เปิดตัวเขี้ยวเล็บใหม่ 'ทัพฟ้า-ทัพบก'

เปิดตัวเขี้ยวเล็บใหม่ 'ทัพฟ้า-ทัพบก'

ปลายสัปดาห์ที่แล้ว เรียกว่าเป็นห้วงเวลา "โชว์ของ" ของกองทัพ ก็คงไม่ผิด

หลังจากบริษัท KAI สาธารณรัฐเกาหลี เลื่อนการส่งมอบเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้นแบบ T-50TH Golden Eagle มาถึง 2 ครั้ง เพราะติดปัญหาสภาพอากาศและเรื่องของเครื่องยนต์ ในที่สุดเมื่อพฤหัสบดีที่ 25 ม.ค.61 เครื่องบิน T-50TH จำนวน 2 ลำแรกที่กองทัพอากาศไทยสั่งซื้อ ก็บินมาลงจอดที่ประเทศไทยเป็นครั้งแรก หรือ First Landing ในพื้นที่กองบิน 4 อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์

พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานในพิธีต้อนรับ พร้อมกับแสดงความยินดีกับนักบินของกองทัพอากาศไทยที่จบหลักสูตร T-50TH จำนวน 6 คน ผบ.ทอ.ยืนยันว่า T-50TH เป็นเครื่องบินที่ดีที่สุดแบบหนึ่งของโลก นอกจากสามารถตอบสนองภารกิจในการฝึกบินแล้ว ยังสามารถติดอาวุธได้ 7 จุด เพื่อทำการรบจริงได้ด้วย พร้อมย้ำว่าสมรรถนะของเครื่องสมกับราคา ถือว่าคุ้มค่าสุดๆ

สำหรับนักบินไทย 6 คนที่ไปเรียนและฝึกบินกับ KAI เป็นเวลา 7 เดือน ใน 3 หลักสูตร เล่าให้ฟังว่า แม้จะเป็นเครื่องของเกาหลีใต้ก็ไม่มีปัญหาต่อการเรียนรู้ เพราะ KAI ได้ร่วมมือกับ บริษัท Lockheed Martin ของสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องบิน F-16 ทำให้ T-50TH ได้รับชื่อเล่นว่า MINI F-16 โดยมีการจัดวางอุปกรณ์ในห้องนักบิน รูปทรงและจอภาพคล้ายกับ F-16 และ กริพเพน ซึ่งกองทัพอากาศไทยมีประจำการอยู่ ดังนั้นเมื่อจบการฝึกบิน T-50TH แล้ว จึงสามารถเรียนรู้และปรับตัวกับ Cockpit ของ F-16 และกริพเพน ได้อย่างรวดเร็ว

T-50TH อาจมีค่าใช้จ่ายสูงสำหรับการฝึกบิน แต่หากฝึกด้วยเครื่องจริงอย่าง F-16 และกริพเพนทันที ค่าใช้จ่ายในการฝึกนักบินใหม่จะเพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญการฝึกบินกับ T-50TH ของนักบินใหม่ จะช่วยลดชั่วโมงการฝึกบินกับเครื่องขับไล่จริงๆ เหลือเพียงแค่ 9 เที่ยวบินเท่านั้น

สำหรับการจัดหาเครื่องบิน T-50TH ของกองทัพอากาศ จนถึงปัจจุบันนี้จัดหาไปแล้วจำนวน 12 ลำ แบ่งเป็นระยะที่ 1 จำนวน 4 ลำ และระยะที่ 2 จำนวน 8 ลำ โดยทำเป็นโครงการก่อหนี้ผูกพัน ใช้งบประมาณเสริมสร้างกำลังกองทัพของกองทัพอากาศที่ได้รับในแต่ละปี ซึ่งพิธีบรรจุประจำการอย่างเป็นทางการในฝูงบิน 401 จะมีขึ้นหลังการตรวจรับขั้นสุดท้ายแล้วเสร็จ

ข้ามไปดูราชาสนามรบของกองทัพบกที่เรียกว่าทันสมัยที่สุดในเวลานี้อย่าง "รถถัง VT-4" หรือ ม้าเหล็กสัญชาติจีนกันบ้าง รถถังรุ่นนี้ออกแบบสไตล์ตะวันตก โดยล็อตแรกส่งมาแล้ว 28 คัน ซึ่งศูนย์การทหารม้า ค่ายอดิศร จ.สระบุรี ได้เปิดพื้นที่จัดแสดงสมรรถนะในรูปแบบต่างๆ ให้สื่อมวลชนได้ชมเมื่อวันพุธที่ 24 ม.ค.61 ก่อนจะส่งเข้าประจำการในพื้นที่กองทัพภาคที่ 2 คือ กองพันทหารม้าที่ 6 จ.ขอนแก่น, กองพันทหารม้าที่ 21 จ.ร้อยเอ็ด และกองพันทหารม้าที่ 8 จ.นครราชสีมา

จุดเด่นของเจ้า VT-4 คือทำความเร็วได้ถึง 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ยิงอาวุธได้ทั้งปืนกลร่วมแกน ขนาด 7.62 มิลลิเมตร, ปืนกลต่อสู้อากาศยาน ขนาด 12.7 มิลลิเมตร ที่ควบคุมด้วยระบบรีโมทคอนโทรลจากภายในรถ และสามารถยิงอาวุธหลักอย่างปืนใหญ่ลำกล้องเรียบ ขนาด 125 มิลลิเมตรได้ทั้งการยิงในทิศทางตรงหรือทิศทางข้างตัวรถก็ได้ นอกจากนี้ ยังมีสมรรถนะด้านการเอาตัวรอด โดยเมื่อถูกฝ่ายข้าศึกจับด้วยแสงเลเซอร์และเตรียมยิงใส่ ระบบแจ้งเตือนป้องกันภัยจะทำงานทันที พร้อมยิงควันพรางตัว ที่สำคัญยังมีระบบพิสูจน์ฝ่ายและการค้นหาเป้าหมายได้รอบตัวด้วย โดยปืนทั้งหมดจะหันไปทางข้าศึกเสมอ ไม่ว่ารถถังจะวิ่งไปทางใด

สำหรับ VT-4 จัดอยู่ในเจเนอเรชั่นที่ 4 ของรถถังสายการผลิตนี้ คือมีการควบคุมการยิงแบบอิเล็กทรอนิกส์ เหมือนรถถังเจอเนเรชั่นที่ 3 แต่จะพัฒนาให้ล้ำสมัยกว่า และมีระบบควบคุมด้วยไฟฟ้าทั้งหมด ที่สำคัญเป็นรถถังรุ่นแรกของกองทัพบกไทยที่มีเครื่องปรับอากาศ และระบบสร้างความดันอากาศต่อต้านการถูกโจมตีด้วยสงครามนิวเคลียร์ เคมี และชีวะ

แผนการจัดซื้อรถถัง VT-4 แบ่งเป็น 3 ระยะ รวมทั้งหมด 1 กองพัน 48 คัน งบประมาณรวมทั้งเครื่องบิน T-50TH และรถถัง VT-4 ทั้งโครงการรวมๆ แล้วเกือบ 2 หมื่นล้านบาท

ทั้งหมดนี้คือเขี้ยวเล็บของกองทัพไทย เพื่อการรักษาอธิปไตยทั้งทางบกและน่านฟ้า!