ผบ.ทบ.ร่วมกิจกรรมพาคนกลับบ้าน 288 คน

ผบ.ทบ.ร่วมกิจกรรมพาคนกลับบ้าน 288 คน

ผบ.ทบ. ลงพื้นที่จ.ยะลาเข้าร่วมกิจกรรม “คืนรักสู่ครอบครัว” โครงการพาคนกลับบ้านเผยผู้กลับใจจำนวน 288 คน

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 2 ก.พ.61 ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานีพลเอกเฉลิมชัย สิทธิสารท ผู้บัญชาการทหารบกได้เดินทางลงพื้นที่ เพื่อเป็นประธานกิจกรรม คืนรักสู่ครอบครัวในโครงการพาคนกลับบ้านที่ทางพล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 ได้เปิดโอกาสให้บุคคลที่เคยต่อสู้กับรัฐด้วยวิธีรุนแรงกลับมาร่วมกันแก้ปัญหาด้วยแนวทางสันติ เป็นการโดดเดี่ยวกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงให้มีศักยภาพลดลง โดยผู้บัญชาการทหารบก ได้เข้ารับฟังบรรยายสรุปของโครงการ ก่อนที่จะเดินทางไปยัง ศาลาพิณประเสริฐเพื่อเข้าร่วมพิธี รับรายงานตัว รับมอบอาวุธคืนจากตัวแทนผู้หลงผิด และกล่าวปฎิญานตนของผู้หลงผิดที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 288 คน ว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบ

สำหรับการจัดกิจกรรม คืนความรักสู่ครอบครัว ในครั้งนี้ เป้าหมายหลักที่มาร่วมโครงการ เป็นผู้กลับใจจำนวน 288 คน โดยแบ่งเป็นผู้กลับใจของปี 2560 จำนวน 127 คน ของปี 2561 จำนวน 161 คน มี ตัวแทนญาติครอบครัวละ 2 คน มีผู้ท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา ที่ผู้กลับใจอยู่มาร่วมด้วย และพี่น้องชาวไทยพุทธ และผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย รวมมวลชนทั้งหมด 1,200 คน

พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 เปิดเผยว่า สำหรับโครงการพาคนกลับบ้าน ได้กำหนดนโยบาย เน้นเชิงคุณภาพ ในการดำเนินการเพื่อป้องกันการเข้ามาของผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องหรือแสวงประโยชน์ ต้องการให้ผู้ก่อเหตุรุนแรงตัวจริง เสียงจริง รายงานตัวพร้อมอาวุธปืนและยุทธภัณฑ์ โดยได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินการในปี 2561 ไว้ 5 กลุ่ม แบ่งเป็นกลุ่มที่มีชื่อตามระบบฐานข้อมูล 3 กลุ่มประกอบด้วย กลุ่มหมาย ป วิอาญา,กลุ่มหมาย พรก. และกลุ่มไม่มีหมาย แต่มีชื่อในระบบฐานข้อมูล ส่วนกลุ่มนอกระบบฐานข้อมูล คือ กลุ่มที่มีหลักฐานกล่าวพาดพิง จากการซักถาม และกลุ่มที่หน่วยให้การเพ่งเล็งหรือ ให้ความสำคัญ แบ่งการดำเนินการเป็น 6 ขั้นตอน
คือ ขั้นตอนที่ 1 เป็นขั้นตอนการรณรงค์สร้างความเข้าใจ ซึ่งเป็นเรื่องของ ทุกส่วนราชการที่ต้องรับไปดำเนินการ ตั้งแต่ระดับจังหวัดถึงระดับอำเภอ ขณะเดียวกัน ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ผู้นำศาสนา ต้องมีส่วนร่วม ซึ่งในปีนี้ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้เพิ่มให้ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความเข้าใจ
ขั้นตอนที่ 2 เป็นขั้นตอนการรับรายงานตัวและปรับทัศนคติ ซึ่งกรอบในการดำเนินงานกลุ่มนี้ จะให้ความสำคัญในกรอบกลุ่มเป้าหมาย ที่มีชื่อในระบบฐานข้อมูลหมาย พรก.,หมาย ป วิ อาญา ขณะเดียวกันระหว่างการอบรมปรับเปลี่ยนทัศนคติ เราได้พาไปดูงานหมู่บ้านปิยะมิตรของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย

“ขั้นตอนที่ 3 เป็นขั้นตอนการปลดเปลื้องพันธะทางกฎหมายและอำนวยความสะดวกเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมขั้นตอนที่ 4 เป็นขั้นตอนการขับเคลื่อนชมรมพาคนกลับบ้าน โดยได้จัดตั้งไว้แล้ว 37 ชมรม อำเภอละ 1 ชมรมขั้นตอนที่ 5 เป็นขั้นตอนการส่งเสริมอาชีพและการฝึกอาชีพ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สามารถดำรงชีวิตได้อยู่อย่างปกติสุข และขั้นตอนที่ 6 เป็นขั้นตอนเมื่อกลับสู่ภูมิลำเนา จะมีการควบคุม และดึงมาช่วยกันสร้างสังคมให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป” มทภ. 4 กล่าว