Violin & Ensemble ครั้งที่ 4 พัฒนาศักยภาพเด็กไทย ในวงการเพลงสากล

Violin & Ensemble ครั้งที่ 4 พัฒนาศักยภาพเด็กไทย ในวงการเพลงสากล

"สาธิตเกษตร" ร่วมกับ "กรมส่งเสริมวัฒนธรรม" จัดการแสดงคอนเสิร์ต "Violin & Ensemble ครั้งที่ 4" พัฒนาศักยภาพเด็กไทย เสริมความยิ่งใหญ่วงการเพลงสากล

พลังแห่งสุนทรียศาสตร์ทรงพลังยิ่งกว่าที่คิด โดยเฉพาะศิลปะด้าน “ดนตรี” ที่สร้างคุณประโยชน์หลากหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพัฒนาศักยภาพด้านการแสดงดนตรีแต่ละชิ้น ความกล้าแสดงออก ความมั่นใจเมื่ออยู่ต่อหน้าสาธารณชน นำไปสู่การพัฒนาวงการดนตรีของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยเฉพาะสำหรับเยาวชนนักดนตรียังเป็นประโยชน์อย่างมากในแง่การพัฒนาระดับไอคิวและอีคิว สร้างสมาธิ พัฒนาสมอง และจิตใจที่แจ่มใส จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงเรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่น ซึ่งล้วนมีประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตในสังคม

(18)

ด้วยเหตุนี้ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา จึงร่วมกับ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จัดการแสดงคอนเสิร์ต “Violin & Ensemble ครั้งที่ 4” (ไวโอลิน แอนด์ อองซอมเบิล ครั้งที่ 4) กิจกรรมภายใต้โครงการ “ร้องรำทำเพลง” เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาทักษะการเล่นดนตรีให้มีความเชี่ยวชาญ พร้อมเปิดโอกาสให้นักดนตรีเยาวชนไทยได้แสดงความสามารถด้านดนตรีคลาสสิก โดยคอนเสิร์ตครั้งนี้มีเยาวชนไทยเข้าร่วมแสดงกว่า 200 ชีวิต ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในวันอาทิตย์ที่ 28 มกราคม 2561

ผศ.ดร.ศศิธร จ่างภากร ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา กล่าวว่า “ดนตรีเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่มีประโยชน์มากสำหรับเด็ก เนื่องจากดนตรีจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางอารมณ์ เสริมสร้างความคิด จินตนาการ และยังช่วยกระตุ้นให้มีการแสดงออกในทางสร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังทำให้เด็กรู้จักการจัดสรรเวลา ในการฝึกซ้อม และยังพัฒนาประสาทสัมผัสทางการได้ยิน การเคลื่อนไหวร่างกาย และฝึกสมาธิ รวมถึงการสร้างความมั่นใจให้กับตนเอง ในการแสดงออกในที่สาธารณะ และยังช่วยผ่อนคลายความเครียด ทางโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ทั้งคณาจารย์และผู้ปกครอง จัดการแสดงคอนเสิร์ต “Violin & Ensemble ครั้งที่ 4” ขึ้น เพื่อเป็นเวทีสนับสนุนให้เด็กๆ ได้แสดงออกถึงความสามารถทางด้านดนตรี และเพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงเป็นอัครศิลปินและทรงพระปรีชาสามารถในด้านดนตรีของชาวไทย”

(1)

ด้าน อาจารย์ เทพพนม วี ปาลมา ประธานจัดการแสดงคอนเสิร์ต “Violin & Ensemble ครั้งที่ 4” กล่าวว่า “การแสดง 3 ปีที่ผ่านมาว่านับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เห็นได้จากฝีมือของนักเรียนที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง และได้รับการสนับสนุน การตอบรับจากผู้ปกครองรวมถึงประชาชนทั่วไปมากขึ้นเรื่อยๆ นับเป็นกำลังสำคัญสำหรับคณะครูและนักเรียนในการพัฒนาศักยภาพต่อไป โดยในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 มีนักดนตรีเยาวชนร่วมกว่า 200 ชีวิต ตั้งแต่ ป.1 – ม.5 พร้อมโชว์เทคนิคการเล่นเครื่องสาย ทั้ง ไวโอลิน (Violin), วิโอลา (Viola) และเชลโล่ (Cello) โดยวง KUS VIOLIN KIDS, วง KUS JUNIOR CHAMBER MUSIC และวง KUS STRING ENSEMBLE ที่พิเศษสำหรับปีนี้คือ การแสดงจากนักเรียนโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ที่มาร่วมบรรเลงบทเพลงอันไพเราะและทรงคุณค่า อาทิ บทเพลงสำหรับเด็ก เพลงพระราชนิพนธ์ เพลงสากล เพลงคลาสสิก พร้อมชมการแสดงหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การแสดงเดี่ยว การแสดงกลุ่มเล็ก รวมถึงเป็นวงขนาดกลาง พร้อมความพิเศษในคอนเสิร์ตครั้งนี้ด้วยการอัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มาบรรเลงด้วย เพื่อร่วมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้”

(2)

บรรยากาศการแสดงอบอุ่นไปด้วยบรรดาผู้ปกครอง และผู้หลงใหลในเสียงไวโอลิน ที่ต่างมาชมความสามารถของเด็กไทย และเป็นกำลังใจให้เหล่านักดนตรีตัวน้อย กว่า 200 ชีวิต ที่ต่างมีความตั้งใจ มุ่งมั่นในการบรรเลงบทเพลงอันไพเราะ โดยการแสดงประกอบด้วย 3 กลุ่มหลักๆ คือกลุ่ม KUS Violin Kids เป็นกลุ่มเด็กประถมตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โดยบรรเลงบทเพลงสำหรับเด็ก เช่น Twinkle, Twinkle Little Star, Lightly Low, Long, Lona Ago ส่วนกลุ่ม KUS Junior Chamber Music เป็นกลุ่มของเด็กระดับกลางประถมปลายกับมัธยม จะบรรเลงบทเพลง Baroque Music สำหรับเด็ก เพลงค้างคาวกินกล้วย เพลงบุพเพสันนิวาส และกลุ่ม KUS String Ensemble เป็นกลุ่มที่เล่นบทเพลงระดับมาตรฐาน ที่อัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ “Oh I Say” กับ “แสงเดือน” มาบรรเลง และ BNK48 Medley ที่ได้รวบรวมเพลงของวง BNK48 อย่างเช่น เพลง “คุ้กกี้เสี่ยงทาย” เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีนักดนตรีเยาวชนวง Wattana Violin Ensemble จากโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยที่จะมาพร้อมกับบทเพลงพระราชนิพนธ์ ในดวงใจนิรันดร์, สายฝน และ ใกล้รุ่ง ก่อนจะส่งท้ายด้วยการร่วมใจกันแสดงบทเพลงในรูปแบบของวง KUS Symphony Orchestra กับเหล่านักดนตรีตัวน้อยร่วมกันน้อมรำลึกถึง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช บรมนาถบพิตร ผ่านบทเพลง “พระราชาในนิทาน” ของเสถียรธรรมสถาน และบทเพลง “ในหลวงของแผ่นดิน”

(21)

นักดนตรีเยาวชนหลากหลายชั้นปีฝึกฝนมาเต็มที่เพื่อทำการแสดงครั้งสำคัญ นักดนตรีไวโอลินตัวจิ๋ว “น้องลีญ่า” ด.ญ.มณีญาดา ลีฬหานาจ นักเรียนสาธิตเกษตร ชั้น ป.1/8 อายุ 6 ขวบ พูดถึงความชอบในดนตรีว่า “หนูเริ่มเล่นไวโอลินเมื่อปีที่แล้วค่ะ ได้ยินเสียงเพราะๆ ของไวโอลินที่พี่ๆ เล่นแล้วชอบ ก็เลยขอคุณแม่เรียน ไม่ยากเท่าไหร่ค่ะ ก็พยายามฝึกให้มากๆ เพื่อจะได้แสดงในคอนเสิร์ตนี้ เป็นเวทีใหญ่ครั้งแรกของหนูเลยค่ะ”

(22)

ส่วน “น้องจอม” ด.ญ.สุขิตา แก้วเทวี นักเรียนสาธิตเกษตร ชั้นม.1 อายุ 12 ปี เผยถึงความตั้งใจในการเป็นนักดนตรีอาชีพในอนาคตว่า “มีพี่สาวเป็นแรงบันดาลใจเลยเริ่มเล่นไวโอลินเมื่อ 5 ปีที่แล้วค่ะ ตอนแรกก็ยากเพราะจับผิดนิดเดียวก็เพี้ยนเลย พยายามฝึกจากครูและฝึกด้วยตัวเองจากใน Youtube แล้วก็หาแนวของตัวเองให้เจอ แต่พอเริ่มเล่นได้ก็รู้สึกชอบมาก ชอบไวโอลินเพราะเป็นเครื่องดนตรีที่สามารถเล่นได้ทั้งเพลงสากล และเพลงไทยโดยเสียงไม่ผิดเพี้ยน ช่วยคลายเครียดได้ดีมากค่ะ เวลาเครียดๆ ก็จะมาเล่นไวโอลิน อนาคตหนูอยากเรียนนิเทศศาสตร์ แต่ก็จะฝึกไวโอลินไปเรื่อยๆ เพื่อจะได้เป็นครูสอนไวโอลินเป็นอาชีพเสริมได้ค่ะ”

(31)

ด.ญ.ภัชนาภา ทศธรรมรัตน์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา หนึ่งในสมาชิกวง KUS Junior Chamber Music เผยกับผู้สื่อข่าวว่า เริ่มเล่นดนตรีไวโอลีน โดยมีแรงบันดาลใจมาจาก อาจารย์ที่โรงเรียนสอนในบทเรียนเกี่ยวกับ นักดนตรีชื่อดังอย่าง “โม ซาร์ท” ทำให้เห็นถึงทักษะที่ดีจึงเกิดการชื่นชอบ ซึ่งครั้งแรกก็ไม่ได้ตั้งใจจะมาเล่นเครื่องดนตรีไวโอลีน แต่อาจารย์ชักชวนก็เลยตัดสินใจมาร่วม

(12)

ด.ช.ทรัพโยดม วี ปาลมา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา อีกหนึ่งในสมาชิกวง KUS Junior Chamber Music เผยว่า เล่นดนตรีคลาสสิคครั้งแรก มาตั้งแต่อายุ 8 ขวบ เริ่มเล่นเป็นตอน ประถมศึกษาปีที่ 2 ดนตรีที่เล่นคือ ไวโอลีน แรงบันดาลใจเกิดจากเห็นบุคคลรอบตัวเล่นดนตรีได้จึงเกิดความสนใจ อยากมีส่วนร่วมด้วย และฝากเชิญชวนเพื่อนๆ ที่ไม่เคยเล่นดนตรี ให้ลองหันมาเล่นทำกิจกรรม โดยใช้เวลาว่างให้ไม่ให้เสียเปล่าอีกด้วย

(15)

“ผมเล่นไวโอลินมาเป็นปีที่ 5 แล้วครับ ชอบเสียงของไวโอลิน รู้สึกว่าไพเราะและเร้าใจดีครับ ฝึกประมาณ 2 ปีถึงจะเล่นเป็นเพลงได้ ผมเล่นบนเวทีคอนเสิร์ตนี้มา 3 ครั้งแล้ว ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 ทำให้ผมฝึกแสดงต่อหน้าคนเยอะๆ มั่นใจและเล่นได้แม่นยำขึ้น เป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ และผมก็ตั้งใจจะฝึกต่อไปเรื่อยๆ เพื่อจะเป็นนักดนตรีมืออาชีพครับ ผมคิดว่านอกจากดนตรีจะเป็นอาชีพได้แล้ว ยังช่วยฝึกนิสัยที่ดีให้ผมด้วย ผมรู้สึกว่าผมใจเย็นขึ้น มีสมาธิในการเรียนมากขึ้น แล้วก็เป็นคนอดทน มีวินัยในการฝึกซ้อมวันละ 2 ชั่วโมงครับ”

(31)

ในฐานะนักดนตรีเชลโล่ “น้องเนย” ด.ญ.พิมพ์ญาดา ศิริจารุอนันต์ นักเรียนสาธิตเกษตร ชั้นม.2 อายุ 13 ปี เผยว่า “ตอนอายุ 6 ขวบ เนยเริ่มเล่นไวโอลินมาก่อนค่ะ แต่ในตอนนั้นเด็กไป รู้สึกว่ายาก ก็เลยพักไว้ แล้วหันมาเล่นเชลโล่แทนค่ะ ยากคนละแบบนะคะ ไวโอลินจะใช้แรงแขนมากหน่อย แต่เชลโล่จะใช้แรงนิ้วมือ ต้องกางเต็มที่และออกแรงเยอะมากค่ะ นอกจากนี้ก็ต้องมีสมาธิในการจำโน้ต การเล่นร่วมกับวงคนอื่นๆ ด้วย เพลงโปรดของหนูคือ เพลง Proud of You เป็นเพลงที่เล่นเชลโล่ร่วมกับไวโอลินและเปียโนค่ะ น้องสาวหนูเล่นไวโอลิน เราเลยชอบเล่นด้วยกันค่ะ”

(33)

นอกจากนี้ยังมี ด.ช.ธนวิน ธนพลวัล นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา หนึ่งในนักแสดงดนตรีกู่เจิง เผยว่า ใน 1 สัปดาห์เล่นดนตรีทุกวัน เพราะการเล่นดนตรีช่วยให้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ฝึกความอดทน ฝึกความพยายาม แล้วยังทำให้มีความสุข โดยส่วนตัวแล้วน้องเริ่มเล่นดนตรี มาตั้งแต่อายุ 5 ขวบ เครื่องดนตรีที่หัดเล่นเป็นอย่างแรก คือเปียโน ต่อมาได้รับแรงบันดาลใจการเล่นดนตรีกู่เจิง ตอนอายุ 6 ขวบ จากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ที่ทรงบรรเลงฝากทางโทรทัศน์ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการอยากเล่นเครื่องดนตรีกู่เจิง เป็นครั้งแรก ปัจจุบันได้รับรางวัลจากการเล่นเครื่องดนตรี กู่เจิง คือ การแข่งขัน SET เยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 19 รองชนะเลิศอันดับ 3 เงินรางวัล 1 หมื่นบาท

(26)

และร่วมทำการแสดงเครื่องดนตรีกู่เจิงบริเวณหน้างาน ซึ่งเคยได้รับรางวัลรองชนะเลิศเหรียญทอง ลำดับ 3 การแข่งขัน SET เยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทย และรางวัล Special Prize การแข่งขันเปียโน Churairat Piano Competition 2017(ABRSM) มาโชว์ฝีมือเครื่องดนตรีกู่เจิงเพลงพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

“ผมเริ่มเล่นดนตรีชิ้นแรกคือ เปียโน ตอนอายุ 5 ขวบครับ ฝึกฝนจนชำนาญก็เริ่มหาประสบการณ์จากการแข่งขันเพื่อพัฒนาฝีมือ จนได้รางวัลมาก็ดีใจมาก ต่อมาได้เห็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีทรงเครื่องดนตรีกู่เจิงทางทีวีก็สนใจอยากเล่น พอดีที่บ้านมีกู่เจิงของคุณแม่ ก็เลยเริ่มฝึกมาตั้งแต่ตอนนั้นครับ เล่นทั้ง 2 เครื่องเลยครับ เปียโนจะยากตรงที่มีคีย์เยอะ ส่วนกู่เจิงต้องใช้พลังในการกดมากกว่า เครื่องดนตรีชิ้นล่าสุดที่ผมกำลังเริ่มเล่นคือระนาดครับ อันนี้ฝึกความแม่นยำ เพราะถ้าตีผิดก็เพี้ยนเลยครับ เครื่องดนตรีทุกชิ้นมีประโยชน์กับผมหมด ช่วยให้ผมมีสมาธิที่ดี ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ รู้จักแบ่งเวลาเรียน ซ้อมดนตรี และพักผ่อนด้วย ทำให้ผลการเรียนผมดีมาตลอดครับ”

ท้ายนี้ รศ.ดร.โกวิทย์ ขันธศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิแห่งวงการดนตรีสากลในเมืองไทย ผู้เคยรับได้รับพระราชทานรางวัลศาสตรเมธี ประจำปี พ.ศ.2555 ในสาขาศิลปกรรมศาสตร์ ด้านดนตรีสากล ที่ให้เกียรติมาร่วมให้กำลังใจเด็กๆ กล่าวถึงความประทับใจว่า “ผมคิดว่าดนตรีเป็นพื้นฐานสำคัญมากๆ ในการพัฒนาทักษะต่างๆ ของเด็กนะครับ ตัวผมเองก็ถูกปลูกฝังจากคุณพ่อให้เริ่มเล่นซอมาตั้งแต่ 7 ขวบ จากนั้นก็ฝึกเครื่องดนตรีอื่นๆ เรื่อยมาจนหลายเป็นความรัก นอกจากช่วยสร้างสมาธิแล้วยังช่วยสร้างรสนิยมให้กับเด็กๆ ด้วย ไม่ว่าเด็กๆ ฝันอยากเป็นอะไรในอนาคต แต่หากฝึกทักษะด้านดนตรีติดตัวไว้ก็เป็นเรื่องที่สามารถช่วยส่งเสริมวิชาชีพหลักเราได้ ทำให้ประสบความสำเร็จแบบรอบด้านครับ ผมในฐานะครูจึงอยากมาให้กำลังใจเด็กๆ ให้เขาเกิดความภูมิใจที่จะพัฒนาตัวเองต่อไป”

การแสดงคอนเสิร์ต “Violin & Ensemble ครั้งที่ 4” (ไวโอลิน แอนด์ อองซอมเบิล ครั้งที่ 4) เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้เด็กไทยที่มีความสนใจในดนตรีคลาสสิก ได้แสดงความสามารถต่อสาธารณชน ซึ่งถือเป็นการสร้างเสริมประสบการณ์ สร้างความมั่นใจให้กับนักดนตรีรุ่นเยาว์ ก่อนจะก้าวสู่เวทีระดับประเทศ และระดับโลกต่อไป โดยการจัดแสดงคอนเสิร์ต “Violin & Ensemble” ยังคงจะจัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ติดตามชมภาพความประทับใจได้ที่ www.kus.ku.ac.th สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-942-8800