ได้เวลา 'ผลัดใบ' MTLS 'ปริทัศน์ เพชรอำไพ'

ได้เวลา 'ผลัดใบ' MTLS 'ปริทัศน์ เพชรอำไพ'

สวมบทบาททายาทนักธุรกิจรุ่น 2 ได้ราว 4 ปี สำหรับ 'บูม-ปริทัศน์ เพชรอำไพ' ลูกชาย 'ชูชาติ เพ็ชรอำไพ' เจ้าของอาณาจักร 'เมืองไทย ลิสซิ่ง' ลั่น...! พร้อมพิสูจน์ผลงาน กับแผนลดต้นทุนทางการเงิน ดันองค์กรสู่ 'มืออาชีพ'

'พ่อแม่' ไม่เคยบังคับให้ต้องมารับสืบทอดธุรกิจ ทว่า 4 ปีก่อน พ่ออายุ 60 ปี ประกอบกับบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหุ้น ความคิดจึงตลกผนึกว่า ควรเข้ามาช่วยงานพ่อแม่ได้แล้ว เพื่อนำพาองค์กรไปสู่ความยั่งยืนต่อไป...! 

'บูม-ปริทัศน์ เพชรอำไพ' ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.เมืองไทย ลิสซิ่ง หรือ MTLS ทายาทรุ่น 2 ของ 'ชูชาติ-ดาวนภา เพ็ชรอำไพ' ผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้นใหญ่ MTLS ในสัดส่วน 67.83%  มาแจกแจงวิสัยทัศน์ให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า ตัดสินใจเข้ามาช่วยงานธุรกิจครอบครัวเมื่อปี 2558 ในตำแหน่งแรก คือ 'ผู้ช่วยด้านการเงิน' ถือเป็นหนึ่งใน 'หัวใจสำคัญ' ของธุรกิจให้บริการด้านสินเชื่อไฟแนนซ์ โดย MTLS เป็นผู้นำตลาดสินเชื่อทะเบียนรถจักรยานยนต์และสินเชื่อรายย่อยเพื่อผู้ประกอบอาชีพ 

สัญญาณนี้บ่งบอกว่า 'เจ้าพ่อปล่อยสินเชื่อ' กำลังจะหาจังหวะถอยไปนั่งทำงานหลังบ้าน...!!!

ก่อน 'ปริทัศน์' ตัดสินใจมานั่งทำงานประจำที่ MTLS เขาย้อนชีวิตวัยเยาว์ให้ฟังว่า ผมเป็นเด็กต่างจังหวัดเกิดที่จังหวัดสุโขทัย ก่อนจะเข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และพออายุ 13 ปี พ่อแม่ ส่งไปเรียนต่อประเทศอังกฤษ หลังจากกลับจากเรียนซัมเมอร์แม่ส่งไปเรียนภาษา 6 เดือน และส่งไปเรียนต่างประเทศเลย นี่คือ วิธีการเลี้ยงลูกที่บ้านผมประมาณว่า 'คิดอะไรได้ก็ทำทันที'  

ช่วงที่ไปเรียนต่อที่อังกฤษ โรงเรียนอยู่ห่างจากกรุงลอนดอนขับรถราวๆ ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งตลอด 6 ปีที่เรียนอยู่ผมไม่เคยเข้าไปสัมผัสกรุงลอนดอนเลย เพราะว่าพ่อแม่มีเงินให้ใช้แบบจำกัด ฉะนั้น ชีวิตอยู่ที่นั้นหลังเรียนเสร็จก็กินข้าวโรงเรียน ไม่เคยได้ไปเที่ยวแบบนักเรียนไทยคนอื่นๆ แต่หลังจากจบมัธยมปีที่ 6 ในระดับมหาวิทยาลัยปริญญาตรีเรียนสาขา 'วิศวกรรมศาสตร์' (Engineering with Business Finance) จาก University of London และปริญญาโทสาขา 'การเงินการธนาคาร' (Banking and International Finance) จาก Cass Business School

'ทายาทรุ่น2' เล่าต่อว่า หลังเรียนจบสมัครงานที่บริษัทเอกชนในอังกฤษ งานที่แรกคือ GOLDMAN SACHS INTERNATIONAL โดยทำงานในฝ่าย TREASURY CASH MANAGEMENT ANALYST ซึ่งทำงานอยู่ที่นั้นราวๆ ปีกว่า ตอนนั้นเงินเดือนต่อปีประมาณ 35,000 ปอนด์ หรือคิดเป็นเงินไทย 2 ล้านบาทต่อปี แต่เป็นการทำงานที่เครียดมากประจวบเหมาะกับพ่อแม่โทรมาชวนกลับมาเมืองไทย ตอนนั้นจึงตัดสินใจกลับมาหางานทำที่เมืองไทย 

ทำงานที่แรกในเมืองไทยกับบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย เลือกทำงานที่องค์กรนี้เพราะว่าพ่อและแม่เคยเป็นลูกหม้อเก่าที่กสิกรไทย ไม่ได้เลือกเงินเดือนเพราะว่าเงินเดือนผมหายไปจากที่เคยได้ปีละ 2 ล้านบาท เหลือปีละไม่ถึงล้านบาท ผมมาดูแลในตำแหน่งนักวิเคราะห์ ดูภาพรวมหุ้นในกลุ่มพลังงาน เช่น บมจ.ปตท. หรือ PTT ซึ่งทำงานประมาณ 2 ปีกว่าๆ ก่อนลาออก 

มาทำธุรกิจ 'อสังหาริมทรัพย์' จากคำชักชวนของเพื่อน 'สกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ' รองประธานกรรมการ บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ที่ต่อสายตรงชวนร่วมพัฒนาโครงการทาวน์โฮม 4 ชั้น แบรนด์ 'เอ็นเตอร์ไพรซ์ ปาร์ค-Enterprise Park' เลือกเฟ้นที่ดินผืนงามหลายสิบไร่ริมถนนบางนา-ตราด กม.5 นำมาพัฒนา 

'มาทำธุรกิจอสังหาฯ เพราะมีความชื่นชอบ โดยส่วนตัวรู้สึกว่าอสังหาฯ จับต้องได้'  

อยากมีเวลาให้ครอบครัวหลังภรรยาตั้งครรภ์ ประกอบกับพ่ออายุ 60 ปีแล้ว แกบอกให้เข้ามาช่วยงานของครอบครัว จึงตัดสินใจลาออกมาทำงานที่ MTLS เมื่อปี 2558 ในตำแหน่งผู้ช่วยคุณแม่ดูแลเรื่องการเงิน (ไฟแนนซ์) โดยตามสไตล์การทำงานของพ่อแม่ จะปล่อยให้เราทำเอง ซึ่งผมก็ทำไปในส่วนที่รับผิดชอบ ถ้ามีอะไรสำคัญๆ ก็รายงานเดือนละ 2-3 ครั้ง ก็เป็นลักษณะแม่ลูกคุยกันมากกว่า 

ผลงานแรกที่รับผิดชอบ คือ 'การบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินให้อยู่ระดับต่ำ' สามารถสร้างผลงาน 'โดดเด่น' โดยการ 'ลดต้นทุนทางการเงินจาก 5% มาอยู่ที่ 3%' บทพิสูจน์ที่ทำให้หลักสูตรคุมการเงินของ 'ปริทัศน์' เป็นที่จับต้องได้ นั่นคือ ภายหลังการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว เขาได้ใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลายมาช่วยดำเนินธุรกิจ

โดยเฉพาะเรื่องการจัดการหาแหล่งเงินทุน อาทิ การออกและเสนอขายหุ้นกู้ให้กับสถาบันการเงิน และนักลงทุนรายใหญ่ การกู้ยืมธนาคารหลายแห่ง เพื่อให้บริษัทมีอำนาจต่อรองเพิ่ม การทำสัญญาเงินกู้ระยะสั้น-สัญญาเงินกู้ระยะยาว ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้ทำให้ต้นทุนทางการเงินลดลง จากที่ผ่านมา 24 ปี MTLS ใช้แหล่งเงินในการดำเนินธุรกิจเพียงแหล่งเดียว คือการกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ 1-2 แห่ง แต่ทุกวันนี้มีการกู้เงินผ่านหลากหลายธนาคารมากขึ้นไม่ต่ำกว่า 10 แห่งแล้ว 

ตั้งเป้าในปี 2561 จะกู้เงินสถานบันการเงินไม่ต่ำกว่า 15 แห่ง 'ฉะนั้นเปรียบเหมือนการกู้เงินเป็นโลกของผม'  และเป็นผู้ที่กล้าพูดได้เลยว่า 'ถ้าเป็นเรื่องการเงินต้องผ่านผม ผมต้องเป็นคนเคาะ'

'เมืองไทย ลิสซิ่ง เป็นธุรกิจปล่อยสินเชื่อ ดังนั้น ต้นทุนการเงินก็เป็นเหมือนหัวใจสำคัญ ยกตัวอย่าง วงเงินกู้ 20,000 ล้านบาท หากบริษัทลดต้นทุนได้ 1% นั่นคือ คิดเป็นจำนวนเงิน 200 ล้านบาท โดยผมลดต้นทุนจาก 5% ลดมา 3% ในปีแรกที่ทำงาน'  

สำหรับแผนสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร คือ แผนระยะสั้น  'วางโครงสร้างให้มีมาตรฐานมากขึ้น' โดยจะพัฒนาและสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ ๆ ขึ้นมาทดแทน  โดยสิ่งไหนที่มีมาและดีอยู่แล้วก็พัฒนาให้ดีมากขึ้น เพราะว่า MTLS มีการเติบโตทุกปีจากเดิมบริษัทมีฐานลูกค้าเพียง 4 แสนราย แต่ปัจจุบันมีกว่า 1 ล้านราย  ฉะนั้น วิธีการจัดการบริหารเรียกว่ามีการบริกหารความเสี่ยงดีขึ้น โดยแผนระยะสั้น จะพยายามจัดการระบบให้เป็นมาตรฐานสากลมากขึ้น จากธุรกิจครอบครัวเปลี่ยนมาเป็นธุรกิจที่อยู่ในตลาดหุ้น และมีมาร์เก็บแคประดับ 'หมื่นล้านบาท' คาดว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงภายใน 3 ปี 

แผนระยะกลาง 'มีส่วนในการช่วยเหลือสังคมมากขึ้น' โดยจะมีส่วนเข้าไปเรียนรู้ในเรื่องของการบริหารจัดการมากขึ้น โดยทุกวันนี้บริษัทมีการช่วยเหลือสังคมตลอด แต่ในอนาคตจะสัมผัสได้มากขึ้น และสามารถแตะต้องได้ เช่น วิธีการช่วยเหลือสังคมแบบไหน ผลตอบรับที่ทำไปสามารถช่วยให้ชีวิตเขาดีขึ้นได้หรือเปล่า โดยทุกปี พ่อแม่ผมจะบริจาคเงินส่วนตัวช่วยเหลือสังคมทุกปี

และแผนระยะยาว 'อยากเห็น MTLS เป็นเสมือนปูนใหญ่' หมายความว่า อยากให้เด็กจบใหม่อยากมาทำงานกับ เมืองไทย ลิสซิ่ง คล้ายๆ ที่จะอยากไปทำงานกับองค์กรอย่างปูนใหญ่ ดังนั้น บริษัทยังต้องมีการสร้างมาตรฐาน และมีความแข็งแรง ต้องทำให้บริษัทเราเป็นองค์กรที่พนักงานเข้ามาทำงานด้วยแล้วรู้สึกมั่นคงและยังยืนในชีวิต  

ขณะที่ หัวใจของธุรกิจอีกอย่าง คือ พนักงานประจำแต่ละสาขา ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้เข้าไปสัมผัส ส่วนตัวมองว่าการจะเข้าไปส่วนนี้จะต้องมีประสบการณ์ และต้องเป็นที่ยอมรับก่อน เพราะว่าพนักงานแต่ละสาขาทำงานอยู่ไม่ต่ำกว่า 20 ปี ฉะนั้น ผมต้องใช้เวลาคาดว่าไม่เกิน 3  ปี คงจะต้องเข้าไปเรียนรู้งานในส่วนนี้แล้ว  

ท้ายสุด 'ปริทัศน์' ทิ้งท้ายว่า จากนี้ไปจะต้องหาจุดเด่นใหม่ๆ มาเติมเต็มให้กับองค์กร เพื่อสร้างการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืนต่อไป 

เร่งเพิ่มลูกค้า ดันกำไรโต 

'ชูชาติ เพ็ชรอำไพ' ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เมืองไทยลิสซิ่ง หรือ MTLS บอกว่า ตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อปี 2561 เติบโต 40% จากปีก่อน จากการเพิ่มฐานลูกค้าใหม่มากขึ้น ขณะที่ ปี 2560 ยังคงทำ 'สถิติสูงสุดใหม่' ทั้งรายได้-กำไร ซึ่งเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2560 คาดว่าจะออกมาอย่างโดดเด่นเป็นอย่างมาก เนื่องจากเข้าสู่ช่วงของไฮซีซั่นธุรกิจ รวมถึงบริษัทได้มีการขยายสาขาเพิ่มขึ้นทำให้ยอดปล่อยกู้เพิ่มขึ้นตาม

อย่างไรก็ตาม  ในส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ถือว่าอยู่ใน 'ระดับต่ำ' มาก โดยในปีนี้คาดว่าเอ็นพีแอลจะอยู่ที่ระดับ 1.2% เท่านั้น และในปี 2561 วางกรอบคุมสัดส่วนเอ็นพีแอลในระดับ 1.2-1.5%

ขณะที่ แผนธุรกิจ 3 ปี (2561-2563) บริษัทตั้งเป้าขยายสาขาทั่วไทยไม่น้อยกว่า 4,000 แห่ง โดยวางแผนจะเปิดสาขาใหม่เฉลี่ยปีละ 600 แห่งทั่วประเทศ เน้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เนื่องจากตลาดยังมีช่องว่างในการเติบโตอีกมาก เพื่อเร่งปล่อยกู้เต็มที่เพื่อขยายฐานลูกค้าเพิ่มมากขึ้น 

ปัจจุบันบริษัทมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อทางการเงิน 2 ประเภท คือ 1.สินเชื่อทะเบียนรถ ประกอบด้วย สินเชื่อทะเบียนรถจักรยานยนต์ สินเชื่อทะเบียนรถยนต์ สินเชื่อทะเบียนรถเพื่อการเกษตร และ 2.สินเชื่ออื่นๆ ประกอบด้วย สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อโฉนดที่ดิน สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ 

สำหรับผลประกอบการในงวด 9 เดือนแรก บริษัทมีรายได้ 5,296 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 72.51% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนมีรายได้ 3,070 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 1,757 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 79.10% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 981 ล้านบาท และสูงกว่ากำไรสุทธิของปี 2559 ซึ่งอยู่ที่ 1,464 ล้านบาท

นอกจากนี้ นับตั้งแต่ต้นปีเป็นต้น 2561 มีเงินทุนต่างชาติ ( Fund Flow ) จากต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทยจำนวนมาก และหนึ่งในนั้น คือ หุ้น MTLS โดยบริษัทที่กองทุนต่างชาติให้ความสนใจ และลงทุนเพิ่มขึ้นมาตลอด

สะท้อนผ่านหุ้น MTLS ยังได้ความสนใจ จากเหล่ากองทุนทั้งในและนอกประเทศมากขึ้น บ่งบอกผ่านการทยอยเข้าถือหุ้นของนักลงทุนหน้าใหม่ ไม่ว่าจะเป็น บมจ.ไทยประกันชีวิต STATE STREET BANK EUROPE LIMITED BRITISH, THE HONGKONG AND SHANGHAI BANKING CORPORATION LIMITED ,บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) , NORBAX, INC ,กองทุนเปิด เค หุ้นทุนบริพัตรเพื่อการเลี้ยงชีพ และ HSBC (SINGAPORE) NOMINEES PTE LTD สัดส่วนลงทุน 1.05% 1.05% 0.72% 0.64% 0.59 และ 0.57%  ตามลำดับ นอกจากนั้นบริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด ยังถือหุ้นเพิ่มขึ้นจาก 2.42% เป็น 4.14% (ตัวเลขวันปิดสมุดทะเบียน 7 มี.ค.2560)