ทีวีดิจิทัลแห่ซื้อ"ซีรีส์อินเดีย"ดันเรทติ้ง

ทีวีดิจิทัลแห่ซื้อ"ซีรีส์อินเดีย"ดันเรทติ้ง

ท่ามกลางสมรภูมิแข่งขันช่วงชิงเรทติ้งและเม็ดเงินโฆษณาของธุรกิจ “ทีวีดิจิทัล”ช่วงที่ผ่านมา หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญ คือ การซื้อคอนเทนท์ต่างประเทศ ประเภทซีรีส์ เพื่อเจาะตลาดแมส กระแสมาแรงตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ต้องยกให้ “ซีรีส์อินเดีย”ที่เรียกเรทติ้งแข่งละครไทย

            จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ JKN ผู้จัดจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนท์ระดับสากล เปิดเผยว่าคอนเทนท์ต่างประเทศในกลุ่มซีรีส์ ได้รับความสนใจซื้อลิขสิทธิ์จากทีวีดิจิทัล มาอย่างต่อเนื่องในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา  กระแสที่มาแรงคือ  ซีรีส์อินเดีย ซึ่งปัจจุบันบริษัทเซ็นสัญญาซื้อลิขสิทธิ์จากสตูดิโอระดับโลกไว้แล้วทุกราย ทั้ง โซนี่, ฟ็อกซ์, ซี แชนแนล, เวียคอม   แต่ละปี จะใช้งบซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนท์ 600-800 ล้านบาท ปีที่ผ่านมามีสัดส่วนจากซีรีส์อินเดีย  20-25%  ส่วนปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น  40%  

โกยซีรีส์อินเดีย 1.5 พันล้าน

            ปีที่ผ่านมามีพันธมิตรทีวีดิจิทัล 5 ช่อง คือ ช่อง 3  (รวม 3 ช่อง) ช่อง 8 และช่องไบรท์ทีวี ซื้อลิขสิทธิ์ ซีรีส์อินเดีย กับบริษัท ปีนี้ยังร่วมเป็นพันธมิตรกับ 5 ช่องดังกล่าวรวมประมาณ 50 เรื่อง  รวมทั้งการขายลิขสิทธิ์ในสถานีทีวี ในกลุ่ม ซีแอลเอ็มวี  ประเทศละ  1 สถานี  โดยมูลค่าที่ปิดดีลไปแล้ว  1,000  ล้านบาท

            นอกจากนี้อยู่ระหว่างเจรจากับทีวีดิจิทัล อีก 3-4  ช่อง หนึ่งในนั้นคือ เวิร์คพอยท์  เพื่อขายซีรีส์อินเดียให้ในปีนี้  คาดมีมูลค่ารวมอีก 500 ล้านบาท  ดังนั้นโดยรวมปีนี้คาดว่าจะขายลิขสิทธิ์ซีรีส์ อินเดียได้ราว 1,500 ล้านบาท              

            “ปีนี้ประเมินว่าคอนเทนท์ซีรีส์ จากอินเดีย จะได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้ชมชาวไทยมากขึ้น หลังจาก สถานีทีวีหลายช่องซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนท์ไปออกอากาศและประสบความสำเร็จด้านเรทติ้ง จะเห็นได้ว่าซีรีส์อินเดีย ถูกนำเสนอในช่วงไพร์มไทม์แข่งกับละคร”

ดันซีรีส์ “ฟิลิปปินส์”ลงจอ

            จักรพงษ์  กล่าวว่าหากเปรียบเทียบต้นทุนผลิตละครของทีวีดิจิทัล พบว่าปี 2560  ซีรีส์ อินเดีย มีต้นทุน ต่ำกว่า 70%   ส่วนปีนี้มีต้นทุนต่ำกว่า 50%  เนื่องจากบริษัทมีการปรับราคาค่าลิขสิทธิ์ หลังจากสตูดิโอต่างประเทศ เจ้าของลิขสิทธิ์ปรับขึ้นราคาทุกปีเช่นกัน 

            สำหรับทีวีดิจิทัล ที่ซื้อซีรีส์ อินเดียมากที่สุดในปีนี้ คือ ช่อง 3 (รวม 3ช่อง) กว่า 20 เรื่อง  โดยเรื่องที่โดดเด่น คือ “นันทินี ม่านรัก ม่านประเพณี” ความยาว  1,100 ชั่วโมง  ในอินเดีย ออกอากาศยาว 4 ปี  

            ส่วนช่อง 8  ปีนี้มีกว่า 10 เรื่อง  หลังจากเคยซื้อคอนเทนท์ เรื่องสีดาราม ศึกรักมหาลงกา,หนุมาน สงครามมหาเทพ, รังระสิยา ลิขิตแค้น แสนรักไปออกอากาศแล้ว พบว่าสามารถสร้างความนิยมเป็นอันดับ 1 ของซีรีส์ทุกประเภทที่ออกอากาศในปีที่ผ่านมา และทำให้เรทติ้งของสถานีปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นคอนเทนท์เจาะตลาดแมส  เช่นเดียวกับละครไทย

            ปีนี้จะขยายการทำตลาดคอนเทนท์เพิ่มเติมในกลุ่มซีรีส์ ฟิลิปปินส์ ประมาณ 10 เรื่อง ซึ่งมีเค้าโครงเรื่องเหมือนกับละครไทย เหมาะสำหรับกลุ่มผู้ชมตลาดแมส โดยอยู่ระหว่างเจรจาขายคอนเทนท์ให้กับทีวีดิจิทัลหลายช่อง 

ลุยช่อง “เจเคเอ็น ซีเอ็นบีซี”

            นอกจากนี้เจเคเอ็น ได้รับลิขสิทธิ์จาก  National Broadcasting Company Universal (NBC) เพื่อผลิตคอนเทนท์ ภายใต้แบรนด์ Consumer News and Business Channel (CNBC) ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายการเกี่ยวกับข่าวธุรกิจและการลงทุนที่มีชื่อเสียงของโลก สัญญามีระยะเวลา 10 ปี (2560-2570)  ขณะนี้อยู่ระหว่าง เตรียมบุคลากรเพื่อผลิตรายการข่าวให้แก่สถานีข่าวช่อง CNBC Thailand รวมถึงผลิตคอนเทนท์ภายใต้แบรนด์ CNBC ที่ได้รับลิขสิทธิ์จาก NBC สหรัฐ

            โดยรายการที่ผลิตจะมีโครงสร้างตามรูปแบบของแบรนด์ CNBC และใช้พิธีกรรวมถึงผู้ดำเนินรายการคนไทย ในการผลิตรายการเพื่อออกอากาศในช่อง JKN CNBC  เบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบลงทุนสำหรับช่อง JKN CNBC ประมาณ 125 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเริ่มออกอากาศได้ภายในปี 2562   

            ทั้งนี้ แผนดำเนินงานดังกล่าว เป็นการต่อยอดจากการได้รับสิทธิการนำเสนอคอนเทนท์ รายการภายใต้แบรนด์ CNBC ที่ผลิตและออกอากาศในต่างประเทศมาทำการตัดต่อ แปล และพากษ์เสียงภาษาไทยสำหรับจำหน่ายต่อผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์เพื่อออกอากาศในประเทศไทย หลังจากได้เริ่มจำหน่ายคอนเทนท์ รายการภายใต้แบรนด์ CNBC ให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจสถานีทีวี เช่น ช่อง 3  ไบรท์ทีวี และมันนี่ แชนแนล ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา

          ภายใต้การดำเนินงานปีนี้ บริษัทวางเป้าหมายรายได้เติบโต 15%  จากเป้าหมายรายได้ปี 2560 ที่คาดการณ์ว้ที่ 1,000 ล้านบาท

“ช่อง8”ทุ่ม500 ล้านชิงเรทติ้ง

            นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ ช่อง 8 เปิดเผยว่า ช่อง 8 ประสบความสำเร็จต่อเนื่อง หลังจากเป็นผู้สร้างกระแสซีรีส์ อินเดีย ในปีที่ผ่านมา ด้วยเรื่อง  “สีดาราม ศึกรักมหาลงกา”  ทำให้ครองแชมป์เรทติ้งผู้ชมซีรีส์อินเดียสูงสุดของประเทศ และชนะคอนเทนท์อื่นๆ ในช่วงไพร์มไทม์  ทำให้วันนี้ ช่อง 8 คือเจ้าตลาดซีรีส์อินเดียรายแรก

            ล่าสุด ทุ่มงบประมาณ 500 ล้านบาท ผนึกกำลังกับ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) นำเสนอซีรีส์ฟอร์มยักษ์ อินเดีย ลงจอกว่า 10 เรื่อง ตลอดปี 2561 อาทิ พิฆเนศ มหาเทพไอยรา, วัลลัภ มหาราชรักสุดแผ่นดิน, อภินิหารเจ้าหญิงจันตระการตา, ลิขิตแค้นแสนรัก, บาจิราวมหาเสนายอดนักรบ, มหาราชรานจิตซิงห์, ตระกูลแค้นแผนรัก, อสรพิษรักข้ามภาพ และวิชกัญญา ลางรักอวตาร  เชื่อว่าจะผลักดันยอดผู้ชมแตะ  7 แสนรายต่อนาที ก้าวสู่อันดับ 3 ผู้นำเรทติ้งทีวีดิจิทัลในปีนี้  ด้วยเป้าหมายรายได้ 2,000 ล้านบาท  หนุนรายได้รวมทั้งกลุ่มอาร์เอส  5,300 ล้านบาท