ถ้วยบอลโลก “แลนดิ้ง” !!

ถ้วยบอลโลก “แลนดิ้ง” !!

ถอดรหัสสัญญะเบื้องหลังรูปลักษณ์และสีทองของถ้วยฟุตบอลโลก

หากเทพอะเมกานอน ไม่ได้เดินทางกลับมาตุภูมิ ด้วยชัยชนะเหนือข้าศึกในสงครามยุคกรีก บางที วัฒนธรรมป๊อปอย่าง “พรมแดง” อาจไม่ได้เป็นที่นิยมในเทศกาลหนังหรู หรืองานเปิดตัวแบรนด์เนมพวก luxury ในอีกหลายร้อยปีต่อมา… (หรือ อาจจะเกิดขึ้นช้ากว่านั้น)

เมื่อเทพนามหนึ่งได้ชัยชนะ และกษัตริย์มีคำสั่งให้ปูพรมแดงเพื่อต้อนรับฮีโร่ พรมแดงจึงเป็นเหมือน classic symbol ที่ผู้คนรู้สึกไปว่า มันคือสถานะที่แข็งแกร่ง โดดเด่น และหรูหรา ในระดับ premium luxury จนกลายเป็นตัวละครสำคัญในเทศกาลหนังคานส์เอย ออสการ์เอย แกรมมี่เอย ลูกโลกทองคำเอย ฯลฯ

ถ้อยคำที่เวลามีใครบอกว่า “มีเดินพรมแดง” สะท้อนชัดทันทีว่า งานนั้นมีสถานะเป็นที่ยอมรับในสังคม หรืออย่างน้อย “พยายาม” ที่จะมีระดับ และถ้าจะมี “อะไรสักอย่าง” ที่ปีนไต่ขึ้นไปอยู่ในระดับมายาคตินี้ได้ เรื่องนั้นเห็นจะเป็น “สีทอง” ของถ้วยบอลโลก ที่นับจากปี1930 สีทองของโทรฟี่นี้ ทำหน้าที่เล่าเรื่อง และส่งอิทธิพลต่อถ้วยรางวัลต่างๆของโลกลูกหนัง มาอีกเกือบหนึ่งศตวรรษ !

“ถ้วยฟุตบอลโลก” ที่จะเดินทางมาไทย และโชว์ตัวเองในสุดสัปดาห์นี้ในบ้านเรา จึงมีความหมายมากมายในเชิงสังคมการเมือง (เมื่อ ฮิตเลอร์ อยากครอบครองผ่านทีมฟุตบอล) มีนัยยะเชิงวัฒนธรรมป๊อป(เมื่อรองเท้าทอง โล่ทอง และลูกบอลทอง กลายเป็นสัญลักษณ์ของความสามารถต่างๆ สำหรับนักเตะ)

จูลล์ ริเมต์ ประธานการจัดการแข่งขันบอลโลกครั้งแรก และมีส่วนในการผลักดันบิ๊กอีเวนท์นี้ บอกไว้ในหนังสือ World Cup 100 Object (เขียนโดย เอียน สปาร์ก) ว่า “ตอนที่ อเบล ลาฟเฟลอร์ ช่างแกะสลักชาวฝรั่งเศสออกแบบถ้วยนี้ในปี 1928 นั้น เขาคิดว่าการใส่สีทอง จะมีความหมายถึงสิ่งมีค่า… แต่สำหรับผม สีทองหรือ gold คือความยิ่งใหญ่ตลอดกาล

อเบล อธิบายไว้ในหนังสือเล่มเดียวกันว่า ทองไม่ใช่แค่ความยิ่งใหญ่เท่านั้น แต่หมายถึงชัยชนะ เพราะเขาใส่เทพไนกี้ ซึ่งเป็นเทพีแห่งชัยชัยไว้ในถ้วย โดยแผ่ปีกออก…

ถ้วยบอลโลกรุ่นแรก ซึ่งใช้สีทองมาตั้งแต่ปี 1930 หรือบอลโลกครั้งแรก จึงเป็นเหมือนต้นทาง ที่ทำให้รางวัลต่างๆ ได้รับอิทธิพลเกี่ยวกับสี (เหมือนที่ในยุคสมัยหนึ่ง หลายสโมสรฟุตบอลทั่วโลก อยากมีเสื้อสีขาว เพราะความสำเร็จของเรอัล มาดริด หรืออยากมีเสื้อสีเหลืองทอง เพราะความเก่งของบราซิลยุคเปเล่ ทั้งที่ในความจริงแล้ว บราซิลเปลี่ยนมาใช้เสื้อสีเหลือง เพราะเคยใช้สีขาว และพ่ายแพ้นัดชิงบอลโลกปี 1950 ในประเทศตัวเอง จนประชาชนฆ่าตัวตายในปีนั้น)

สะสม พบประเสริฐ commentator และผู้จัดการทีม หลายสโมสรของไทยลีก ให้สัมภาษณ์กับ “จุดประกาย” ว่า อันที่จริงถ้วยจะยิ่งใหญ่หรือไม่ ไม่ได้เกี่ยวกับ “ขนาดของถ้วย” แบบที่หลายคนเข้าใจ

“ถ้วยบอลโลกสีทองนี่ก็เล็กนะจะว่าไป แต่มันคือสุดยอดของฟุตบอลที่นักเตะหลายคนอยากครอบครอง ถ้าเลือกถ้วยฟุตบอลที่ชอบที่สุด ผมชอบถ้วยพรีเมียร์ลีก ที่มีสิงโตอยู่ด้านบน คือคนออกแบบเขาเก่ง เขาทำให้มันดูยิ่งใหญ่ น่าถือจับและชูขึ้น และก่อนหน้านั้น ผมก็ชอบถาดแชมป์บุนเดสลีกา จะเห็นว่ามันมีทั้งถาดแบนๆ ถ้วยสิงโตที่สะท้อนความเป็นผู้ดีแบบอังกฤษ หรือมาถึงขนาดของถ้วยฟีฟ่า ไซส์มันต่างกันหมด มันจึงไม่เกี่ยวกับขนาดถ้วย แต่เกี่ยวกับการออกแบบรูปทรง ดีเทล และการใช้สี” สะสมเล่ายาวเหยียด

“สำหรับผมนะ ถ้าถามว่า สีทองคือความหมายความรู้สึกของอะไรในถ้วยบอลโลก ผมว่ามันคือ ความมั่นคง มันให้ความรู้สึกถึงสิ่งนี้ ความหมายนี้ ยิ่งเมื่อดูจากดีเทลที่เขาปั้นสลักขึ้นมา สิ่งที่ซ่อนเร้นในถ้วยคือความมั่นคง มากกว่าเรื่องอื่นๆ”

โค้ชเตี้ย หรือกูรูบนหน้าจอ PPTV ทิ้งท้ายว่า เขาชอบแชมป์ฟุตบอลโลกปี 1998 ของฝรั่งเศสมากที่สุด “เทียบกับอาร์เจนติน่า 1986 หรือบราซิล 2002 ที่คุณเปรียบ ผมว่าฝรั่งเศส 1998 เล่นเนียนกว่า”

สีทองในถ้วยฟีฟ่า มีการตีความ(interpretation) ในความหมายต่างๆ ที่ไม่เหมือนกันในแต่ละยุคแต่ละสมัย ไบรอัน แกลนวิล sport columnist หนังสือพิมพ์หลายฉบับของอังกฤษ เขียนไว้ในหนังสือ The History of World Cup เล่มใหม่ล่าสุด หน้าปกเกิทเซ่ ว่า

“ผมว่า สีทองถ้วยเวิร์ลคัพ น่าจะต้องย้อนกลับไปที่ปี 1960 ซึ่งเป็นช่วงเวลา 2 ปีก่อนที่ประเทศชิลีจะเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 1962 ปีนั้นเกิดโศกนาฏกรรมที่ช็อคโลก เมื่อเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง จน 4 ใน 8 ของพื้นที่ เสียหายหมด ชิลีตกอยู่ในความตายและความเศร้า จนทุกฝ่ายเองก็ไม่แน่ใจว่า บอลโลกจะเกิดไหม”

ไบรอัน เล่าว่า แต่ด้วยการสร้าง inspiration ของประชาชนว่า พวกเราต้องสร้างบ้านเมืองใหม่ และต้องคว้าแชมป์เวิร์ลคัพปี 1962 ให้ได้ ชิลีใช้เวลา 2 ปี กอบกู้และสร้างทุกอย่างจนทันการจัดฟุตบอลโลก

“แม้ว่าชิลีจะได้ที่ 3 ในครั้งนั้น แต่พวกเขามี passion จากสีทองของถ้วยบอลโลก ที่อยากชนะ อยากครอบครองมัน” (บราซิลชนะเลิศปีนั้น ด้วยปรากฏการณ์ของเปเล่)

เคยมีบทสำรวจความเห็นของแฟนบอลทั่วโลกในปี 2006 ว่า ระหว่างถ้วยสีเงิน กับถ้วยสีทอง คนที่บ้าฟุตบอลหรือประชาชนคนทั่วไป จดจำถ้วยสีอะไรได้มากกว่ากัน สเตฟานี เมย์ นักจิตวิทยาเรื่องสีแฟชั่น บอกไว้ในนสพ.เดลี เทเลกราฟว่า gold มีความหนาแน่น มากกว่า silver เหมือนแม่สีทั้งหลาย แดง เหลือง ฟ้า

“พอสีทองมีความหนาแน่นมากกว่า สังคมจะจดจำสีนี้ ได้เร็วกว่า และอยู่ในความทรงจำนานกว่า ต่อให้ไม่ใช่คนดูบอล” เมย์ บอก

เธอเล่าได้อย่างน่าสนใจว่า ถ้วยบอลโลก ซึ่งถูกจดจำมากกว่าถ้วยอื่นๆ นั้น (ทั้งๆที่ 4 ปีมีครั้ง) ไม่ได้น่าสนใจแค่ “สีทอง” แต่ผ่านโมเมนท์ มี “ฉากหลัง” ที่เป็นประวัติศาสตร์ จนคนไม่ลืมเมื่อได้เห็นจากหน้าจอ เธอเล่าว่า ภาพที่ โรมาริโอ เอามือผิวสีชูถ้วยบอลโลกปี 1994 ที่อเมริกา มันคือนัยยะทางการเมืองด้วย

“คนผิวสีที่ถูกกดขี่มายาวนาน ชอบภาพนี้ เพราะเขารู้สึกว่า คนผิวดำหรือชนชั้นสอง เป็นผู้ชนะ นักเตะผิวดำชูถ้วย จุมพิต มีความหมายทันทีและยาวนานกับแฟนบอลผิวสี ลองเอาช็อตนี้ไปเทียบกับคันนาวาโร่ชูถ้วยปี 2006 แฟนบอลยังจำภาพของ โรมาริโอ ได้แม่นยำกว่า”

สิ่งที่ สเตฟานี เมย์ หมายถึงคือ “สี” ทำงานกับคน ได้เพียงระดับหนึ่ง แต่ “ฉากหลัง” ที่ปรากฏ จะส่งผลขับเน้นความทรงจำและคุณค่านั้นๆ (ในแง่นี้ เสื้อฟุตบอลทีมชาติอังกฤษ ปี 1990 ที่ พอล แกสคอย์น ดึงขึ้นเช็คน้ำตา หลังพ่ายแพ้เยอรมันรอบรองปี 1990 ที่อิตาลี ก็ขายดีมากขึ้นในเวลาต่อมา) ไมเคิล โดนัลด์ ผู้ได้รับมอบหมายจากทาง “ฟีฟ่า” ให้ทำสัมภาษณ์บรรดานักเตะที่ยิงประตู “นัดชิงชนะเลิศ” ฟุตบอลโลกทุกครั้ง เขียนไว้ในหนังสือทางการบอลโลกที่ชื่อ Goal ! ว่า มีหลายคนที่มอง “ถ้วยสีทอง” บอลโลก เหมือนเป็น hope for life หรือความหวังในชีวิต ที่จะมีอนาคตที่ดีขึ้น

หนึ่งในนั้นคือ อเล็กซานโดร อันโตรเบลลี ของทีมอิตาลียุค เปาโล รอสซี 1982 ซึ่งยิงประตู 1 ใน 3 ของนัดชิงปีเดียวกัน โดย อันโตรเบลลี่ บอกว่า เขามองถ้วยบอลโลกเป็นเหมือน goal ในชีวิต เนื่องเพราะตอนยังเด็กอายุ 12 ขวบ พ่อมี goal เพียงแค่ให้เขาเป็น “คนขายเนื้อ” ในตลาดเช้า

“ผมต้องตื่นตี 5 ทุกวัน และกลับถึงบ้าน 19.30 น. แต่ระหว่างไปขายเนื้อ พวกเขาก่อตั้งทีมฟุตบอลเล็กๆ ในท้องถิ่น ผมยิงประตูได้มากมาย จนเพื่อนในทีมบอกว่า น่าจะไปเตะบอลอาชีพ เพื่อทะยานไกลไปบอลระดับชาติ สำหรับผม ถ้วยบอลโลกจึงเป็นเหมือนการเดินทางในชีวิต ไม่ใช่แค่ควาทหวัง และเป็นเรื่องเหลือเชื่อ ที่วันหนึ่งในปี 1982 ผมคือคนยิงประตูนัดชิงฟุตบอลโลกที่สเปน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นไม่นาน ผมเป็นเพียงคนยิงประตูในทีมคนขายเนื้อสัตว์”

จะถ้วย จูลล์ ริเมต์ (1930-1970) หรือทำใหม่ในชื่อ ฟีฟ่า เวิร์ล คัพ (1970-2018) แต่ถ้วยสีทองบอลโลกที่กำลังแลนดิ้งนำมาโชว์ที่ภูเก็ตสุดสัปดาห์นี้ ก็มีนัยยะและความหมายหลายอย่าง ในหลากความเห็นของคนทั่วไป มีเหตุการณ์หนึ่งในปี 1966 ที่คนทั้งโลกกลายเป็น “คนชาติเดียวกัน” นั่นก็คือ ก่อนบอลโลกจะเริ่มที่อังกฤษไม่นาน ถ้วยบอลโลกถูกนำมาโชว์กลางกรุงลอนดอน เพื่อให้แฟนๆ สัมผัส

ผลก็คือ มันถูกมือดีฉกไป!

ผ่านไปหลายวันก็ไม่มีการตามกลับมาได้ คนทั้งโลกเฝ้ารอลุ้นว่า จะจับขโมยได้เมื่อไหร่ 7 วันผ่านไป ก็ยังไม่มีวี่แวว ในหนังสือ World Cup 2018 เล่าว่า พอเข้าสู่วันที่ 8 เจ้าสุนัขตัวน้อยของสามีภรรยาที่ชื่อ เดวิด และ เจน ซึ่งเลี้ยงไว้และตั้งชื่อว่า “พิกเคิ่ล” ก็ไปดมกลิ่นเจอถ้วยบอลโลกตกอยู่ในพุ่มไม้ ผลก็คือ พิกเคิ่ล ถูกยกย่องว่าเป็นฮีโร่บอลโลก โดยไม่ต้องยิงประตู ไม่ต้องเล่นนัดชิง เพราะมันคือ สิ่งมีชีวิตที่ทำให้การลุ้นถ้วยที่หายไป กลับมาสู่การจัดบอลโลกที่แฟนฟุตบอลทั้วโลกรอคอย (ถ้วยบอลโลกใช้เวลาออกแบบเป็นปี) มีการสันนิษฐานไปต่างๆ นานา แต่ข้อสรุปที่เห็นร่วมกันคือ พอหัวโมยฉกไป ข่าวออกทั่วโลก คนที่ขโมยไปก็ตกใจ เลยนำไปโยนทิ้งไว้ในพุ่มไม้… จนหมาน้อยไปเจอ

ถ้วยบอลโลกออกเดินทางจากหมุดไมล์มาตั้งแต่ปี 1930 ผ่านสงครามโลก ผ่านแผ่นดินไหว ผ่านน้ำตาและรอยยิ้ม และความตาย แต่ไม่ว่าจะผ่านอะไรอีกแค่ไหน โทรฟี่สีทองรางวัลนี้ ก็มีความหมายต่างๆ กันไป บางทีผู้จัดงานในไทยอย่าง “โค้ก” อาจจะปรารถนาให้สีทองของถ้วยเวิร์ลคัพ เป็นดั่ง “ความหวัง”(hope) สำหรับสังคมไทย ที่ได้ก้าวข้าม และกำลังจะผ่านวิกฤติต่างๆ ไปด้วยกัน

เพราะนี่ ไม่ใช่ครั้งแรก

และแม้ว่า ตัวถ้วยจะสูงเพียง 36 ซม.

ทว่า ความยาวของเรื่องราวในถ้วยนั้น ถูกบอกเล่าไม่จบสิ้น

มันอาจไม่สวยงามแบบเครื่องประดับ

แต่ยังน่าหลงใหลดุจ “นิยายรัก”