จี้ 'รมว.พลังงาน' ชัดเจนปมโรงไฟฟ้าถ่านหิน

จี้ 'รมว.พลังงาน' ชัดเจนปมโรงไฟฟ้าถ่านหิน

จี้ "รมว.พลังงาน" พิจารณาแนวทางเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาให้ชัดเจนใน 45 วัน ก่อนระดมพลปักหลักยาว ชี้รัฐเสียเวลาศึกษาอีเอชไอเอ 4 ปี สูญงบกว่า 400 ล้าน

กลุ่มเครือข่ายคนเทพาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มภาคีเครือข่ายต่างๆใน อ.เทพา จ.สงขลา ประกอบด้วยกลุ่มเครือข่ายต่างๆ รวม 66 องค์กร มีสมาชิกกว่า 5 หมื่นคน นำโดย นายพณวรรธน์ พงศ์ประยูร ประธานกลุ่มพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนเทพา ได้นำตัวแทนเครือข่ายฯราว 100 คน ได้เดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาลและกระทรวงพลังงาน เพื่อยื่นหนังสือถึงนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อแสดงจุดยืนขอคนเทพาส่วนใหญ่ที่ยืนยันสนับสนุนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เพราะจะเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ ช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และแก้ปัญหายาเสพติดในพื้นที่

โดยขอเรียกร้องให้กระทรวงพลังงานดำเนินการใน 4 เรื่อง คือ 1.ขอให้บรรจุโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ฉบับใหม่ เพื่อสร้างความมั่นใจต่อคนเทพาในการวางแผนพัฒนาอนาคตของคนเทพาต่อไป

2.ขอให้มีการเร่งรัดดำเนินการพิจารณาผลศึกษารายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(อีเอชไอเอ)สำหรับโรงไฟฟ้าและรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)สำหรับท่าเทียบเรือให้เป็นไปตามขั้นตอนและอนุมัติให้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเดินหน้าโดยเร็วต่อไป

3.ขอให้รับฟังเสียงส่วนใหญ่ที่สนับสนุนอย่างมีเหตุผลด้วยหลักการประชาธิปไตยมากกว่าการรับฟังเสียงคัดค้านส่วนน้อยที่ถูกชักนำและครอบงำจากกลุ่มกรีนพีชและเอ็นจีโอภายรนอกพื้นที่

4.ชาวเทพาพร้อมให้ความร่วมมือและช่วยเหลือรัฐบาลและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่างๆในพื้นที่ให้หมดไป ซึ่งรวมถึงผู้คัดค้านส่วนน้อนในพื้นที่และการเจรจาซื้อที่ดินเพื่อให้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาสามารถเกิดขึ้นได้โดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ เครือข่ายฯ จะให้เวลาภาครัฐพิจารณาแนวทางเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาภายใน 45 วัน ก่อนกลับมาทวงถามคำตอบที่ชัดเจนอีกครั้ง ซึ่งหากมีการยกเลิกไม่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ทางเครือข่ายฯและพี่น้องใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ นราธิวาส ยะลา และปัตตานี ที่จะได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพา พร้อมที่จะเข้ามารวมพลังในกรุงเทพฯ รวมถึงอาจถวายฎีกาต่อไป

อย่างไรก็ตาม ทางเครือข่ายฯ ไม่เห็นด้วยที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานให้ชะลอโครงการโรงไฟฟ้าเทพาไปอีก 3 ปี เนื่องจาก กฟผ.ได้ดำเนินโครงการมากว่า 3 ปี รัฐสูญเสียงบประมาณกว่า 400 ล้านบาท และทุกขั้นตอนเป็นไปตามกฎหมาย โปร่งใส ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ขณะเดียวกันกลุ่มครัวเรือนที่จะถูกย้ายออกจ่กพื้นที่การก่อสร้างโรงไฟฟ้า 119 ครัวเรือน ประกอบด้วย กลุ่มผู้มีเอกสารสิทธิ์ 50 ครัวเรือน และอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ทุ่งเลี้ยงสัตว์ 69 ครัวเรือน ทั้งหมดยินยอมพร้อมที่จะย้ายออกไปอยู่พื้นที่ใหม่ แต่มีอยู่ 5 ครัวเรือนที่ปฏิเสธย้ายพื้นที่

"ชาวเทพาในพื้นที่มีประมาณ 7 หมื่นคน ขณะที่กลุ่มคัดค้านมีประมาณ 70 คน หรือไม่ถึง 1% แต่รัฐบาลกลับฟังเสียงคัดค้านมากกว่า จึงอยากถามว่าประชาธิปไตยอยู่ตรงไหน ดังนั้น หากโรงไฟฟ้าเทพาไม่เกิดขึ้นและรัฐบาลจะไปสร้างโรงไฟฟ้าที่ไหนก็ตาม เครือข่ายฯจะตามไปคัดค้าน หากรัฐบาลจะพิจารณาสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทดแทนถ่านหินนั้น ทางเครือข่ายฯไม่เห็นด้วย เพราะก๊าซฯในอ่าวไทยใกล้จะหมดลง ซึ่งรัฐอาจจะต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ที่มีราคาแพง การขนส่งมีความเสี่ยงและลงทุนหลายหมื่นล้านบาท" นายพณวรรธน์ กล่าว

ขณะที่ นายธีระศักดิ์ จรัสศรีวิสิษฐ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงพลังงาน ได้เป็นตัวแทนกระทรวงพลังงานมารับมอบหนังสือคัดค้าน โดยระบุว่า กระทรวงพลังงานพร้อมรับฟังเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ขณะเดียวกันก็ไม่ทอดทิ้งเสียงส่วนน้อย และจะพยายามให้เข้ามามีส่วนร่วมให้กระบวนการต่างๆของภาครัฐ ซึ่งจะพิจารณาข้อเสนอโดยเร็ว