'นอนออยล์' สปอร์ตไลท์ PTG

'นอนออยล์' สปอร์ตไลท์ PTG

'นอนออยล์' ดาวเด่นส่งเงินเข้าบ้าน หลัง 'พีทีจี เอ็นเนอยี' เลือกโฟกัสเต็มสูบ 'พิทักษ์ รัชกิจประการ' ผู้ก่อตั้ง ปักธงสัดส่วนรายได้แตะ 60% แซงหน้าธุรกิจน้ำมันภายในปี 2565 เหตุธุรกิจเดิมมีความเสี่ยงหลักที่ควบคุมไม่ได้...!

แม้ผลประกอบการงวด 9 เดือน ปี 2560 ของ บมจ. พีทีจี เอ็นเนอยี หรือ PTG ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ออกมาไม่โดดเด่น สะท้อนผ่าน 'ตัวเลขกำไรสุทธิ' 674.41 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 12% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 766.82 ล้านบาท 

ในแง่ของราคาหุ้น PTG พบว่าตั้งแต่ต้นปี 2560 ราคาหุ้นปรับตัวลดลงเฉลี่ยแล้ว 32.1% หากเทียบราคา 'สูงสุด' 33 บาท (เมื่อวันที่ 5 ม.ค.2560) และราคา 'ต่ำสุด' 15.70% (เมื่อวันที่ 8 ส.ค.) ราคาเฉลี่ย 22.10 บาท

ทว่าพิจารณาสตอรี่ที่อาจช่วยผลักดันฐานะการเงินและราคาหุ้น ทำให้พอเห็นภาพว่า เหตุใดที่ผ่านมาหุ้น PTG จึงกลายเป็นขวัญใจของ 'นักลงทุนรายใหญ่' สะท้อนผ่านการเข้าถือหุ้นของขาใหญ่ โดยเฉพาะ 'ประชา ดำรงสุทธิพงศ์' ถือหุ้นสัดส่วน 40,600,000 หุ้น คิดเป็น 2.43% 'พะเนียง พงษธา' จำนวน 37,096,900 หุ้น คิดเป็น 2.22% และ 'นพ.พงศ์ศักดิ์ ธรรมธัชอารี' จำนวน 18,168,100 หุ้น คิดเป็น 1.09%  เป็นต้น (ตัวเลขวันปิดสมุดทะเบียน 10 มี.ค.2560)

'พิทักษ์ รัชกิจประการ' ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. พีทีจี เอ็นเนอยี หรือ PTG เล่าแผนธุรกิจปี 2561 ที่จะช่วยผลักดันธุรกิจเติบโตให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า อุปสรรคสำคัญในการดำเนิน 'ธุรกิจน้ำมัน' นั่นคือ 'ค่าการตลาด' ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้  ตามความผันผวนของราคาน้ำมันดิบโลก ดังนั้น เราคงฝากชีวิตไว้กับธุรกิจดั้งเดิมอย่างเดียวไม่ได้แล้ว จึงเป็นที่มาของการหันไปเพิ่มน้ำหนักใน 'ธุรกิจผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่น้ำมันเชื้อเพลิง' (Non-fuel Product) 

'ปัีมน้ำมันมีความเสี่ยงค่าการตลาดที่เราควบคุมไม่ได้ เราคงฝากชีวิตไว้กับน้ำมันอย่างเดียวไม่ไหว ฉะนั้น ต้องมาคิดว่าเราต้องทำธุรกิจไม่ใช้เจอปัญหาแบบนี้อีก จึงเป็นจุดกำเนิดธุรกิจนอนออยล์' 

ตามแผนธุรกิจ 5 ปี (2561-2565) ตั้งเป้าธุรกิจ 'นอนออยล์' มี 'อัตราส่วนความสามารถในการทำกำไร' (Profitability Ratios) เพิ่มเป็น 60-70% จากปี 2560 อยู่ที่ 10% ขณะที่สัดส่วนรายได้จะเป็น 60% จากปี 2561 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 20%  ส่วนที่เหลืออีก 40% เป็นรายได้ธุรกิจค้าน้ำมันเชื้อเพลิง 

เมื่อเจาะลึกถึงวิธีการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย เขา ย้ำว่า ปัจจุบันธุรกิจหลักของ PTG แบ่งเป็น 2กลุ่ม ได้แก่ 'ธุรกิจน้ำมัน' และ 'ธุรกิจกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน' (นอนออยล์) โดยเขาตั้งเป้าว่าภายในปี 2565จะขยายปั้มน้ำมัน PT เพิ่มเป็น 4,000 สาขา จากปลายปี 2560 มีอยู่ 1,700 สาขา หรือเปิดสาขาไม่น้อยกว่าปีละ 350-400 สาขา เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ทุกอำเภอของเมืองไทย 

สำหรับ พื้นที่ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล บริษัทเริ่มรุกเจาะพื้นที่ดังกล่าวตั้งแต่ปี 2559 สอดคล้องกับนโยบาย 'ป่าล้อมเมือง' ของบริษัท เพราะช่วงแรกต้องการให้คนในกทม.และพื้นที่ใกล้เคียงรู้จักแบรนด์ PT ก่อนเวลาเดินทางออกไปในต่างจังหวัด และมั่นใจกล้ามาใช้บริการ เนื่องจากตลาดกทม.และปริมณฑลเป็นตลาดใหญ่มีการบริโภคน้ำมันถึง 32% ของประเทศ 

ปัจจุบันมีปั้มน้ำมัน PT ในพื้นที่กทม.และปริมณฑลจำนวน 100 กว่าสาขา ตั้งเป้าในปี 2563 จะขยายครบทุกพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นการลงทุนและบริหารงานโดยบริษัทเอง สำหรับการขยายสาขาเกือบทั้งหมดจะอยู่ในพื้นที่ของปั้มน้ำมันแบรนด์อื่นที่ไม่ได้มีการต่อสัญญา ซึ่งบริษัทก็จะเข้าไปเช่าพื้นที่ต่อและทำการปรับปรุงใหม่ (Renovate) 

แม้ว่าการเปิดสาขาในกทม.จะต้องเสียค่าเช่าพื้นที่สูงกว่าต่างจังหวัด แต่แลกมาด้วยราคาขายน้ำมันต่อลิตรที่สูงกว่า รวมทั้งรายได้จากธุรกิจอื่นๆ ภายในปั้มด้วย แต่สิ่งสำคัญคือบริษัทต้องการสร้างแบรนด์ PT ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับมากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมการเติมน้ำมันของคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังยึดติดกับแบรนด์เบอร์ 1 ของเมืองไทย 

'เมืองไทยเปรียบเหมือนไข่ดาว ตอนนี้ไข่ขาวเป็นเหมือน 73 จังหวัด แต่ไข่แดง นั่นคือ กรุงเทพฯ ,นนทบุรี ,ปทุมธานี และสมุทรปราการ ล่าสุดรอบนอกไข่แดงเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเขียวบ้างแล้ว แต่กทม.คาดว่าในปี 63 จะมีครบ 48 เขต ที่อนุญาตให้เปิดปั้มน้ำมันได้' 

เขา บอกว่า ภาพรวมยอดขายน้ำมันทั่วประเทศปีนี้น่าจะเติบโต 'ราว 3%' ลดลงจากช่วง 2-3 ปีก่อน ที่มีการบริโภคเติบโตระดับ 7-9% จากปัจจัยบวกมาตรการรถยนต์คันแรกและราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ประมาณ 6% จากจำนวนปั้มน้ำมันทั่วประเทศราวๆ 24,000 แห่ง และตั้งงบลงทุนในการขยายสาขาใหม่ปีละ 3-3.5 พันล้านบาท หรือเฉลี่ยสาขาละ 5-6 ล้านบาท ในการปรับปรุงปั๊มที่มีพื้นที่อยู่แล้ว 

สำหรับธุรกิจ 'นอนออลย์' ประกอบด้วย ร้านสะดวกซื้อ ภายใต้ชื่อ PT Mart และ Max Mart และร้านกาแฟพันธุ์ไทย ซึ่งเปิดให้บริการภายในปั้มน้ำมัน PT ปัจจุบันมีทั้งหมดประมาณ 150 สาขา และบริษัทตั้งเป้าที่จะเปิดสาขาใหม่ปีละ 200 สาขา รวมทั้งมีแผนนำเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในปี 2563 

นอกจากนี้ในปีที่ผ่านมาบริษัทได้เข้าซื้อกิจการของบริษัท จี เอฟ เอ คอร์ปอเรชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ จีเอฟเอ ซึ่งเป็นเจ้าของร้านอาหารและเครื่องดื่มอย่าง Coffee World, Cream & Fudge, New York 5th Av. Deli, Coffee World Restaurant และ Thai Chef Express ด้วยเงินลงทุน 205 ล้านบาท ถือเป็นการขยายธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มออกไปนอกพื้นที่ปั้มน้ำมันไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า , คอมมูนิตี้มอลล์ และสนามบิน ซึ่งจะช่วยขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ และสร้างรายได้เพิ่มให้กับธุรกิจนอนออยล์

ส่วนธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่ใช่ร้านอาหารและเครื่องดื่ม บริษัทได้เข้าร่วมทุนกับกลุ่มออโต้แบคส์ เซเว่น จากประเทศญี่ปุ่น เพื่อเปิดศูนย์บริการและซ่อมบำรุงรถยนต์ 'AUTOBACS' ในประเทศไทย ภายใต้บริษัท สยาม ออโต้แบคส์ จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 38.26% คิดเป็นมูลค่าลงทุน 65 ล้านบาท และกลุ่มออโต้แบคส์ถือหุ้น 49.37% 

โดยตั้งเป้าภายในปี 2565 จะขยายศูนย์บริการ AUTOBACS เพิ่มเป็น 240 สาขา แบ่งเป็นในสถานีบริการน้ำมัน PT จำนวน 105 สาขา และนอกสถานีบริการน้ำมันอีก 135 สาขา ทั้งนี้จะใช้เงินลงทุนสำหรับการขยายสาขาทั้งหมดในช่วงปี 2560-2565 จำนวน 1.4 พันล้านบาท จากปัจจุบันที่มีศูนย์บริการ AUTOBACS ในประเทศไทยแล้วทั้งหมด 9 สาขา เป็นสาขาในกรุงเทพฯ 8 สาขา และศรีราชา 1 สาขา

เขา บอกว่า มีแผนนำบริษัท สยาม ออโต้แบคส์ จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในปี 2563-2564 ซึ่งผลประกอบการน่าจะทำได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยเบื้องต้นคาดว่าในปี 2562 สยาม ออโต้แบคส์ จะมีรายได้ 'พันล้านบาท' และมี 'กำไรสุทธิ 20 ล้านบาท' จากปีนี้ที่คาดว่ายัง 'ขาดทุน'

ส่วนตลาดรถบรรทุกได้ร่วมทุนกับ บริษัท สามมิตรมอเตอร์สแมนูแฟคเจอริง จำกัด ผู้ผลิตตัวถังและอะไหล่รถบรรทุกรายใหญ่เปิดให้บริการ PRO TRUCK ศูนย์ซ่อมบำรุงรถบรรทุกครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทยโดยสาขาแรกตั้งอยู่ภายในสถานีบริการน้ำมัน PT อยู่ริมถนนมิตรภาพ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งให้บริการเปลี่ยนยาง ระบบเบรก แบตเตอรี่ ช่วงล่าง ระบบปรับอากาศ และเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ถือเป็นทางเลือกใหม่สำหรับกลุ่มรถบรรทุกและรถขนส่ง 

ทั้งนี้ ตั้งเป้าจะเปิดให้บริการ PRO TRUCK ในปีนี้อีก 20 สาขา ควบคู่ไปกับศูนย์พักรถครบวงจร PT MAX CAMP ที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง เพียงแค่มีบัตรสมาชิก PT MAX CARD ก็สามารถเข้ามาใช้บริการได้ โดยมีที่นอน ห้องน้ำ ห้องอาบน้ำและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆไว้รองรับลูกค้า และตั้งเป้าภายในปี 2565 จะขยายศูนย์บริการ PRO TRUCK เพิ่มเป็น 100 สาขา และ PT MAX CAMP 50  สาขา

'ผู้ก่อตั้ง' บอกว่า ปัจจุบันมีสมาชิกบัตร PT MAX CARD จำนวน 7.4 ล้านสมาชิก โดยตั้งเป้าเพิ่มสมาชิกใหม่ปีละ 2 ล้านสมาชิก ซึ่งภายในปี 25645 คาดว่าจะมีจำนวนสมาชิกเพิ่มเป็นไม่น้อยกว่า 18  ล้านสมาชิก ซึ่งจะทำให้บริษัททราบถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อที่จะได้นำไปพัฒนาสินค้าและบริการให้ตรงตามความต้องการของลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนธุรกิจพลังงานใน 'โครงการผลิตปาล์มน้ำมันครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทย' หรือ ปาล์มคอมเพล็กซ์ ซึ่งดำเนินการภายใต้บริษัท พีพีพี กรีน คอมเพล็กซ์ จำกัด ที่บริษัทถือหุ้นอยู่ 40% โดยโครงการดังกล่าวมีกำลังการผลิตไบโอดีเซล 4.5 แสนลิตรต่อวัน และน้ำมันปาล์มเพื่อบริโภค 2 แสนลิตรต่อวัน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในช่วงไตรมาส 1 ปี 2561  และสร้างรายได้ปีละ 5,000-6,000 ล้านบาท กำไรสุทธิปีละ 600-700 ล้านบาท ซึ่งบริษัทจะรับรู้กำไรสุทธิตามสัดส่วนการถือหุ้นราว 240 ล้านบาทต่อปี 

'โครงการปาล์มคอมเพล็กซ์นอกจากจะช่วยเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับบริษัท ยังเป็นโครงการที่สร้างขึ้นตามแนวพระราชดำริเรื่องพลังงานทดแทน เพื่อความยั่งยืนด้านพลังงานของคนไทย ช่วยสนับสนุนเกษตรที่ปลูกปาล์มน้ำมันและเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของไทย'

นอกจากนี้ยังมีธุรกิจผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังที่ร่วมมือกับบริษัท เอี่ยมบูรพา จำกัด ผู้ผลิตแป้งมันสำปะหลังรายใหญ่ของประเทศ โดยโรงงานตั้งอยู่ที่จังหวัดสระแก้ว มีกำลังการผลิต 2 แสนลิตรต่อวัน มูลค่าโครงการ 1.5 พันล้านบาท ซึ่งบริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 60% เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องผลิตได้ภายในต้นปี 2563 

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวมี 'ผลตอบแทนจากการลงทุน' (IRR) ประมาณ 20% คิดเป็นกำไรสุทธิราว 300 ล้านบาทต่อปี และที่สำคัญจะช่วยลดต้นทุนและช่วยเพิ่มศักยภาพการทำกำไรของบริษัทในระยะยาว นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรเพื่อผลิตเอทานอลจากอ้อย ซึ่งคาดว่าจะบรรลุข้อตกลงภายในปีนี้ 

'เราตั้งเป้าขยายธุรกิจใหม่ในกลุ่มนอนออยล์ปีละ 2-3 ดีล คาดว่าไตรมาส 1 ปี 2561 น่าจะได้เห็นข้อสรุปซื้อกิจการใหม่กว่า 2 ดีล คาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวม 300-400 ล้านบาท' 

สำหรับผลประกอบการปี 2561 ตั้งเป้ารายได้ 1-1.1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่คาดว่ามีรายได้ 85,000 ล้านบาท จากปริมาณขายน้ำมันที่น่าจะเติบโต 25-30% จากปีก่อน 3,400 ล้านลิตร บนพื้นฐานราคาน้ำมันที่ 25 บาทต่อลิตร 

ทั้งนี้ ตั้งงบลงทุนปีนี้ 5,000-5,500 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในธุรกิจเดิม 4,000 ล้านบาท โดยมีแผนเปิดสถานีการน้ำมันอีก 350-400 ล้านบาท ร้านกาแฟพันธุ์ไทย 150-200 สาขา ศูนย์บริการ PRO TRUCK อีก 5 สาขา ส่วนที่เหลือจะใช้ซื้อกิจการและลงทุนในธุรกิจใหม่

ท้ายสุด 'พิทักษ์' ทิ้งท้ายว่า เงินลงทุนจะมาจากกระแสเงินสด และอีกส่วนหนึ่งออกหุ้นกู้เพราะค่าการตลาดไม่ค่อยดี แต่ในระยะยาวเพื่อค่าการตลาดเริ่มดีขึ้น มียอดขายเติบโต และนอนออยล์เริ่มทำงาน บริษัทก็จะใช้เงินจากการ operation เท่านั้น ส่วนการเพิ่มทุนถ้าไม่ลงทุนระดับหมื่นล้านก็ไม่จำเป็น   

30 ปี 'พีทีจี เอ็นเนอยี'

เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งผู้บริหารมากความสามารถสำหรับ 'พิทักษ์ รัชกิจประการ' ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. พีทีจี เอ็นเนอยี หรือ PTG การันตีด้วยรางวัลผู้บริหารสูงสุดยอดเยี่ยมถึง 2 ปี จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ด้วยวิสัยทัศน์ที่จะนำพาองค์กรซึ่งเขาก่อตั้งมากับมือให้เติบโตอย่างยั่งยืน และสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับคู่ค้าและผู้ใช้บริการทุกคน  

สำหรับ 'จุดเริ่มต้น' ของบริษัทที่ปี 2561 จะครบรอบ 30 ปี บริษัทก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2531 ภายใต้ชื่อบริษัท ภาคใต้เชื้อเพลิง จำกัด ด้วยการนำเข้าน้ำมันมาจำหน่ายให้กับกลุ่มผู้ประกอบการเรือประมงและโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดชุมพรและพื้นที่ใกล้เคียง ก่อนที่ปีถัดมาได้ขยายคลังน้ำมันแห่งใหม่ที่แม่กลองจังหวัดสมุทรสงคราม และเริ่มเปิดให้บริการสถานีบริการน้ำมันของตัวเองเมื่อปี 2535 ภายใต้บริษัท ปิโตรเลียมไทยคอร์ปอเรชั่น จำกัด แม้ว่าความต้องการใช้น้ำมันจะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ผลกระทบจากวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ทำให้บริษัทเป็นหนี้กว่า 3,600 ล้านบาท และต้องใช้เวลาถึง 10 ปี เพื่อปรับโครงสร้างหนี้และฟื้นฟูกิจการจนสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง    

'ตลอดระยะเวลา 10 ปี เราต้องรัดเข็มขัดทุกอย่าง ลดทุกอย่าง ลดคน ลดค่าใช้จ่าย การโฆษณา พื้นที่เช่า จนในที่สุดเราก็ผ่านมาได้ ถือเป็นประสบการณ์ครั้งสำคัญของบริษัทที่ทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น'

โดยหลังปรับโครงสร้างเสร็จแล้วบริษัทก็เริ่มกลับมารุกธุรกิจอีกครั้ง ด้วยการเดินหน้าขยายสถานีบริการน้ำมันจากเส้นสายรอง เนื่องจากขณะนั้นเงินลงทุนยังไม่เยอะ และค่อยๆล้อมพื้นที่เข้ามาเรื่อยๆควบคู่ไปกับการหาโอกาสลงทนในธุรกิจใหม่ๆ เพื่อเพิ่มช่องทางสร้างรายได้และลดความเสี่ยงจากการพึ่งพิงรายได้ธุรกิจน้ำมันเพียงอย่างเดียว