งานวันนักประดิษฐ์ อวดวิจัยไทยขายได้จริง

งานวันนักประดิษฐ์ อวดวิจัยไทยขายได้จริง

ผงข้าวเจ้าอุดห้ามเลือดที่กระดูก, เครื่องทำน้ำแข็งสำหรับการผ่าตัด, กลไกข้อเข่าเทียมเพื่อผู้พิการขาขาดเหนือเข่า ตัวอย่างผลงานรางวัลประดิษฐ์คิดค้นประจำปี61 มีโอกาสได้รับการพัฒนาสู่ตลาด เมื่อวช. เตรียมงบ 400 ล้านบาทหนุนต่อยอดผลงานต้นแบบ

ผงข้าวเจ้าอุดห้ามเลือดที่กระดูก, เครื่องทำน้ำแข็งสำหรับการผ่าตัด, กลไกข้อเข่าเทียมเพื่อผู้พิการขาขาดเหนือเข่า ตัวอย่างผลงานรางวัลประดิษฐ์คิดค้น ระดับดีมากประจำปี 2561 มีโอกาสได้รับการพัฒนาสู่ตลาด เมื่อสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เตรียมงบ 400 ล้านบาทหนุนต่อยอดงานผลงานต้นแบบให้ขายได้จริง พร้อมผลักดันมาตรการปลดล็อคสิทธิงานวิจัย หวังกระตุ้นเกิดแรงขับเคลื่อนสู่เชิงพาณิชย์


ทั้งสามผลงานต้นแบบนี้จะจัดแสดงภายในงานวันนักประดิษฐ์ร่วมกับชิ้นงานอื่นๆ กว่า 1,000 ผลงานทั้งระดับเยาวชนนักเรียน นักศึกษา ภาครัฐและเอกชนรวมถึงจากนักประดิษฐ์นานาชาติ ระหว่างวันที่ 2-6 ก.พ.นี้ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการประดิษฐ์คิดค้น ที่สามารถนำไปต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมเสวนา อบรมและประชุม สามารถลงทะเบียนและติดตามรายละเอียดได้ที่ www.inventorday.nrct.go.th


สิ่งประดิษฐ์ทางการแพทย์บูม

ผงคาร์โบไฮเดรตจากข้าวเจ้า ผลงานรางวัลระดับดีมาก สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย นายแพทย์สิทธิพร บุณยนิตย์ เป็นวัสดุทางการแพทย์คล้ายดินน้ำมันใช้สำหรับอุดห้ามเลือดที่กระดูกระหว่างการผ่าตัด ทดแทนไขผึ้งห้ามเลือดที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ที่สำคัญสามารถย่อยสลายได้ ไม่ก่อเกิดความเป็นพิษต่อเนื้อเยื่อ หรือเสี่ยงต่อการติดเชื้อ รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวเจ้าไทย


ส่วนผลงานกลไกข้อเข่าเทียมสำหรับผู้พิการขาขาดเหนือเข่า โดยไพรัช ตั้งพรประเสริฐ และชัชญาพันธ์ วิรุฬห์ศรี เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มุ่งเน้นการออกแบบให้มีลักษณะคล้ายข้อเขาจริงตามธรรมชาติ โดยใช้กลไกลชนิดหลายจุดศูนย์กลางหมุน สามารถสร้างและประกอบได้ง่าย มีอายุการใช้งานยาวนาน นักวิจัยได้ศึกษานำข้อดีข้อเสียของกลไกข้อเข่าที่มีอยู่ มาพัฒนาและออกแบบให้มีความเสถียรและเป็นธรรมชาติมากขึ้น ถือเป็นผลงานที่ช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของผู้พิการดีขึ้นและลดการนำเข้า จึงได้รับรางวัลระดับดีมาก สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ด้วยเช่นกัน


อีกผลงานวิจัยที่น่าสนใจคือ เครื่องทำน้ำแข็งสำหรับใช้ในการผ่าตัดจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดย ศ.สมชาย วงศ์วิเศษและคณะ ทำให้ได้น้ำแข็งที่มีลักษณะกึ่งของเหลวผสมตามที่ต้องการ ช่วยลดเวลาในการเตรียมน้ำแข็งของแพทย์ผ่าผัด ลดปัจจัยเสี่ยงการติดเชื้อและความเสียหายของกล้ามเนื้อหัวใจของผู้ป่วย ปัจจุบันนำไปใช้ในโรงพยาบาลและกำลังต่อยอดเชิงพาณิชย์


ปลดล็อคสิทธิบัตรวิจัย

นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาเป็นปีแรกที่ให้การสนับสนุนทุนพัฒนาต่อยอดบัญชีสิ่งประดิษฐ์ 60 ล้านบาท ถือเป็นกลไกทุนกลุ่มใหม่จากเดิมให้เฉพาะทุนทำงานวิจัย เพื่อให้งานวิจัย/สิ่งประดิษฐ์ที่ทำพร้อมนำไปขาย จากเดิมที่ทำต้นแบบได้เพียง 1-2 ชิ้น แต่การที่จะนำต่อยอดได้นั้นต้องมีกระบวนการผลิตที่สามารถทำได้ในปริมาณมาก ถัดมาเป็นเรื่องการพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ ทั้ง มอก. และ อย. รวมทั้งการทดสอบด้านความปลอดภัยเพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนสำหรับตอบโจทย์มากขึ้น


“ทุนบัญชีสิ่งประดิษฐ์เป็นเรื่องใหม่ที่พยายามผลักดันให้เกิดขึ้น โดยมีเป้าหมายคือ การเปลี่ยนจากชิ้นงานวิจัยตัวอย่างให้พร้อมใช้ได้จริง การพิจารณาให้ทุนจะเน้นความพร้อมที่จะไปขยายผลในเชิงพาณิชย์ และต้องผ่านงานประกวด ซึ่งเป็นการกลั่นกรองอย่างหนึ่ง เงื่อนไขสำคัญถัดมาคือ ต้องมีผู้ประกอบการสนใจนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์”


ปีนี้ตั้งเป้าเม็ดเงินทุนดังกล่าว 400 ล้านบาท ขณะที่ปัจจุบันมีสิ่งประดิษฐ์ขึ้นบัญชีไว้ที่ 230 รายการ ทั้งนี้ สำหรับสิ่งประดิษฐ์ที่มุ่งเน้นตามยุทธศาสตร์การวิจัย 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นผลิตภัณฑ์เชิงเศรษฐกิจ สอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (นิว เอสเคิร์ฟ) และอุตสาหกรรมเป้าหมายเดิม (เฟิร์ส เอสเคิร์ฟ) กลุ่มสองเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์เชิงสังคมในแต่ละจังหวัด/ภูมิภาค


“ขณะนี้รัฐบาลมีความพยายามที่จะปลดล็อคข้อจำกัดต่างๆ เช่น จากเจ้าของสิทธิบัตรงานวิจัยคือผู้ให้ทุนหรือองค์กรที่ให้ทุน เปลี่ยนเป็น หน่วยงานวิจัยหรือนักวิจัยเจ้าของผลงาน เพื่อกระตุ้นให้เกิดแรงขับเคลื่อนในการขยายผลสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง” นายแพทย์สิริฤกษ์ กล่าว