ปริศนาจากกองกระดูก

ปริศนาจากกองกระดูก

เมื่อหลักฐานก่อนประวัติศาสตร์ไม่ได้ถูกจารึก กระบวนการสืบสาวเรื่องราวนานนับหมื่นปีจึงสลับซับซ้อน กะโหลกและเศษกระดูกที่แตกสลายกลายเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะช่วยไขปริศนา

          ข่าวการค้นพบกะโหลกมนุษย์โบราณเพศหญิงอายุ 13,640 ปีที่อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ถูกกล่าวถึงอย่างตื่นเต้นในระดับโลก แม้กระทั่งวารสารชื่อดัง Antiquity ของประเทศอังกฤษ ยังตีพิมพ์บทความ A Late Pleistocene woman from Thum Lod, Thailand: the influence of today on a face from the past แปลเป็นไทยว่า “ผู้หญิงในสมัยไพลสโตซีนตอนปลายจากถ้ำลอด ประเทศไทย: รูปหน้าคนปัจจุบัน อิทธิพลจากหน้าคนในอดีต” นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยซึ่งอยู่นอกสายตานักโบราณคดีทั่วโลกในแง่มุมเกี่ยวกับมนุษย์โบราณ กลายเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นที่ทั่วโลกกำลังตามหา ซึ่งอาจจะนำไปสู่คำตอบของจุดเริ่มต้นเผ่าพันธุ์มนุษย์!

          งานวิจัยชิ้นสำคัญนี้มี นัทธมน ภู่รีพัฒน์พงศ์ คงคาสุริยฉาย นักวิจัยด้านมานุษยวิทยากายภาพ (กระดูกคน) เป็นผู้รับหน้าที่ไขความลับจากกองกระดูก ใน ‘โครงการวิจัยเรื่องมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์กับพลวัตทางวัฒนธรรมบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน’ ภายใต้การดูแลของ รศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งต่อเนื่องจาก ‘โครงการวิจัยการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์กับสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน’ ซึ่งกำลังคลี่คลายเงื่อนงำอันนิ่งเงียบอยู่ใต้พื้นดินและในโถงถ้ำ พบหลักฐานทางโบราณคดีเก่าแก่ตั้งแต่ 2,000 กว่าปีไปจนถึง 32,000 ปี ที่เพิงผาบ้านไร่ (ตั้งแต่พ.ศ.2544) แหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอด (ตั้งแต่พ.ศ.2545) และแหล่งโบราณคดีถ้ำผีแมนโลงลงรัก (ตั้งแต่พ.ศ.2556-2559)

          หลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมากถูกนำมาปะติดปะต่อ ตั้งแต่ค้นพบโลงไม้ในถ้ำที่คนท้องถิ่นเรียกว่าโลงผีแมน กำลังบอกเล่าเรื่องราววัฒนธรรมการปลงศพของมนุษย์ราว 2,000 กว่าปีก่อน ผ่านโลงไม้ขนาดและรูปทรงต่างๆ กระดูกคนและกระดูกสัตว์ที่พบในโลงไม้ แม้กระทั่งยางรักที่เคลือบผิวด้านนอกของโลงไม้เกิดเป็นลวดลายและมีคุณสมบัติรักษาสภาพไม้

          แหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอดเป็นจุดที่นัทธมนพบร่องรอยหลักฐานสำคัญของคนโบราณสายพันธุ์โฮโม ซาเปียนส์ ซาเปียนส์ (Homo Sapiens Sapiens) ที่เก่าแก่ที่สุด คือ โครงกระดูกจำนวนอย่างน้อย 4 คน หนึ่งในนั้นเป็นโครงกระดูกผู้หญิงที่คาดว่าเสียชีวิตเมื่ออายุประมาณ 25-35 ปี โดยอายุทางวิทยาศาสตร์ระบุว่าเก่าแก่ถึง 13,640 ปี นับเป็นโครงกระดูกเก่าแก่ที่สุดที่ค้นพบบริเวณภาคเหนือ และนับเป็นหลักฐานทางโบราณคดีชิ้นสำคัญของโลก ชิ้นกระดูกกะโหลกศีรษะที่ค้นพบนี้ถูกนำไปประมาณการจำลองเป็นใบหน้า ทำให้เจ้าของกะโหลกที่สูญสลายจากโลกไปนับหมื่นปี กลับมาเผยโฉม (ที่มีความเป็นไปได้) อีกครั้ง โดยความร่วมมือกันของทีมนักโบราณคดีอีก 3 คน คือ ดร.ซูซาน เฮยส์, รศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช และ ศ.ดร.สรรใจ แสงวิเชียร

          ตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรี ปีพ.ศ.2535 ช่วงรอยต่อชั้นปีที่ 1 ขึ้นปีที่ 2 นัทธมนได้มีโอกาสลงพื้นที่ (Field) ในแหล่งโบราณคดีร่วมกับอาจารย์ เป็นครั้งแรกที่ได้เจอกับโครงกระดูกมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ การได้ขุดค้นครั้งนั้นคือความประทับใจแรกที่จุดประกายให้เธอเลือกเดินทางสายนี้

          “พอเห็นปุ๊บก็คิดว่าโครงกระดูกเหล่านี้เคยเป็นคนมีชีวิตอย่างเรา เลยอยากรู้ว่าชีวิตของเขาในอดีตเป็นอย่างไร อยากรู้ว่าเขาเป็นใคร เป็นผู้ชายผู้หญิง นั่นเป็นจุดเริ่มต้นความสนใจด้านนี้ สุดท้ายเลยได้ทำวิทยานิพนธ์เรื่องวิเคราะห์โครงกระดูก ซึ่งในช่วงนั้นงานด้านวิเคราะห์โครงกระดูกยังมีคนจับน้อยมากในประเทศไทย และนักศึกษาโบราณคดีเองก็ไม่ค่อยเอาด้านนี้เพราะหลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องยาก เลยไม่ค่อยมีคนทำมากนัก”

          หลังเรียนจบปริญญาตรีและได้มีโอกาสทำงานในพื้นที่ถ้ำลอดในปีพ.ศ.2545 ได้ไปต่อปริญญาโทในคณะวิทยาศาสตร์โบราณคดีที่ University of Bradford ประเทศอังกฤษ สาขาการศึกษากระดูกมนุษย์และโรคโบราณ เพื่อเพิ่มพูนทักษะความรู้ท่ามกลางความขาดแคลนของนักมานุษยวิทยากายภาพด้านกระดูกคนในช่วงนั้น และเป็นชาวต่างชาติเพียงคนเดียวที่มีโอกาสศึกษาวิจัยในห้องปฏิบัติการเก็บกะโหลกศีรษะมนุษย์ John A Burns Osteology Collection, John A. Burns School of Medicine มหาวิทยาลัยฮาวาย ขณะที่กำลังศึกษาปริญญาเอกหลักสูตรนิติวิทยากระดูก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

          สวนทางกับคนอื่นๆ ที่เลือกสืบค้นโบราณวัตถุซึ่งมนุษย์สร้างขึ้น การค้นหาคำตอบจากร่างกายมนุษย์จึงพิเศษและท้าทาย เพราะต้องการ “อ่านกระดูกคนให้ออก แล้วสร้างเรื่องราวของคนโบราณให้มีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง”

          ในสายงานแบบนี้มีบางอย่างคล้ายแพทย์ เช่น ต้องเรียนวิชากายวิภาคเกี่ยวกับกระดูกทั้งร่าง ทว่าเธอบอกว่าไม่พอ ต้องเรียนเพิ่มเติมเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ข้อต่อ ฯลฯ ซึ่งเป็นโชคดีที่ได้เข้าไปปรึกษาเรื่องวิทยานิพนธ์กับ ศ.ดร.สรรใจ แสงวิเชียร พอเรียนจบ ศ.ดร.สรรใจ จึงเปิดโอกาสให้เข้าไปเรียนวิชา Gross Anatomy (มหกายวิภาคศาสตร์ หรือกายวิภาคศาสตร์เฉพาะส่วน เป็นการศึกษาโครงสร้างทางกายวิภาคที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า) ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์เป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม เพื่อให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของกระดูก เข้าใจร่องรอยต่างๆ บนกระดูกได้ชัดเจน จำเป็นต้องรู้เรื่องกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น เส้นประสาท เส้นเลือด ฯลฯ ที่สัมพันธ์กับกระดูกส่วนต่างๆ

          ขณะที่กำลังเคี่ยวกรำอยู่กับการศึกษา รศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช ซึ่งตอนนั้นกำลังสำรวจถ้ำอยู่ในพื้นที่แม่ฮ่องสอน ได้เรียกตัวนัทธมนให้ไปพบที่คณะโบราณคดี ทั้งที่ยังไม่เคยเจอกันมาก่อน แล้วทาบทามให้ร่วมกันศึกษากระดูกที่ขุดค้นพบจากในถ้ำต่างๆ โดยมีหน้าที่หลัก คือ สำรวจ ขุดค้น วิเคราะห์ เน้นไปที่ชิ้นส่วนกระดูก

          “ตอนมาทำไม่ได้มองว่ามันจะสำคัญหรือไม่สำคัญอย่างไร คือเราแค่ได้ทำสิ่งที่สนใจ สิ่งที่เราชอบก็มีความสุข และการทำงานช่วงแรกๆ ย้อนไปเมื่อสิบกว่าปีนั้นมีทีมที่ใหญ่กว่านี้ มีน้องๆ เข้ามาทำกัน รู้สึกเหมือนเป็นครอบครัว ขุดค้นที่บ้านไร่กับถ้ำลอดอยู่กันเป็นปีๆ ทั้งขุดค้น วิเคราะห์ ต้องใช้เวลามาก

          ตอนทำงานไม่ได้รู้สึกว่ามันสำคัญจนกระทั่งผลที่ออกมา เช่น ผลวิเคราะห์อายุกระดูกที่เพิงผาถ้ำลอด เราไม่คิดว่าจะเก่าขนาดนั้น ทีแรกชาวบ้านมาดูยังบอกว่าใช่หรือเปล่า มีใครมาฆ่าหมกศพไว้แถวนี้หรือเปล่า เพราะมันอยู่ตื้นมาก และตอนนั้นไม่ได้วิเคราะห์ละเอียด”

          จุดที่นัทธมนเล่าคือบริเวณเพิงผาถ้ำลอด ถูกฝังในหลุมตื้นๆ อยู่ในท่างอตัว หันหน้าเข้าเพิงผา สภาพของกระดูกค่อนข้างแหลกเพราะกิจกรรมในสมัยหลัง ส่วนเครื่องเซ่นไหว้ที่พบเป็นเนื้อสัตว์ที่เหลือเพียงกระดูก และมีก้อนกรวดที่อาจใช้เป็นค้อนหินสำหรับทำเครื่องมือหินกะเทาะ

          “ที่ผ่านมาก่อนทำงานที่นี่ก็จะเจอกระดูกจากแหล่งอื่นๆ มีแตกหักบ้าง แต่ยังเป็นโครงอยู่ อย่างน้อยเรายังรู้ว่ากองนี้เป็นของคนเดียวกัน แต่ที่นี่เราไม่รู้ว่ากองนี้มีกี่คน เพราะธรรมชาติของหลักฐานที่โลงไม้ที่เราเจอไม่ได้แยกคนมาให้เรา มาแบบแกงโฮะ ก็ต้องมานั่งแยก ซึ่งมันทำให้เราพัฒนาศักยภาพของตัวเองและความเชี่ยวชาญเรื่องการวิเคราะห์ชิ้นส่วนกระดูกคนที่ไม่สมบูรณ์ก็จากการทำงานที่นี่”

          นัทธมนอธิบายกระบวนการทำงานว่าเมื่อขุดเจอก็ต้องแต่งให้เห็นชัดที่สุดเพื่อจะบันทึกก่อนที่จะนำขึ้นมา ทั้งถ่ายรูป วาดรูป

          “หลักการการขุดค้นทางโบราณคดีมีอยู่ว่าเมื่อไรที่นำของขึ้นจากดินคือได้เคลื่อนย้ายหลักฐานแล้ว เท่ากับเราทำลายหลักฐาน ข้อมูลนั้นจะหายไปในทันที เราจึงต้องบันทึกหลักฐานให้ครบก่อนไม่ว่าจะถ่ายรูป วาดรูป จดบันทึก พอเอาขึ้นมาก็ต้องทำความสะอาดเพราะจะมีดินมีคราบ โดยที่ต้องดูสภาพกระดูกว่าสมบูรณ์แค่ไหน ถ้าแข็งแรงสมบูรณ์ดีเราอาจจะล้างน้ำได้ แล้วตากให้แห้งเราถึงค่อยมาต่อ แต่ถ้ากระดูกเปราะ แตกง่ายเราจะทำความสะอาดแบบแห้ง ใช้แปรงถูเบาๆ เพื่อให้เห็นร่องรอยบนกระดูกชัดขึ้น แล้วนำมาต่อจิ๊กซอว์ ชิ้นไหนต่อด้วยกันได้ก็ต่อ ส่วนไหนที่ขาดหายไปก็จะต้องเว้นไว้ ได้แค่ไหนแค่นั้น”

          หลังจากค้นพบและวิเคราะห์เสร็จ เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าเป็นรูปธรรม ในปีพ.ศ.2558 ร.ศ.ดร.รัศมี จึงติดต่อให้ ดร.ซูซาน แห่งมหาวิทยาลัยวอลลองกอง (Wollongong) ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจำลองใบหน้าคนโบราณ ร่วมทดลองจำลองใบหน้าจากโครงกระดูกดังกล่าว

          ดร.ซูซานใช้เทคนิคการจำลองใบหน้าจากกะโหลก (Facial approximation) แบบ 2 มิติก่อนด้วยการวาดภาพ จากนั้นจึงค่อยๆ เติมกล้ามเนื้อและเนื้อหนังลงไปบนผิวกะโหลก โดยเปรียบเทียบจากแฟ้มภาพประวัติกะโหลกศีรษะของผู้หญิงในยุคเดียวกันจำนวน 720 ตัวอย่างจาก 25 ประเทศทั่วโลกเพื่อหาความเป็นไปได้

          แต่ก่อนหน้านั้น ดร.รัศมีเคยให้ วัชระ ประยูรคำ ประติมากรอิสระทดลองปั้นใบหน้าเป็นแบบ 3 มิติ หรือประติมากรรมลอยตัวโดยอาศัยข้อมูลจากนัทธมนที่เป็นทั้งผู้ขุดค้นโครงกระดูกนี้ วิเคราะห์ และจำลองแบบขึ้นด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์และหล่อเรซินขึ้นมาเบื้องต้นแล้ว ปรากฏว่าใบหน้าทั้งสองแบบแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่ยังละม้ายคล้ายกัน บ่งบอกว่าข้อมูลถูกต้องในระดับหนึ่งทีเดียว

          ใบหน้าจำลองที่ปรากฏคือมีมีโหนกแก้มสูง ดวงตาคล้ายรูปร่างผลอัลมอนด์ขนาดเล็ก ผิวสีน้ำตาล ผมน่าจะเป็นสีดำออกน้ำตาลเหมือนคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก และแอฟริกา แม้จะยังฟันธงไม่ได้ว่าเป็นเชื้อสายใดกันแน่ แต่พอจะเป็นตัวแทนของคนในเขตที่สูงที่เคยอาศัยอยู่ใกล้กับพรมแดนไทย-เมียนมาเมื่อ 13,000 กว่าปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงสิ้นสุดสมัยไพลสโตซีน (Pleistocene Epoch) หรือช่วงสิ้นสุดยุคน้ำแข็ง ผลคือสภาพภูมิอากาศทั่วโลกผันผวน อากาศอบอุ่นขึ้นจนน้ำแข็งขั้วโลกและที่ต่างๆ ค่อยๆ ละลาย ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจนตัดขาดแผ่นดินเป็นส่วนๆ ส่วนความสูงของเจ้าของใบหน้าประมาณไว้ว่า 5 ฟุต นอกจากจะช่วยให้เห็นภาพคนโบราณยุคนั้นโดยประมาณ นักมานุษยวิทยากายภาพคนนี้ระบุว่านี่คือตัวตั้งที่ค้นพบแล้ว เมื่อเจอหลักฐานใหม่ต่อไป ก็จะเชื่อมโยงเกิดเป็นเรื่องราวมากขึ้น กระทั่งอาจสืบสาวไปได้ถึงต้นกำเนิดมนุษย์เลยทีเดียว

          “พอเราได้รู้ว่ามันเก่าขนาดนี้ และเป็นของยุคสมัยที่นักวิชาการโบราณคดีทั่วโลกพยายามตามหาช่วงยุคนี้อยู่ เพราะมันเป็นจุดที่เจอตรงนั้นแล้วข้ามไปเจอตรงโน้น ยังหาจุดเชื่อมต่อไม่เจอ พอมาเจอที่แม่ฮ่องสอนจึงจะเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่จะช่วยเชื่อมโยงให้เราเห็นปรากฏการณ์ของคนยุคนั้นที่อพยพเคลื่อนย้ายจากไหนไปไหน ในอนาคตถ้าเราเจอหลักฐานในยุคนี้เพิ่มขึ้นก็จะช่วยเติมภาพในยุคนี้มากขึ้น”

          กระบวนการล่าสุดซึ่งยังเป็นความพยายามที่ยังไม่สัมฤทธิ์ผลคือหา DNA จากโครงกระดูกของผู้หญิงคนนี้ ถ้าหาได้ก็จะนำไปเทียบกับ DNA ของยุควัฒนธรรมโลงไม้ ซึ่ง DNA ของยุคนั้นกำลังอยู่ในขั้นตอนหาผลจากที่เจอ DNA แล้ว

       แต่เท่าที่สำเร็จก็การันตีได้ถึงความก้าวหน้าทางโบราณคดีจากฝีมือนักโบราณคดีไทยที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก เพราะนอกจากมนุษย์โบราณฮอบบิทที่เคยค้นพบที่อินโดนีเซีย ก็ไม่เคยมีโครงกระดูกของมนุษย์โบราณที่ใดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ถูกนำมาขึ้นรูปหน้า และทำให้เห็นลักษณะทางกายภาพมาก่อน