไม่มีสิทธิในการใช้ชีวิตอยู่เหมือนคนอื่น หลายเรื่องมันมีข้อจำกัดค่ะ”

การไม่มีทั้งสถานะทางกฎหมายในประเทศไทย ไม่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยเหมือนกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ทำให้ชาวไทใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือในหลายๆ ด้าน พุทธณี กางกั้น นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน องค์กร Fortify Rights แสดงความเห็นว่า วันนี้รัฐบาลคงไม่สามารถมองการบริหารจัดการผู้ลี้ภัยแบบเดิมๆ ได้อีก

“การบริหารจัดการผู้ลี้ภัยแบบเดิมๆ คืออะไร เรารับมา แล้วส่งไปประเทศที่ 3 แต่ปัจจุบันประเทศที่ 3 เลือกที่จะรับและลดจำนวนที่จะรับ ส่วนผู้ลี้ภัยก็มีมากขึ้น เพราะฉะนั้นอะไรคือสิ่งที่เป็นไปได้จริงๆ”

ยิ่งไปกว่านั้นการที่ประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย แต่ใช้รูปแบบการบริหารจัดการผู้ลี้ภัยภายใต้คำว่า ‘มนุษยธรรม’ ด้านหนึ่งทำให้ผู้ลี้ภัยถูกมองในแง่ลบ

“มันทำให้ผู้ลี้ภัยเป็นผู้รับ แล้วความรู้สึกของคนในสังคมก็คิดว่า ผู้ลี้ภัยเป็นผู้ขอ ซึ่งจริงๆ ผู้ลี้ภัยเป็นมนุษย์ มนุษย์ที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาตัวเองได้ เพราะฉะนั้นภายใต้ความช่วยเหลือตามมนุษยธรรมเนี่ย มันกลบความช่วยเหลือในเชิงสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐาน เป็นสิ่งที่เขาสมควรได้...

เหตุนี้ รัฐบาลไทยควรคิดเรื่องการบริหารจัดการกลุุ่มประชากรที่เป็นผู้ลี้ภัย รวมทั้งในกรณีฉานซึ่งไม่ได้มีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยด้วย”

และเมื่อมองเลยไปถึงการส่งกลับผู้ลี้ภัยเช่นในกรณีของเมียนมา พุทธนี เห็นว่านานาชาติกำลังตกอยู่ในมายาคติ

“บางทีนานาชาติเข้าใจผิดว่าเมื่อเมียนมามีรัฐบาลพลเรือนแล้ว สถานการณ์ผู้ลี้ภัยหรือสถานการณ์การสู้รบจะดีขึ้น แต่จริงๆ ไม่ใช่ ซึ่งอันนี้ก็เป็นมายาคติที่สำคัญ เป็นอุปสรรคในการที่จะช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ซึ่งรูปธรรมที่ชัดเจนก็คือการถูกตัดความช่วยเหลือ อันนี้เป็นผลอย่างชัดเจนจากมายาคติที่เราคิดว่าเมื่อรัฐบาลพม่าเป็นพลเรือนน่าจะมีความปลอดภัยที่ผู้ลี้ภัยจะกลับไปยังถิ่นฐานเดิมได้”

“มันทำให้รูปแบบการบริหารจัดการผู้ลี้ภัยเปลี่ยนไป เพราะในสถานการณ์ปัจจุบัน UNHCR ก็เชื่อว่าน่าจะพร้อมแล้วที่จะให้ผู้ลี้ภัยค่อยๆ กลับไป แต่ในความเป็นจริงผู้ลี้ภัยไม่สามารถกลับบ้านได้ทุกคน”

เพื่อสะท้อนเสียงของผู้ลี้ภัยที่กำลังเผชิญกับแรงกดดันรอบด้าน และข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเขายังไม่สามารถกลับบ้านได้ นักกิจกรรมชาวไทใหญ่ได้รวบรวมข้อเรียกร้องจากค่ายอพยพทั้ง 6 แห่งหลังถูกตัดความช่วยเหลือ โดยมี ลืนหอม เป็นตัวแทนในการนำเสนอ ด้วยความหวังว่าเสียงอันแผ่วเบานี้จะดังไปถึงประชาคมโลก

 “ข้อเรียกร้องก็คือว่า หนึ่ง ให้ทหารพม่าถอนกองกำลังของตนเองออกจากพื้นที่เดิมที่เขาเคยอยู่ สอง อยากให้นานาชาติที่เคยสนับสนุน เคยให้ความช่วยเหลือด้านข้าวสาร ยังคงสนับสนุนต่อไป เพราะเป็นปัจจัยหลักที่ไม่อาจหาทดแทนได้ 

จนกว่าที่พวกเขาจะสามารถกลับบ้านได้ หรือจนกว่าพวกเขาจะได้รับสันติภาพอย่างแท้จริง”