DTAC - ซื้อ

DTAC - ซื้อ

ผลประกอบการไตรมาส 4/60 น่าประทับใจ;เซอร์ไพรส์จ่ายเงินปันผล

ผลประกอบการไตรมาส 4/60 ออกมาสูงกว่าที่เราคาดอย่างน่าประทับใจ และตามด้วยการประกาศจ่ายเงินปันผลสำหรับผลประกอบการปี 2560 ที่ 0.24 บาท/หุ้น เราเชื่อว่าเป้ารายได้บริการปี 2561 ของบริษัทที่ทรงตัวถือว่าอนุรักษ์นิยมมากเกินไป และเรามองว่าการคาดการณ์การลดลงของ EBITDA ในปี 2561 เป็นเพียงแค่ปัจจัยลบในระยะสั้นซึ่งจะตามมาด้วยผลประโยชน์ในระยะยาวจากการได้เข้าใช้คลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซ ซึ่งเรายังคงคาดว่าสัญญาดีลคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซมีแนวโน้มเซ็นอย่างเป็นทางการภายในไตรมาส 1/61 DTAC ยังคงเป็นหุ้นที่เราชื่นชอบมากที่สุดในกลุ่มไอซีที จากปัจจัยหนุนในแง่ของมูลค่าหุ้นที่ถูกมาก ซึ่งมีอัตราส่วน EV/EBITDA สำหรับปี 2561 อยู่เพียงแค่ 4.9 เท่า

สรุปผลประกอบการไตรมาส 4/60—สูงกว่าคาด

DTAC รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 4/60 ที่ 542 ล้านบาท เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด 1,702% YoY แต่ลดลง 10% QoQ ถ้าหากไม่รวมรายการพิเศษในไตรมาส 4/60 ซึ่งได้แก่ ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 16 ล้านบาท สำรองผลประโยชน์เงินเกษียณอายุสำหรับพนักงาน 178 ล้านบาท ผลประโยชน์ด้านภาษีจากงบลงทุนในสินทรัพย์ถาวร 230 ล้านบาท และสำรองด้อยค่าที่ดิน 6 ล้านบาท กำไรหลักในไตรมาสนี้อยู่ที่ 513 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 204%YoY และ 3% QoQ กำไรสุทธิและกำไรหลักสูงกว่าคาด 45% และ 35%
ตามลำดับ กำไรหลักที่เพิ่มขึ้นก้าวกระโดดYoY ได้รับปัจจัยหนุนจากรายได้บริการที่เพิ่มขึ้นแข็งแกร่ง ขาดทุนจากธุรกิจขายเครื่องโทรศัพท์ที่ลดลง (จากเงินอุดหนุนค่าเครื่องโทรศัพท์ที่ลดลง) และค่าใช้จ่ายด้านกฎระเบียบรวมถึงค่าใช้จ่ายด้านการตลาดที่ลดลง EBITDA ในไตรมาสนี้เติบโตแข็งแกร่ง 16% YoY และ 1% QoQ รายได้บริการ (ที่ไม่รวมไอซี) เติบโตแข็งแกร่งเช่นกัน โดยพลิกกลับมาเพิ่มขึ้น 1.3% YoY และ 1.7% QoQ (ดูรายละเอียดได้ในหน้าที่ 4)

EBITDA ที่ลดลงในระยะสั้นจะตามมาด้วยผลประโยชน์ระยะยาวจากคลื่นใหม่อีกจำนวน 60 เมกะเฮิร์ซ

สำหรับในปี 2561 บริษัทตั้งเป้ารายได้บริการ (ที่ไม่รวมไอซี) และ EBITDA (ที่ไม่รวมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับดีลคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซ) ทรงตัวและงบลงทุนที่ 1.5-1.8 หมื่นล้านบาท เป้ารายได้บริการที่ทรงตัวได้คำนวณผลกระทบของรายได้ที่อาจจะหายไปจากลูกค้า 2 จีปัจจุบันในช่วงระหว่างการโอนย้ายลูกค้าก่อนที่สัญญาสัมปทาน 850 เมกะเฮิร์ซและ 1.8 กิกะเฮิร์ซจะสิ้นสุดลง และได้คำนวณรวมผลกระทบของรายได้ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเข้าใช้คลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซเข้าไปแล้ว และเนื่องจากความไม่แน่นอน
ของลูกค้า 2 จีที่อาจจะหายไปในช่วงที่เข้าใกล้อายุสัญญาสัมปทานที่จะสิ้นสุดลง เราจึงเชื่อว่าเป้ารายได้บริการของบริษัทที่ทรงตัวถือว่าอนุรักษ์นิยมมากเกินไป เราคาดว่า EBITDA ในปี 2561 มีแนวโน้มลดลง YoY ถ้าหากคำนวณค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซ เข้าไปในประมาณการ แต่เราคิดว่าผลกระทบทางลบระยะสั้นจาก EBITDA ที่ลดลงดูแล้วจะคุ้มกับผลกระทบทางบวกต่อ DTAC ในระยะยาวสำหรับการได้เข้าใช้คลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซที่มีจำนวนมากถึง 60 เมกะเฮิร์ซ เป้างบลงทุนในปี 2561 ที่ต่ำมากในกรอบ 1.5-1.8 หมื่นล้านบาทได้คำนวณรวมงบลงทุนสำหรับการอัดแน่นโครงข่ายคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ซ และงบลงทุนใหม่ในโครงข่ายคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซ เราเชื่อว่าการ
อัดแน่นโครงข่ายคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ซสามารถที่จะช่วยบรรเทาปัญหาการสูญเสียความครอบคลุมของโครงข่ายที่จะสูญหายไปจากการไม่มีคลื่นความถี่ต่ำได้ส่วนหนึ่ง (ล่าสุดกสทช.มีแนวโน้มที่จะยกเลิกการประมูลคลื่นความถี่ต่ำ 900 เมกะเฮิร์ซสำหรับการประมูลที่จะมาถึง)

การได้เข้าใช้คลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซหมายถึงการลดการพึ่งพาคลื่นความถี่ 1.8 กิกะเฮิร์ซของกสทช.

ทั้งกสทช. และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ได้ทำการอนุมัติดีลคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซไปแล้ว เหลือเพียงแค่การรออนุมัติจากสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งถ้าอนุมัติก็จะเปิดทางให้ทีโอทีทำการเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการกับ DTAC เรายังคงมุมมองเดิมว่าการเซ็นสัญญาดังกล่าวอย่างเป็นทางการมีแนวโน้มเกิดขึ้นได้อย่างเร็วที่สุดในไตรมาส 1/61 หรือในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 ซึ่งจะส่งผลให้ DTAC ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาหรือจำเป็นต้องชนะการประมูลคลื่นความถี่ 1.8 กิกะเฮิร์ซของกสทช.ที่คาดว่าจะเปิดประมูล
ในเดือนพ.ค.นี้