ไฟเขียว 'คลัง' ถือหุ้นแบงก์อิสลามแก้ปัญหาสภาพคล่อง

ไฟเขียว 'คลัง' ถือหุ้นแบงก์อิสลามแก้ปัญหาสภาพคล่อง

"สนช." เห็นชอบ "คลัง" ถือหุ้น "ธนาคารอิสลาม" เกิน 49% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดได้เป็นการชั่วคราวเพื่อแก้ปัญหาขาดสภาพคล่อง

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) วันนี้(2 ก.พ.) ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)เป็นผู้เสนอ โดยนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่าร่างกฎหมายนี้เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศ พ.ศ. 2545 ในมาตรา 7 วรรคสาม กำหนดให้กระทรวงการคลังสามารถถือหุ้นของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยเกินร้อยละ 49 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดได้เป็นการชั่วคราว เพื่อแก้ไขฐานะหรือการดำเนินงานของธนาคาร

"ที่ผ่านมาธนาคารประสบปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อเงินทุนสำรองและขาดสภาพคล่อง ซึ่งคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เห็นชอบการแก้ปัญหาธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยโดยแยกหนี้เสียและหนี้ดี การหาพันธมิตรที่เหมาะสมร่วมดำเนินกิจการ การปรับโครงสร้างทางการเงิน และจัดทำแผนยุทธศาสตร์แก้ปัญหาระยะยาว ยืนยันว่าภาครัฐยังสนับสนุนให้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยปฏิบัติตามพันธกิจในการให้บริการทางการเงินแห่งประชาชน ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม รองรับการให้บริการลูกค้าทั้งชาวพุทธและชาวมุสลิม โดยกำหนดแนวทางการฟื้นฟูกิจการควบคู่ไปกับการเพิ่มทุนเพื่อประโยชน์โดยรวมของประเทศต่อไป" รมช.คลัง กล่าว

ขณะที่สมาชิกสนช.อภิปรายสนับสนุนหลักการของร่างกฎหมายนี้ เพราะเชื่อว่าการให้กระทรวงการคลังเข้าไปถือหุ้นจะช่วยแก้ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดได้รายกับธนาคารและทำให้มีฐานะทางการเงินที่มั่นคงได้ และท้ายที่สุดที่ประชุมสนช.มีมติเห็นชอบรับหลักการด้วยคะแนน 167 เสียง งดออกเสียง 14 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 22 คน พิจารณาแปรญัตติภายใน 7 วัน มีกรอบการดำเนินงาน 30 วัน