'รุ่งโรจน์' แจงเอสซีจีลงทุน60,000ล้านบ. ย้ำบุกเวียดนาม-มาเลเซีย

'รุ่งโรจน์' แจงเอสซีจีลงทุน60,000ล้านบ. ย้ำบุกเวียดนาม-มาเลเซีย

กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี "รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส" แจงลงทุน60,000ล้านบาท ย้ำบุกเวียดนาม-มาเลเซีย มีกำไร 55,041 ล้านบาท เผยมีสินทรัพย์รวมมูลค่า 573,412 ล้านบาท

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวในงานแถลงผลประกอบการปี 2560 ว่า ปีพ.ศ. 2561 คาดการณ์ว่าเงินงบประมาณในการลงทุนรวมจะอยู่ที่ 60,000 ล้านบาท จากการขยายการผลิต ซื้อกิจการ การลงทุน การปรับปรุงโรงงาน และคุณภาพการผลิตต่างๆ ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม ทุกอย่างรวมกันหมด เงินลงทุนส่วนหนึ่งเตรียมมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เพราะยังไม่มีโครงการได้ใช้ ทำให้เรามีเงินค่อนข้างมาก จึงนำเงินมาใช้ในโครงการของปีนี้ ส่วนที่เหลือธุรกิจของเราก็ยังคงทำเงินอยู่ในระดับน่าพอใจ

ส่วนหนึ่งของงบประมาณตอนนี้ กำลังดำเนินโครงการปิโตรเคมี ที่ประเทศเวียดนาม มีการเริ่มต้นใช้งบประมาณอยู่ที่ 20,000 ล้านบาท คือว่าเป็นโครงการใหญ่ ซึ่งอยู่ระหว่างการพูดคุยกับทางเวียดนามอยู่ คิดว่าสักระยะ ถึงจะสามารถให้รายละเอียดความคืบหน้าได้ ขอเวลาสัก 2-3 เดือน

โครงการปิโตรเคมีที่ประเทศเวียดนาม จะสามารถทำการผลิตได้ทันภายในปี พ.ศ.2565 ดังที่แจ้งมาก่อนหน้านี้ไหม? ซึ่งมีการดำเนินโครงการตามระยะเวลา 4 ปีครึ่ง ตอนนี้ต้องยอมรับว่าจุดเริ่มต้นถูกขยับออก เพราะฉะนั้นคงต้องดูเวลา การเริ่มดำเนินการว่าจะสามารถเร่งรัด หรือสามารถทำให้เร็วขึ้นได้ไหม ถ้าให้คาดการณ์ อาจจะขยับจากเป้าหมายเดิมเล็กน้อย การลงทุนก่อสร้างน่าจะเริ่มขึ้นในครึ่งปีแรก

ในส่วนของการลงทุนที่ประเทศมาเลเซีย ในเรื่องของการทำ แพคเกจจิ้ง เป็นการลงทุนที่มีมาไม่บ่อยครั้ง และครั้งสุดท้ายที่ทำร่วมกันคือ เมื่อ 10 ปี ที่แล้ว ตอนนี้เราได้มีโอกาสในการลงทุน ซึ่งบริษัทที่เราเข้าไปร่วมลงทุน มีเครือข่ายตลาด และเทคโนโลยี ที่เหมาะสม

ส่วนของการบริหารในภาวะ การแปรผันจากราคาน้ำมันที่อาจจะเพิ่มขึ้น คือ 1. นวัตกรรม จะสามารถช่วยให้เราได้ออกสินค้าใหม่ หาสินค้าที่จะเพิ่มมูลค่า หรือเพิ่มศักยภาพให้ทางลูกค้าของเราได้ จะช่วยทำให้เราเพิ่มราคาของสินค้าหรือราคาของสิ่งที่เราให้บริการได้ดียิ่งขึ้น 2. เป็นเรื่องของประสิทธิภาพ ซึ่งเราได้นำเทคโนโลยีจากต่างประเทศเข้ามาใช้ จะช่วยในเรื่องของการลดต้นทุน และสินค้าคงเหลือ

เพื่อความสามารถที่จะมีความแม่นยำ ในเรื่องของทรัพยากรสินค้าต่างๆ เราต้องทำ 2 ด้าน คือ 1. ทำในเรื่องของ มิติ เรื่องของราคา 2. ต้นทุน การบริหารจัดการที่ดี และมีประสิทธิภาพ คิดว่าเป็นตัวหลักๆ ที่จะทำให้เราสามารถรับมือได้กับสิ่งที่จะเกิดขึ้น

สำหรับผลประกอบการปี 2560 ของเอสซีจี เป็นที่น่าพอใจ ผลจากการเร่งปรับตัวพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดและความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงขยายสู่ธุรกิจบริการ เผยปีนี้ยังมีความเสี่ยงด้านต้นทุนวัตถุดิบและพลังงาน เงินบาทแข็งค่า และการแข่งขันในภูมิภาคที่รุนแรง ชูกลยุทธ์ความร่วมมือกับดิจิทัลสตาร์ทอัพ เตรียมความพร้อมพัฒนาทักษะพนักงานทันต่อการเปลี่ยนแปลง พร้อมเดินหน้าธุรกิจบริการ โลจิสติกส์ ขณะที่การลงทุนอาเซียน คืบหน้าตามแผน

งบการเงินรวมก่อนตรวจสอบของเอสซีจี ประจำปี 2560 มีรายได้จากการขาย 450,921 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากปีก่อน จากราคาขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีกำไร 55,041 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2 จากปีก่อน จากสภาพการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจซิเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง

ในไตรมาสที่ 4 ปี 2560 เอสซีจีมีรายได้จากการขาย 113,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากราคาขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ปรับตัวเพิ่มขึ้น และเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จากไตรมาสก่อน มีกำไร 12,567 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากไตรมาสก่อน

สำหรับผลการดำเนินงานของเอสซีจี นอกเหนือจากประเทศไทยในปี 2560

ในปี 2560 เอสซีจีมีรายได้จากการขายในภูมิภาคอาเซียน เท่ากับ 106,597 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 24 จากยอดขายรวม โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีรายได้จากการขายในภูมิภาคอื่น ๆ 80,084 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17 จากยอดขายรวม

สินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 มีมูลค่า 573,412 ล้านบาท โดยร้อยละ 24 เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน

ผลการดำเนินงานในปี 2560 แยกตามรายธุรกิจ ดังนี้

ธุรกิจเคมีภัณฑ์ ในปี 2560 มีรายได้จากการขาย 206,280 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากปีก่อน มีกำไรสำหรับปี 42,007 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีก่อน ขณะที่ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 มีรายได้จากการขาย 51,834 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่มาจากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น โดยมีกำไรสำหรับงวด 9,620 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1 จากไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น

ธุรกิจซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ในปี 2560 มีรายได้จากการขาย 175,255 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากปีก่อน จากการขยายตัวของการดำเนินงานในภูมิภาคอาเซียน มีกำไรสำหรับปี 7,230 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 15 จากปีก่อนตามสภาพตลาดในประเทศไทยที่ยังคงซบเซาและการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ขณะที่ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 มีรายได้จากการขาย 43,372 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรสำหรับงวด 1,231 ล้านบาท

ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ในปี 2560 มีรายได้จากการขาย 81,455 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากปีก่อน เนื่องจากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น และมีกำไรสำหรับปี 4,719 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 32 จากปีก่อน ส่วนหนึ่งมาจากการขายสินทรัพย์ในบริษัทกระดาษสหไทย ขณะที่ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 มีรายได้จากการขาย 21,439 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน สาเหตุหลักมาจากปริมาณขายและราคาที่เพิ่มขึ้นในสายธุรกิจบรรจุภัณฑ์ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากกำลังการผลิตใหม่ในประเทศเวียดนาม มีกำไรสำหรับงวด 1,232 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 60 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 97 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของสายธุรกิจเยื่อและกระดาษ

นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า “ผลประกอบการในปี 2560 เป็นที่น่าพอใจ แม้ว่าจะมีปัจจัยเรื่องสภาพการแข่งขันที่รุนแรงทั้งในไทยและในภูมิภาค ต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น และค่าเงินบาทแข็งค่าที่เข้ามากระทบ แต่ด้วยราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงการเร่งปรับตัวให้พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ และการขยายสู่ธุรกิจบริการและ Solutions อาทิ โลจิสติกส์ ที่เข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุดและทันเวลา ทำให้เอสซีจีสามารถรักษามาตรฐานการดำเนินธุรกิจและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 ยังคงมีความเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังจากต้นทุนวัตถุดิบปิโตรเคมีและแพคเกจจิ้งที่เพิ่มขึ้น ราคาต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น ค่าเงินบาทที่แข็งค่า ตลอดจนสภาพการแข่งขันในภูมิภาคที่รุนแรง โดยเฉพาะซีเมนต์ เอสซีจีจึงเร่งเตรียมความพร้อมในหลายด้าน อาทิ การขยายธุรกิจบริการและ Solutions อย่างต่อเนื่อง การนำเทคโนโลยี Automation และ Robotics เข้ามาเสริมประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ พร้อมกันนี้จะจัดตั้ง Reskill Training Program เพื่อพัฒนาทักษะพนักงาน ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ใหม่เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าและการขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศ”

ด้านธุรกิจบริการ เอสซีจีมีความพร้อมที่จะขยายไปสู่การบริการรถนักเรียนและรถพยาบาล โดยนำเทคโนโลยี GPS มาต่อยอดเป็น Solutions ใหม่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ปกครองในด้านการดูแลความปลอดภัยของบุตรหลาน รวมถึงระบบ GPS เพื่อติดตามรถพยาบาลที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการรักษาทางการแพทย์ให้กับผู้ป่วยระหว่างการเดินทาง นอกจากนี้ เอสซีจี เอ็กซ์เพรส ยังได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดียิ่งด้วยบริการจัดส่งพัสดุด่วนที่ทันสมัย และเป็นรายเดียวในตลาดในขณะนี้ที่มีนวัตกรรมบริการส่งพัสดุด่วนแบบควบคุมอุณหภูมิ โดยที่ผ่านมาได้ขยายจุดบริการแล้วกว่า 500 สาขา และจะขยายพื้นที่บริการให้ครอบคลุมทั่วประเทศในช่วงกลางปี 2561

อีกทั้ง เอสซีจีได้เข้าไปลงทุนในดิจิทัลสตาร์ทอัพด้านโลจิสติกส์ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการรถขนส่งตามมาตรฐานชั้นนำของเอสซีจี โลจิสติกส์ ที่พร้อมให้บริการกว่า 7,000 คันทั่วอาเซียน ผ่านดิจิทัลแพลทฟอร์มที่ช่วยอำนวยความสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังมุ่งพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว โดยปีที่ผ่านมา เอสซีจี ใช้งบประมาณการวิจัยและนวัตกรรมรวมกว่า 4,178 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.9 ของยอดขายรวม สำหรับยอดขายสินค้า HVA ในปี 2560 คิดเป็น 175,541 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 39 ของยอดขายรวม

ขณะที่ความร่วมมือกับดิจิทัลสตาร์ทอัพมีความคืบหน้าไปมากเช่นกัน โดยมีความร่วมมือที่เกิดขึ้นแล้วกว่า 40 โครงการ ซึ่งล้วนมีศักยภาพที่จะต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ อีกทั้งยังมองเห็นโอกาสทางธุรกิจที่เชื่อมโยงกับเครือข่ายสตาร์ทอัพ ในประเทศสหรัฐอเมริกา อิสราเอล และจีน

สำหรับการดำเนินงานของธุรกิจซิเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างในอาเซียน มีความคืบหน้าตามแผน สามารถรองรับความต้องการของตลาดในประเทศต่าง ๆ ที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันเอสซีจีมีโรงงานปูนซีเมนต์ใน 6 ประเทศหลัก มีกำลังการผลิตรวมกับในประเทศไทย 33.6 ล้านตันต่อปี

“เอสซีจี ยังได้เข้าซื้อหุ้นร้อยละ 68.3 ในบริษัท Interpress Printers ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารฟาสต์ฟู้ดส์ชั้นนำในประเทศมาเลเซีย โดยมีมูลค่ากิจการ 104.5 ล้านริงกิต หรือประมาณ 836 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสินค้าบรรจุภัณฑ์อาหารฟาสต์ฟู้ดส์ให้สามารถตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในภูมิภาคอาเซียน” นายรุ่งโรจน์ กล่าว

คณะกรรมการบริษัท ได้มีมติให้เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติจ่ายเงินปันผลประจำปี 2560 ในอัตราหุ้นละ 19.00 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 22,800 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 41 ของกำไรสำหรับปีตามงบการเงินรวม ทั้งนี้ บริษัทได้จ่ายเป็นเงินปันผลระหว่างกาลงวดครึ่งปีแรกไปแล้วในอัตราหุ้นละ 8.50 บาท เป็นเงิน 10,200 ล้านบาท เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2560 และจะจ่ายเงินปันผลงวดสุดท้ายในอัตราหุ้นละ 10.50 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 12,600 ล้านบาท

ทั้งนี้การจ่ายเงินปันผลดังกล่าว ให้จ่ายแก่ผู้ถือหุ้นเฉพาะผู้มีสิทธิได้รับเงินปันผลตามข้อบังคับบริษัท ตามที่ปรากฏรายชื่อ ณ วันกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินปันผล ในวันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน 2561 (จะขึ้นเครื่องหมาย XD หรือวันที่ไม่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันพุธที่ 4 เมษายน 2561) โดยกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันศุกร์ที่ 20 เมษายน 2561 และให้รับเงินปันผลภายใน 10 ปี