‘เวิร์กเดย์’หนุนใช้'ดาต้า'ลับคมองค์กร

‘เวิร์กเดย์’หนุนใช้'ดาต้า'ลับคมองค์กร

งานเสวนาหัวข้อ “Engaging Thailand's Future Workforce” จัดโดย เวิร์กเดย์ ผู้นำด้านโซลูชั่นคลาวด์ระดับองค์กรสำหรับการบริหารการเงินและทรัพยากรบุคคล ในโอกาสเข้ามาเปิดตัวธุรกิจในไทยอย่างเป็นทางการ

วิทยาการผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคลเข้าร่วมสะท้อนแนวทางการปรับตัวเพื่อดึงดูดกลุ่ม “ทาเลนท์” หรือพนักงานที่มีความสามารถสูง ภายใตับริบทของ “ช่องว่างของวัย” ที่ในองค์กรมีทั้งพนักงานในกลุ่มมิลเลนเนียลส์ และคนวัยใกล้เกษียณที่ต้องทำงานร่วมกัน

เดวิด โฮป ผู้จัดการใหญ่ บริษัทเวิร์กเดย์ เอเชีย แปซิฟิค กล่าวว่า แนวโน้มที่เป็นความท้าทายขององค์กรคือ การบริหารจัดการคนในองค์กรที่มีทั้งมิลเลนเนียลส์และวัยเกษียณในที่ทำงานเดียวกัน โดยต้องทำให้ทุกกลุ่มยังมีแรงจูงใจและพึงพอใจทำงานให้บริษัทต่อไป โดยเฉพาะกลุ่มพนักงานที่เป็น “ทาเลนท์” ซึ่งควรจะมีวิธีการออกแบบแพ็คเกจการตอบแทนที่แตกต่างตามความต้องการของแต่ละคน

ทั้งนี้ เนื่องจากอัตราการบริหารธุรกิจให้ประสบความสำเร็จนั้น ปัจจัยสำคัญกว่า 70% มาจากการบริหารทรัพยากรบุคคลที่ดี ซึ่งในปัจจุบันการมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยติดตามการทำงานและประเมินผล ทำให้องค์กรช่วย “ระบุตัว” พนักงานที่มีศักยภาพ รวมถึงการประเมินว่า พนักงานคนใดยังมีความเสี่ยง และชี้ให้เห็นว่าต้องเร่งปรับปรุงแก้ไขอย่างไร ถือเป็นตัวช่วยที่ทำให้ประสบความสำเร็จได้มากขึ้น อีกทั้งช่วยลดค่าใช้จ่ายลงจากวิธีเดิมด้วย

“ข้อมูล (Data) จะเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังมากที่สุด หรือมีค่าเปรียบเป็นขุมน้ำมันแห่งโลกยุคใหม่ โดยเฉพาะในยุคของดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน ที่องค์กรต่างๆ หันมาใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ระบบจัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์ มาใช้ ที่ทำให้ทุกคนในองค์กรเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา และทำให้นายจ้างสามารถติดตามศักยภาพและตัดสินใจทางธุรกิจได้ทันที”

ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและประธานสายวิชาการบริหารจัดการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ กล่าวว่า ความท้าทายขององค์กรในการมีพนักงานในช่วงวัยมิลเลนเนียลส์คือ การสร้างแรงจูงใจให้อยู่กับองค์กรระยะยาว เพราะจากผลสำรวจจากทั่วโลกพบว่า คนกลุ่มนี้จะอยู่ทำงานระยะยาวเพียง 2 ใน 3 เท่านั้น และอายุงานเฉลี่ยคือไม่เกิน 5 ปี ดังนั้น หากเทียบให้เห็นภาพ พนักงานมิลเลนเนียลส์ 70% พร้อมจะลาออกอย่ารวดเร็ว ส่วนอีก 30% แม้ยังไม่ลาออก ก็จะแสวงหางานใหม่อยู่ต่อเนื่อง

ความท้าทายอีกขั้นคือ ช่องว่างของวัยในประชากรที่มีสูงขึ้น ทำให้องค์กรขาดคนที่มีทักษะความชำนาญ การต่ออายุหลังเกษียณให้กับพนักงานระดับอาวุโสจึงเพิ่มขึ้น สถานการณ์เปลี่ยนไปจาก 10 ปีที่แล้วซึ่งเวลานั้นคนในวัยเกษียณอาจจะไม่ได้รับการใส่ใจ ถูกมองว่าเปลี่ยนงานไม่ได้ แต่ในปัจจุบันตลาดแรงงานยังคงต้องการคนเหล่านี้สูง

ดังนั้น สิ่งที่องค์กรต้องปรับการบริหารอย่างมากคือ หันมาสร้างแบรนด์ด้านการเป็นองค์กรที่มีการบริหารบุคคลที่ดี ซึ่งในต่างประเทศเริ่มมีการทำอย่างแพร่หลายแล้ว และในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา เริ่มเห็นการขยับตัวของธุรกิจไทยในด้านนี้มากขึ้น และเริ่มครอบคลุมกลุ่มเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ ซึ่งพยายามล้างภาพลักษณ์ธุรกิจครอบครัว ซึ่งเคยเป็นอุปสรรคให้กับพนักงานที่มีความสามารถ ไม่กล้าเข้าไปทำงานเพราะห่วงว่าจะไม่มีเส้นทางอาชีพก้าวหน้า

“ทุกวันนี้ลูกจ้างจะมองหาบริษัทที่มีแบรนด์นายจ้างที่ดีมากขึ้น มองหาแพ็คเกจค่าตอบแทนที่น่าสนใจมากขึ้น ดังนั้นการปรับตัวของบริษัทในเรื่องของการบริหารทรัพยากรบุคคลจึงสำคัญขึ้น เพราะสิ่งนี้จะช่วยดึงศักยภาพที่แตกต่างของแต่ละบุคคลออกมา และส่งผลดีต่อขีดความสามารถในการทำงาน และเพิ่มพูนผลตอบแทนที่ดีให้บริษัท”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีเข้ามาตอบสนอง และคนรุ่นใหม่เข้าถึงได้ง่าย ไม่มีอุปสรรคเช่นคนรุ่นเก่า แต่สิ่งท้าทายอีกขั้นที่นายจ้างต้องรับมือคือ การแก้ปัญหาคนรุ่นใหม่ขาด Self Learning ไม่ยอมใช้เทคโนโลยีเข้าถึงความรู้ที่ควรจะมี ซึ่งเป็นปัญหาโดยรวมของวัฒนธรรมองค์กรในประเทศแถบเอเชียทั้งหมด ขณะเดียวกันก็ยังมีปัญหาใหญ่ระดับประเทศคือ การผลิตบุคลากรที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการในระบบเศรษฐกิจ ทำให้ที่ผ่านมามีอัตราเด็กจบใหม่กว่า 16% ตกงานจากการเรียนในหลักสูตรที่ไม่มีเนื้อหาตอบสนองวิชาชีพเฉพาะที่กำลังต้องการ เช่น ไม่มีสาขาเฉพาะท่องเที่ยว, หรือเฮลท์แคร์ ที่กำลังขยายตัวอย่างมากในขณะนี้

ด้าน วิไลพร ทวีลาภพันทอง หัวหน้าหุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการจูงใจคนวัยมิลเลนเนียลส์ เพราะคนกลุ่มนี้ใช้งานในชีวิตประจำวันเป็นปกติ และคาดหวังให้ที่ทำงานมีระบบที่สะดวกและคุ้นเคยเช่นกัน

ขณะเดียวกัน การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ก็เป็นประโยชน์ต่อองค์กรในแง่การช่วยวิเคราะห์ศักยภาพบุคลากรได้ดีขึ้น และนำไปสู่การปรับแผนนำเสนอแพ็คเกจสิทธิประโยชน์ หรือเส้นทางในอาชีพที่แตกต่างกันไปของแต่ละคน โดยเฉพาะการใช้ระบบคลาวด์ในการบริหารทรัพยากรบุคคล ที่จากการสำรวจทั่วโลกพบว่า 73% นำมาใช้ตั้งแต่การจัดหา, ว่าจ้าง ไปจนถึงการฝึกอบรมเพิ่มประสิทธิภาพ

“การบริหารคนจะใช้แค่คอมมอนเซนส์ไม่ได้แล้ว แต่ข้อมูลจะมีผลในการช่วยวิเคราะห์และบริหารจัดการอย่างมาก เริ่มตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงานและตลอดกระบวนการพัฒนาพนักงานให้มีประสิทธิภาพต่อไป”

ด้าน ดร.สาธิต วิทยากร ประธานคณะกรรมการ บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด กล่าวว่า ลงทุนราว 10 ล้านบาทในการนำระบบของเวิร์กเดย์มาใช้ เพื่อรองรับธุรกิจโรงพยาบาลที่มีอยู่แล้วและแห่งใหม่ที่กำลังเตรียมลงทุนเพิ่ม โดยความท้าทายของธุรกิจด้านสุขภาพจะต่างจากองค์กรอื่นคือ แม้ไม่มีอัตราการเปลี่ยนงานสูง แต่ต้องหาวิธีให้พนักงานระดับอาวุโสมีพฤติกรรมคุ้นเคยเทคโนโลยีเหมือนกลุ่มมิลเลนเนียลส์มากขึ้น ดังนั้น จึงเริ่มมองหาโซลูชั่นด้านการบริหาร ที่จะสามารถให้พนักงานเข้าถึงและใช้งานระบบเอชอาร์ได้จริงในชีวิตประจำวัน เพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว

ทั้งนี้ เวิร์กเดย์ มีบริษัทระดับโลกที่เป็นลูกค้าในไทยกว่า 200 ราย เป็นผู้นำเสนอบริการด้านการบริหารจัดการทุนมนุษย์ การจัดการการเงิน และแอปพลิเคชันวิเคราะห์ข้อมูลสู่ตลาดใหม่ๆระบบคลาวด์ 100% นับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2548 โดยมีแบรนด์ธุรกิจชั้นนำเข้าร่วม อาทิ อะเมซอน, ฮิตาชิ, นิสสัน, อะโกด้า และสามารถดึงดูดกลุ่มธุรกิจกลุ่มที่มีแนวคิด Disruption เข้ามาเปลี่ยนโฉมธุรกิจเดิมๆ ด้วยการใช้ดิจิทัลจำนวนมาก เช่น เน็ตฟลิกซ์ และ แกรบ เป็นต้น