คาถากันความเสี่ยง สยบเกมค่าเงินร้อน

คาถากันความเสี่ยง สยบเกมค่าเงินร้อน

เกมการค้าที่ยักษ์สหรัฐ กด’ดอลล่าร์อ่อน’สวนทางค่าเงินสกุลอื่น ดัน ‘บาทแข็งค่า’เจ็บหนัก’ผู้ส่งออก’ ต้องงัดสารพัดคาถากันความเสี่ยง จากสงครามค่าเงิน

ภายหลังมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลกอย่างสหรัฐ ขาดดุลบัญชีการค้าหลายประเทศหลายปีติดต่อกัน นอกจาก “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐ จะมีแนวคิดที่จะตอบโต้ประเทศที่ขาดดุลการค้า ล่าสุดได้ลงนามอนุมัติมาตรการปกป้องการค้า (Safeguard) สั่งเก็บภาษีการนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์และเครื่องซักผ้า ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศ(USITC) เพื่อเยียวยาการค้าที่ไม่เป็นธรรม ตามมาตรา 201 โดยมาตรการนี้มีผลบังคับใช้เป็นเวลา 3-4 ปี

มีผลให้ภาษีนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์  และการนำเข้าเครื่องซักผ้าเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศหลักที่ส่งออกสินค้าสองรายการไปยังตลาดสหรัฐ 

ยังคาดการณ์กันว่า จะมีสินค้าอีกหลายรายการที่จะทยอยขึ้นภาษีนำเข้าตามมา เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม และการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อปกป้องผู้ผลิตสินค้าในสหรัฐ

นั้นเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าไทยในปีนี้ ในเปราะแรก เนื่องจากสหรัฐถือเป็นตลาดหลักในการส่งออกสินค้าไทย สัดส่วนกว่า 10% ของภาพรวมการส่งออกทั้งหมด

ทว่า เปราะที่2” ที่ผู้ส่งออกต้องเผชิญในปีนี้ คือค่าเงินบาท” ที่แข็งค่ามากขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ยิ่งหลังจาก นายสตีฟ มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่กรุงดาวอซในการประชุมเวิลด์อีโคโนมิกฟอร์รั่ม ว่า เงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและการค้าสหรัฐ และยังเป็นการสนับสนุนนโยบายอเมริกาต้องมาก่อน (America First)

ภายหลังการให้สัมภาษณ์ดังกล่าว ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วราว 1% ในช่วงเวลาข้ามคืน ขณะที่สกุลเงินอื่นๆ ทั่วโลกแข็งค่าขึ้นทันที โดยค่าเงินบาทเมื่อวันที่  25ม.ค.ปิดตลาดที่ 31.43 บาทต่อดอลลาร์ เป็นระดับแข็งสุดรอบ 4 ปีเศษ โดยระหว่างวันทำสถิติแข็งค่าสุดที่ 31.34 บาทต่อดอลลาร์ ในขณะที่ราคาน้ำมันและทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้น

ขณะที่ตั้งแต่ต้นปี 2560 ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นแล้วกว่า 11.4%  จากค่าเงินบาทที่อยู่ที่ 36 บาทดอลลาร์ ล่าสุดต้นปี 2561 ค่าเงินบาทแข็งค่าอยู่ที่ 31.35 บาทต่อดอลลาร์ และเมื่อเทียบเฉพาะต้นปี 2561 พบว่าในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นกว่า 3%

การแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทไทยส่งผลกระทบให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) โดนคลื่นการค้ากระทบอย่างแรง จากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น บีบ“กำไร”บางลง จนถึงขัั้น“ขาดทุน” หากไม่เตรียมแผนรับมือที่ดีพอ

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก มองสถานการณ์ที่ค่าแข็งค่าว่า เป็น “เกมการค้า” ที่โดนัลด์ทรัมป์ ต้องการทำให้เงินดอลล่าร์อ่อนค่าลงมาเพื่อดึงดูดให้นักลงทุนเข้าไปลงทุนในสหรัฐ

สถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาท ยังไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่“วนกลับ”ไปมาเช่นนี้ 4-5 ปี ขณะที่เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ต้องยอมรับว่า ไม่ค่อยสนใจทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน หรือซื้อเครื่องมือใดๆ เพราะต้องการทำให้ต้นทุนตัวเองต่ำที่สุดให้เกิดความสามารถในการแข่งขัน

รองประธานสรท. แนะวิธีเอาตัวรอดจากการแข็งค่าของเงินบาท ว่าสิ่งที่ต้องทำ“ควบคู่”ไปกับการซื้อประกันความเสี่ยง คือการนำเทคนิคและศิลปะการเจรจาการค้าเข้ามาช่วยให้เอาตัวรอด

วิธีแรก” ต้องยอมเสียหน้าไปเจรจาต่อรองราคากับลูกค้า เพราะทุกๆ เดือนที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นเท่ากับกำไรที่หายไป บางรายอาจจะมองว่าไม่เป็นไรเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อเกิดขึ้นทุกๆ เดือนยิ่งแข็งค่าขึ้น เงินที่หายไปกว่า 10% เท่ากับต้องทำกำไรได้มากกว่า 10% แน่นอนในกลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มย่อมไม่มีปัญหา แต่สินค้าที่ไปแข่งเรื่องราคามีทางออกเดียวเลยคือต้องยอมบากหน้าไปขอเจรจาขึ้นราคากับลูกค้า ไม่เช่นนั้นก็ต้องยอมขาดทุน

“หากไม่อยากขาดทุนเข้าทุนก็ต้องขอขยับราคาใช้สูตรอินเดียในการเจรจาต่อรองให้ถึงที่สุด ยอมเสียน้ำลาย แต่ไม่เสียตังค์ เผื่อลูกค้าให้ขึ้นราคาโดยเฉพาะในกลุ่มที่สินค้าขาดแคลนสูง แต่หากเป็นสินค้าที่ต้องไปแข่งราคากับเพื่อนบ้านก็ต้องยอมเหนื่อยหน่อย”

วิธีที่สอง” สำหรับคนค้าขายในภูมิภาค คือการไปเจรจากับ 3 ประเทศ ประกอบด้วย อินโดนีเซีย จีน และมาเลเซีย เมื่อมีการค้าขายระหว่างกัน ให้ใช้เงินสกุลเหล่านี้แปลงเงินสกุล(Convert) เป็นเงินบาทได้ทันที โดยไม่ต้องแปลงเป็นเงินสกุลดอลลาร์แล้วเปลี่ยนมาเป็นเงินไทย

ข้อดีของการใช้เงินสกุลในประเทศภูมิภาคคือไม่มีการได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะใกล้เคียงกัน และไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการแปลงเงิน

เขาเทียบตารางความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราบาทของไทยเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆ ณ วันที่ 1 ก.พ.2561 เมื่อเทียบต้นปี2560 จนถึงปัจจุบันไทยถือว่าแข็งค่าขึ้นมาถึงอันดับที่ 4 ของโลก รองจากประเทศ สหภาพยุโรป แข็งค่าขึ้น 14% สหราชอาณาจักร แข็งค่าขึ้น 13% และมาเลเซีย แข็งค่าขึ้น 12% ส่วนไทย แข็งค่าขึ้น 11% ในขณะที่คู่แข่งในบางประเทศกลับอ่อนค่าลง อย่าง เวียดนาม เงินดองอ่อนค่าลง 1% 

“บางประเทศค่าเงินแข็งค่ากว่าเรา บางประเทศอ่อนกว่าเรา ต้องหาวิธีการใช้ประโยชน์กับคา่เงินของแต่ละประเทศอย่างไรจากปรากฎการณ์เช่นนี้ เพราะการแข็งค่าก็มีมุมดีตรงที่ซื้อสินค้าได้ถูกลง ทำให้กลุ่มประเทศที่ค่าเงินอ่อนค่าต้องมาต่อรองราคาสินค้า เพื่อขอลดราคา ขณะที่ไทยต้องการขึ้นราคาสินค้า จึงต้องมีการเจรจาเรื่องราคา ที่สามารถต่อรองได้หากไม่สินค้าไทยไม่เจอคู่แข่งกลุ่มสินค้าเดียวกัน”

นั่นคือปรากฏการณ์ที่ไทยจะต้องพิจารณามาเป็นปัจจัยการวางกลยุทธ์และหยิบไปต่อรอง วางแผนการนำเข้าและส่งออก

ช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่า ยังเป็นโอกาสของการรุดซื้อวัตถุดิบในการผลิตมาจำหน่ายได้ราคาถูก เพื่อใช้จังหวะนี้ลดต้นทุนการผลิต ปรับปรุงเครื่องจักร

“การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทน่าจะเป็นตัวเร่งให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี นำเข้าเครื่องจักร ลงทุนปรับเปลี่ยนระบบมาป็นออโตเมชั่นได้รวดเร็วขึ้น เพราะเงินบาทแข็งค่าเป็นแต้มต่อในการซื้อเครื่องจักรและปัจจัยการผลิตได้ต้นทุนต่ำ”

เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนเริ่มมุ่งลงทุนใหม่ เพราะบางอย่างลงทุนได้ในต้นทุนที่ต่ำ ตั้งแต่การนำเข้าวัตถุดิบ นำเข้าเครื่องจักร เป็นช่วงเวลาที่เข้าไปกดดันให้ปรับเปลี่ยนระบบการผลิตสู่ออโตเมชั่น หรือสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้เร็วขึ้น 

++

รู้จักเครื่องมือปิดเสี่ยงค่าเงิน

 สกุล บุญดีสกุลโชค จากสมาคมธนาคารไทย ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ มองเรื่องการแข็งค่าของค่าเงินบาท มักเกิดขึ้นกกลับไปกลับมาภายใน 4-5 ปี แต่ผู้ประกอบไม่สนใจทำประกันความเสี่ยง เนื่องมาจากไม่มั่นใจว่าเงินที่เสียไปจะคุ้มค่ากัน

ที่สำคัญผู้ส่งออกขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs)มักจะคิดว่าการทำประกันความเสี่ยง มักเป็นของผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น ย้อนอดีตที่ผ่านมารายเล็กไม่ต้องการป้องกันความเสี่ยง เพราะยังมีโอกาสจากการทำกำไรเพิ่ม แทนที่จะต้องมาเสียต้นทุนค่าประกันความเสี่ยงในมูลค่าที่สูงกว่า 1%

ทว่า ทิศทางค่าเงินที่เริ่มผันผวนจนเกินกว่า 1%ที่ทำให้ผู้ส่งออกทำการค้าไปหลากหลายภูมิภาค โดยเฉพาะ กลุ่มที่ค้าขายกับประเทศสหรัฐ ค่าเงินดอลล่าร์ นับว่ายิ่งผันผวน จนเริ่มกระทบกำไรที่ผู้ส่งออกควรจะได้รับ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ยิ่งเล็กยิ่งต้องป้องกันความเสี่ยง

“บางบริษัทหากมีบัญชีในต่างประเทศเก็บไว้ สามารถโอนการซื้อสิค้าแลกกลับมาเป็นเงินไปซื้อวัตถุดิบ ป้องกันความเสี่ยงได้ดีที่สุด แต่นั่นสำหรับบริษัทใหญ่ บริษัทเล็กๆ ไม่มีเครื่องมือ และมีการค้าขายกระจัดกระจายจึงต้องมีการทำความเสี่ยงโดยเลือกเครื่องมือให้เหมาะสม”

 อีกเทคนิคหนึ่งที่น่าสนใจคือทำสัญญาซื้อค่าเงินล่วงหน้า (Foreign Exchange Market-Fx forward)ทำสัญญากับธนาคาร (Forward Contract)ในอัตราแลกเปลี่ยนที่พอรับได้ เพื่อซื้อความสบายใจในอัตราที่ผู้ประกอบการรับได้ว่าทำกำไรได้

“เราสบายใจไม่ต้องกังวลทุกเครื่องมือมีข้อดีและข้อจำกัดอยู่ในตัว จึงต้องเลือกให้เหมาะสม”

เพราะการทำประกันความเสี่ยงมีต้นทุน เหมือนประกันรถ เพื่อป้องกัน และทำให้อุ่นใจเมื่อมีไว้ แต่หากไม่เกิดความเสี่ยงขึ้นก็ไม่จำเป็นต้องใช้

“ออฟชั่นการซื้อประกันความเสี่ยงทางการเงิน เป็นทางเลือก เหมือนการซื้อประกัน รถยนต์ ขับไปดีๆ หากรถโดนคนเฉี่ยวชน หากรถเรา อยู่ดีๆ ไม่มีใครมาชน ไม่ต้องใช้ประกัน “

 เขาแนะนำทิ้งท้ายให้ผู้ส่งออกอยู่รอดในภาวะความเสี่ยงทางการเงินยังมีคลื่นลมที่ไม่สงบ สิ่งที่ผู้ส่งออกต้องมาวิเคราะห์คือ 1.การรู้จักตัวเอง ผลิตอะไร ต้นทุนเท่าไหร่ ขายในอัตราแลกเปลี่ยนมูลค่า 1 ดอลลาร์ต่อเท่าไหร่ถึงจะคุ้มค่ามีกำไร 2.ต้องรู้จักประโยชน์ของเครื่องมือแต่ละด้านที่ทั้งจากมาตรการจากภาครัฐและการบริหารจากสถาบันการเงิน และ 3 รู้จักสภาพตลาด แนวโน้ม ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องติดตามสถานการณ์แม้จะไม่ต้องถึงกับเกาะติด 24 ชม. แต่ก็มองเห็นเทรนด์และคาดการณ์ได้ว่าจังหวะใดจะลงและขึ้น

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ได้ว่าสินค้าที่เราจะขายอยู่ที่ตรงไหน สถานการณ์ขายได้เท่าไหร่และแบกรับความเสี่ยงได้ในอัตราค่าเงินที่เท่าไหร่ และเมื่อไหร่จึงถึงเวลาใช้เครื่องมือบริหารความเสี่ยงของค่าเงินผันผวนเนื่องมาจากในโลกการค้าผันผวนและรุนแรงขึ้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเข้าไปทำประกันความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนทีแม้จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นแต่ยังต่ำกว่าอัตราความผันผวนที่สูงมากขึ้น

 วชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เล็งเห็นถึง เครื่องมือที่มาช่วยให้ปิดความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนทางการเงิน เพื่อรับมือกับเงินบาทผันผวนเกิดขึ้นทุกวันจนยากที่จะคาดการณ์ทิศทางผู้ส่งออกจึงต้องศึกษาและทำความเข้าใจเครื่องมือทางการเงิน เพื่อบริหารความเสี่ยง จากอัตราแลกเปลี่ยน

“แต่ละประเทศภูมิภาคมีการแข็งค่าไม่เท่ากันจึงต้องมีการบริหารความเสี่ยงและกำหนดสินค้าตลาด และราคาให้ชัดเจน”

ผู้ช่วยผู้ว่าการฯ ได้แนะนำทางเลือกในการบริหารเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 4 เครื่องมือ คือ 1.การใช้เครื่องมือทางการเงิน เช่นForward ,FuturesและOptions

โดยForward 8nvคือการซื้อ-ขายล่วงหน้า เช่น เมื่อส่งออกไป แล้วเอาดอลลาร์มาขายธนาคาร โดยซื้อสัญญาณ ที่วางเงินรายได้จากการขายสินค้าที่ 1 ดอลลาร์ต่อ 31.5 บาท ณ ราคาปัจจุบัน แต่หากในอีก และเมื่อได้รับเงินมาก็สามารถแลกคืนได้ ในอัตราเดิม ที่เรียกว่า ล็อกเรท

หรือ ที่ผู้ส่งออกนิยมใช้อีกด้านคือFX optionsคือการล็อกเรทไว้ที่ 31.5 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ แต่เมื่อถึงวันที่เก็บเงินจากลูกค้าแล้ว หากค่าเงินสวิงไปอยู่ที่ 32.5 บาท ภายใน 2-3เดือนก็สามารถเลือกเรทที่พอใจได้

หรือการซื้อล่วงหน้า(Futures)ส่วนใหญ่เป็นรายใหญ่มักเปิดบัญชีเป็นดอลาร์สหรัฐ ถึงวันนำเข้า ก็เอาเงินดอลลาร์เข้าบัญชี เพื่อรอให้อัตราแลกเปลี่ยนพอใจ

 “โดยมาตรการคงอัตราแลกเปลี่ยน(ล็อคเรท) เมื่อรู้ว่าอีก 3 เดือนข้างหน้าจะมีอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเท่านี้ก็ไปทำการวาง เพื่อที่จะรู้ต้นทุนชัดเจนหรือการซื้อสิทธิการใช้อัตราแลกเปลี่ยนไว้เพื่อความมั่นใจโดยเวลาการใช้ โดยมีทางเลือกไม่ต้องใช้สิทธิได้หากอัตราแลกเปลี่ยนนั้นอ่อนค่าลง “

2.การอัตราการนำเข้าและส่งออก ไว้เพื่อหักลบกลบรายได้หรือNettingรายรับหรือรายจ่ายFXกับคู่ค้าเดียวกันหรือคู่ค้าหลายราย

3.การใช้เงินบาทหรือเงินสกุลคู่ค้าหลักอื่นๆ เช่น เยน ยูโร รวมถึงเงินสกุลท้องถิ่นในการกำหนดราคาและรับชำระหรือจ่ายค่าสินค้า

4.การเปิดบัญชีเงินฝาก เงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Deposit:FCD)

ที่ผ่านมาธปท. ได้ส่งเสริมมาตรการเพื่อช่วยให้ผู้ทำการค้าได้บริหารความเสี่ยง โดยการผ่อนคลายFX Regulationsเพื่อให้เกิดความคล่องตัวและบริหารความเสี่ยง และยังส่งเสริมให้จัดตั้งUSD Futuresส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนรวมกับสถาบันการเงินและภาครัฐ

ล่าสุดมีมาตรการFXของSMEsเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบริหารความเสี่ยง โดยมีงบประมาณ 150 ล้านบาทเปิดใช้บริการทดลองใช้รายละ 30,000 บาท ในวงเงินยอดซื้อสินค้า 3 ล้านบาท เพื่อจูงใจให้เอสเอ็มอีหันมาใช้บริการ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีเอสเอ็มอีเข้ามาใช้บริการครบวงเงิน แต่เริ่มมีคนสนใจมากขึ้นจึงขยายวงเงินไปเพิ่มเป็น 500 ล้านบาท ถึงเดือน มิ.ย.2561