สถิติล่วงละเมิดเด็กไทยอื้อ จี้ร.ร.เสริมฉลาดรู้เรื่องเพศ

สถิติล่วงละเมิดเด็กไทยอื้อ จี้ร.ร.เสริมฉลาดรู้เรื่องเพศ

เผยสถิติการฟ้องร้องล่วงละเมิดทางเพศระดับนานาชาติช่วง 5 ปี พบเด็กชาย 1ใน 6 เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ ขณะที่เด็กหญิง พบ1 ใน 4 จี้ร.ร.เสริมฉลาดรู้เรื่องเพศ

เมื่อวันที่ 6 ก.พ.2561 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีจุฬาฯ เสวนาครั้งที่ 10 เรื่อง "ปัญหาหรือตัณหา:ธรรมาภิบาลกับเรื่องเพศในโรงเรียนไทย" โดยมี นายอรรถพล อนันตวรสกุล นักวิชาการด้านการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่าสถิติการฟ้องร้องการล่วงละเมิดทางเพศ ตลอด 5 ปี ในระดับนานาชาติ พบว่า เด็กผู้ชาย 1 ใน 6 เคยถูกล่วงละเมิดเพศ และเด็กผู้หญิง1 ใน 4 เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งในส่วนของไทยพบว่า มีปรากฎตามข่าวต่างๆ 53 ราย ทั้งที่ตัวเลขความเป็นจริงมากกว่านั้น เพราะส่วนใหญ่เมื่อเกิดปัญหาดังกล่าว เด็กไม่สามารถพึ่งพาใครได้ ไม่ว่าครู หรือภาครัฐเอง ทำให้มีเด็กที่ตกเป็นเหยื่อเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งมาตรการสังคม การซุบซิบนินทา ถือเป็นการซ้ำเติมเด็กที่ตกเป็นเหยื่อ ส่งผลให้เมื่อเกิดเหตุเด็กมักจะเงียบ ไม่ส่งเสียง

นายอรรถพล กล่าวต่อไปว่า โรงเรียนเป็นสังคมจำลองที่จับต้องได้ของภาคสังคมที่ยังสะท้อนถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจนิยมระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก ความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง ซึ่งยังปรากฎให้เห็น อย่างเช่น เด็กถูกกระทำจากผู้บริหาร เด็กถูกกระทำจากครู ทั้งที่เด็กควรได้รับการดูแลอย่างดีและใกล้ชิดจากสถานที่ที่ได้รับความไว้ใจว่าสามารถปกป้องดูแลฟูมฟักเด็กได้ ขณะเดียวกันเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น ข้อระเบียบของคุรุสภาที่ให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน ก็ตั้งกรรมการเป็นข้าราชการด้วยกันสอบสวนกันเองโดยที่ผู้เสียหายไม่ได้มีส่วนรวมในการสอบสวน แต่กลับถูกให้เก็บเงียบ ไม่มีสัญญาณเชิงบวกที่จะแก้ปัญหาหรือทำให้ข้อเท็จจริงเกิดขึ้นอย่างจริงจัง

"เรื่องนี้ไม่ใช่เพียงการแก้กฎหมายแต่ต้องสร้างค่านิยม วัฒนธรรมในโรงเรียนใหม่ ซึ่งถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง จะกลายเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เป็นปัญหาที่ซุกใต้พรม เรื่องเพศในโรงเรียนแค่การหยอกล้อ กลายเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับกันได้ กระทั่งการถูกเนื้อต้องตัว นัดพบระหว่างครูกับเด็ก เด็กกับเด็ก จนถึงการมีพื้นที่ออนไลน์ หรือพื้นที่ส่วนตัวที่บ้าน เป็นความท้าทายที่ยังค้นหาคำตอบซึ่งกระแสเหล่านี้ยังอยู่ในโรงเรียน และตอนนี้ไม่ใช่เด็กผู้หญิงเท่านั้นที่ถูกกระทำ แต่ผู้ชายถูกกระทำก็มีไม่น้อย เพียงแต่อาจจะยังส่งเสียงออกมาได้น้อยเนื่องจากผู้ชายถูกสอนให้ต้องเข้มแข็ง รวมถึงเด็กกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่น่าห่วงเมื่อเด็กเหล่านี้ถูกกระทำจะกลายเป็นลูกโซ่ที่จะส่งต่อการถูกกระทำเหล่านั้นไปทำกับบุคคลอื่นหรือคนใกล้ตัว"นายอรรถพล กล่าว

S__4587694

ดังนั้น เป็นโจทย์สำคัญถึงกระบวนการจัดการในโรงเรียนที่จะต้องมีการจัดการปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ไม่ใช่เพียงการดำเนินตามกฎกติกาตามกฎหมายที่จะต้องให้ความเป็นธรรมและปกป้องผู้ถูกกระทำ แต่รวมถึงการสร้างค่านิยมในการเคารพสิทธิระหว่างชายหญิง ทำให้เด็กและผู้ใหญ่เป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน ความเท่าเทียมระหว่างชายหญิง และหน้าที่ของครู โดยครูต้องไม่ปล่อยให้เรื่องนี้ซุกใต้พรมอีกต่อไป ครูมีหน้าที่ในการถักทอตัวเครือสังคมในโรงเรียน ครูแนะแนวหรือมีคนที่เข้ามาช่วยครูให้ความรู้ด้านนี้ ครูต้องเป็นผู้สร้างวัฒนธรรมใหม่ในโรงเรียน และต้องมีพ่อแม่เข้ามามีส่วนร่วมด้วย

นางปารีณา ศรีวริชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่าการล่วงละเมิดทางเพศเป็นตัณหาของมนุษย์ ที่ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมและปัญหาทางกฎหมาย ที่ไม่สามารถนำกฎหมายไปใช้ในทางปฎิบัติได้ ซึ่งฐานการทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศในร.ร. แบ่งออกเป็น 4 ประเด็นคือ ข่มขืนกระทำชำเรา ความผิดกระทำชำเรา อนาจาร และพรากผู้เยาว์ มีโทษตามลำดับ ซึ่งถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นได้ว่า กฎหมายเองต้องการที่จะคุ้มครองผู้เยาว์ ดังนั้นจึงกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 258 กรณีที่กระทำต่อผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี แม้จะยินยอมก็ถือว่ามีความผิดชัดเจน กระทำต่อผู้สืบสันดาน ศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแลอยู่ในความควบคุมตามหน้าที่ราชการหรือผู้อยู่ในความปกครอง ในความพิทักษ์หรือในความอนุบาล ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ 1 ใน 3 และถือเป็นความผิดที่ไม่อาจยอมความได้ คดีทางเพศเป็นคดีที่ยากมากในการดำเนินคดี เพราะผู้ถูกกระทำมีความกลัว มีความอาย ที่จะถูกสังคมมองว่าแปดเปื้อน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเด็กเท่านั้น แม้กระทั่งผู้ใหญ่เองก็รู้สึกเช่นนี้ หรือแม้กระทั่งการหาพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดก็ทำได้ยาก เพราะเป็นเรื่องที่เกิดในที่ลับ และเกิดขึ้นในร่างกายเนื้อตัว ซึ่งจะทำให้ง่ายลงก็ไม่สามารถทำได้เพราะการดำเนินคดีอาญาเป็นเรื่องที่กระทบต่อสิทธิมนุษยชน ดังนั้น จึงต้องมีกระบวนการพิสูจน์ความยุติธรรมที่เป็นธรรมทั้งสองฝ่าย

"ตอนนี้สื่อสังคมออนไลน์ ถือเป็นศาลน่ากลัวที่สุด เพราะตัดสินทันที ทั้งผู้ถูกกล่าวหาและผู้ถูกกระทำ เสียชื่อเสียงทันที มีการเปิดเผยตัวตน จึงเป็นเรื่องที่ต้องมาคิดว่า ทำอย่างไรที่จะไม่ให้มีการเปิดเผยตัวตน" นางปารีณา กล่าว

นางจิตติมา ภาณุเตชะ มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง กล่าวว่า การล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียนเกิดขึ้นทุกปีแต่เป็นข่าวเพียง 5% และซุกอยู่ใต้พรม 95% ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทย โดย สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาล่วงละเมิด พบว่า1.ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ 2.เกิดได้ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นที่ลับหรือไม่ และเรื่องที่เกิดขึ้น เด็กส่วนใหญ่จะเล่าให้เพื่อน พ่อแม่ และครูฟัง ซึ่งจุดนี้เป็นจุดสำคัญ ถ้าอยากหาทางออก จะต้องแก้ปัญหาเรื่องนี้ 3.กระทรวงศึกษาธิการไม่มีนโยบายชัดเจน เพราะต่อให้มีศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน(ฉก.ชน.) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ที่เขามาดูแลแต่ก็เป็นภาพรวม ซึ่งทำให้เห็นวิธีการแก้ปัญหาที่ต้องร้องเรียนผ่านส่วนกลาง ก่อนส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปแก้ไขปัญหา ซึ่งอาจจะไม่ทัน และ4.นักเรียน และครูไม่มีความรู้ ความเข้าใจการล่วงละเมิดทางเพศจริงๆ สำหรับการทางออกของปัญหานี้ ต้องเริ่มจากการปูพื้นให้โรงเรียนมีความปลอดภัย และสร้างสังคมที่ยอมรับ ไม่กดขี่ ไม่มีความรุนแรง ต้องทำให้เรื่องเพศ โรงเรียนต้องเป็นพื้นที่สร้างเสริมความฉลาดรู้ในเรื่องเพศให้ได้ ซึ่งโรงเรียนต้องทำ 3 ระบบ คือ 1.ต้องมีหลักสูตรวิชาเรื่องเพศอย่างชัดเจน 2 สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการไม่ล้อเลียน เสริมความรู้ทางเพศ ครูพร้อมฟังเด็ก ไม่ตัดสินเด็กและพร้อมเป็นเพื่อนต่อเด็กได้ และ3.โรงเรียนต้องดึงเครือข่ายผู้ปกครอง ชุมชนต้องร่วมกัน