ถก14ชม. 'สนช.' เอกฉันท์ ยืดเวลาใช้กฎหมายเลือกตั้ง90วัน

ถก14ชม. 'สนช.' เอกฉันท์ ยืดเวลาใช้กฎหมายเลือกตั้ง90วัน

สนช.โหวตเอกฉันท์!! ขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ออกไป 90 วัน หลังถกยาว 14 ชั่วโมงก่อน ด้วยคะแนน 213 เสียง งดออกเสียง 4 และไม่ตัดสิทธิรับราชการสังกัดรัฐสภา

ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (ส.ส.) ในวาระ2-3 ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.พิจารณาเสร็จแล้ว มีจำนวน 178 มาตรา โดยในมาตรา 2 ที่บัญญัติว่า พ.ร.ป.นี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งกรรมาธิการเสียงข้างมากได้แก้ไขให้กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ภายหลังพ้น 90 วันนับจากการประกาศในราชกิจจานุเบกษา

โดยนายวิทยา ผิวผ่อง ประธานกมธ.วิสามัญฯชี้แจงความจำเป็นการเลื่อนเวลาบังคับใช้ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ 90 วันว่า เพื่อให้ประชาชน พรรคการเมือง ได้ศึกษา ทำความเข้าใจกฎหมายล่วงหน้า จะได้ไม่กระทำผิดโดยไม่เจตนา จะได้ไม่กระทำผิดโดยไม่เจตนา อีกทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 1.5 ล้านคน จะได้ปฏิบัติหน้าที่ได้โดยไม่ผิดพลาด จึงมีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาบังคับใช้กฎหมายออกไปเป็น 90 วัน

นายประพันธ์ นัยโกวิท ตัวแทนจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ( กรธ.) ในฐานะกมธ.เสียงข้างน้อยที่สงวนคำแปรญัตติไม่ให้ขยายเวลาบังคับใช้กฎหมาย โดยให้คงตามร่างเดิม กล่าวว่า สิ่งที่คณะกมธ.เสียงข้างมากทำ เป็นการเปลี่ยนแปลงหลักการที่กรธ.กำหนดไว้ โดยการทำงานของกรธ.ทำตามมาตรา 267 มีกรอบเวลาชัดเจนคือ เขียนกฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับภายใน 240 วัน นับแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ กรธ.ได้ทำตามกรอบและวางแผนอย่างดีว่าต้องทำอย่างไร เพราะรู้ดีว่า มีเวลาเพียง 240 วัน


ดังนั้นการที่กรธ.เสนอว่าต้องดำเนินการเลือกตั้งใน 150 วัน นับแต่ร่างดังกล่าวประกาศใช้ ถือว่าระยะเวลาดังกล่าวมีความยืดหยุ่นเหมาะสมแล้ว รวมทั้งกกต.ก็ใช้เวลาทำงานเท่ากัน รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ขยายเวลายาวกว่ารัฐธรรมนูญปี 50 ที่กำหนดเพียง 90 วันเท่านั้น จึงไม่เห็นความจำเป็นต้องขยายเวลาอีก 90 วัน เพราะแค่ 150 วันก็ยืดหยุ่นและสามารถปฏิบัติได้ โดยคสช.ไม่เคยขอให้กกต.มาทำอะไรเกี่ยวกับมาตรา 2 เลย

ขณะที่นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน กมธ.เสียงข้างน้อยที่สงวนคำแปรญัตติขอขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเป็น120 วัน ระบุว่า การขยายเวลาบังคับใช้ 90 วันไม่เพียงพอ ทำให้เกิดปัญหาแก่พรรคการเมือง ไม่สามารถเตรียมการเลือกตั้งได้ทัน อาจมาขอขยายเวลาเพิ่ม กลายเป็นแรงกดดันทางการเมืองที่ถาโถมเข้ามา ทั้งนี้คำสั่งคสช.ที่ 53/2560 ที่ให้ขยับเวลาดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเริ่มต้นในเดือนมี.ค.และเม.ย.ส่งผลให้เงื่อนเวลาดำเนินกิจกรรมทางการเมืองถูกขยับออกไป 6 เดือน แต่ถ้าจะขยายเวลาออกไป 6 เดือน จะถูกวาทกรรมต่าง ๆ เช่น ยื้อเวลา สืบทอดอำนาจมา ขณะที่กกต.มีประเด็นใหม่หลายเรื่องที่ไม่มีประสบการณ์มาก่อนเช่น การหาเสียงทางอิเลคทรอนิกส์ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ไม่รู้กกต.มีความพร้อมและความรู้แค่ไหน หากไปกำหนดเงื่อนเวลา 90 วัน ตามแรงกดดัน ทำแบบกล้าๆกลัวๆ เมื่อถึงเวลาเลือกตั้งอาจเกิดปัญหาได้ ควรขยายเวลาเป็น 120 วัน จะเหมาะกว่า

จากนั้นสมาชิกได้อภิปรายส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการขยายเวลาบังคับใช้กฎหมาย 90 วัน เพราะเป็นระยะเวลาเหมาะสม ไม่มากเกินไป เชื่อว่ากกต.และพรรคการเมืองเตรียมตัวได้ทัน

นายณัฏฐ์ เล่าห์สีสวกุล ตัวแทนกกต.ในฐานะกมธ. ชี้แจงว่า ในฐานะผู้จัดการเลือกตั้งมีความพร้อมตั้งแต่ยกร่างรัฐธรรมนูญเราก็เตรียมการเลือกตั้งไปพอสมควรแล้ว เมื่อคาดคะเนดูว่ากฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาแน่นอน กระบวนการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาจะใช้เวลาประมาณ 5 เดือน ไปจบประมาณเดือนมิ.ย. และหากกฎหมายฉบับนี้ลงราชกิจจานุเบกษาเดือนมิ.ย.2561 ถ้าไม่มีการเลื่อนการบังคับใช้ออกไประยะเวลา 150 วันตามรัฐธรรมนูญจะเริ่มนับทันที ไปจบในเดือนพ.ย.2561

แต่เนื่องจากมีคำสั่งที่ 53/2560 เรื่อง การแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง ผลที่เกิดขึ้น คือ กรณีที่จะจดแจ้งพรรคการเมืองใหม่จะต้องไปขอคสช.ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2561 ส่วนพรรคการเมืองเก่าถูกกำหนดให้ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน โดยจะไปจบวันที่ 27 ก.ย.2561 ซึ่งรวมแล้วเกือบ 3 เดือน ประมาณ 90 วัน ดังนั้นทางกมธ.เห็นว่าเพื่อให้เกิดประโยชน์และเป็นเวลาที่เหมาะสมคือ 90 วัน แต่การขยายเวลาการบังคับใช้ออกไป 90 วัน ไม่ได้แปลว่าวันเลือกตั้งต้องขยายออกไป 90 วัน เพราะอำนาจการขยายเวลาบังคับใช้เป็นของฝ่ายบริหาร แต่อำนาจการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นของกกต. ดังนั้น การขยายระยะเวลา 90 วัน น่าจะเพียงพอ

จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาในมาตราต่อไปโดยในมาตรา 35 ที่เกี่ยวข้องกับการจำกัดสิทธิของผู้ที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งแล้วแต่เหตุนั้นมิใช่เหตุอันควร กรรมาธิการเสียงข้างมากได้เพิ่มตัดสิทธิการสมัครเข้ารับราชการ พนักงาน ลูกจ้างของส่วนราชการสังกัดรัฐสภาราชการฝ่ายรัฐสภาตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการฝ่ายรัฐสภา (กร.) การตัดสิทธิการได้รับแต่งตั้งเป็นข้าราชการการเมือง และการตัดสิทธิการได้รับการแต่งตั้งรองผู้บริหาร ผู้ช่วยและที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น โดยมีกำหนดการตัดสิทธิเป็นเวลา 2 ปี ทั้งนี้สนช.ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขของกรรมาธิการ โดยเห็นว่า ข้าราชการรัฐสภาก็เป็นข้าราชการเหมือนกระทรวงอื่น ๆ การเขียนจำกัดสิทธินี้เท่ากับเป็นการเลือกปฏิบัติขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 26 มาตรา 40

ขณะที่นายอัชพร จารุจินดา ตัวแทนกรธ. ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ที่สงวนความเห็นให้คงตามร่างเดิม ชี้แจงว่า การตัดสิทธิ์ต้องไม่ขัดกับหลักนิติธรรม ไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพ การตัดสิทธิ์ห้ามสมัครรับราชการสังกัดรัฐสภาเป็นการจำกัดสิทธิ์ในการประกอบอาชีพของบุคคล จึงสุ่มเสี่ยงกัยการขัดรัฐธรรมนูญ

นายวัลลภ ตังคนานุรักษ์ สนช. อภิปรายว่า การตัดสิทธิการสมัครเข้ารับราชการ เป็นการตัดสิทธิเกินควร มีเจตนาให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ รู้ชัด ๆ ว่าการเติมข้อความดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญ แล้วทำทำไม หรือเพื่อต้องการให้มีการยื่นตีความต่อศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการเมืองล้วนๆ ไม่มีเหตุผลรองรับ ดังนั้น ขอให้กมธ.ถอนการเพิ่ม (4 ) ออกไป

ขณะที่มาตรา 75 เกี่ยวกับข้อห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้ตนเองหรือผู้อื่น ซึ่งกรรมาธิการเสียงข้างมากมีมติให้สามารถจัดแสดงมหรสพ งานรื่นเริงระหว่างการหาเสียงได้ จากเดิมที่ห้ามการแสดงมหรสพ งานรื่นเริงระหว่างการหาเสียง อีกทั้งยังห้ามรณรงค์โหวตโนด้วย ซึ่งกรรมาธิการเสียงชข้างน้อยที่มาจากกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ไม่เห็นด้วยกับการจัดให้มีมหรสพ เพราะจะทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต และทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ส่วนกรรมาธิการเสียงข้างมากได้ยกเหตุผลที่ต้องจัดให้มีมหรสพเพราะจะช่วยป้องกันการเกณฑ์คนมาได้ ส่วนเรื่องการได้เปรียบหรือเสียเปรียบไม่ใช่ปัญหา เพราะเราควบคุมการใช้จ่ายเงินได้

จากนั้นเวลา 20.30 น. ภายหลังที่สมาชิกอภิปรายแสดงความเห็นครบทุกมาตราแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติวาระ 2 เป็นรายมาตรา โดยมาตรา 2 เรื่องการขยายเวลาบังคับใช้ร่างพ.ร.บ.เลือกตั้งส.ส. 90 วัน นับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นด้วยคะแนน 196 ต่อ 12 เสียง งดออกเสียง 14 ตามที่กมธ.เสียงข้างมากแก้ไขและได้ลงมติมาตรา 35 เกี่ยวกับการตัดสิทธิผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่กมธ.เสียงข้างมากได้เพิ่มการตัดสิทธิการเข้ารับราชการในสังกัดในรัฐสภา ซึ่งที่ประชุมมีมติไม่เห็นด้วย ด้วยคะแนน 118 ต่อ 92 งดออกเสียง 13

แต่เห็นด้วยกับการตัดสิทธิการแต่งตั้งข้าราชการการเมืองและผู้บริหารท้องถิ่นแก่ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามที่กมธ.เสียงข้างมากเพิ่มเติม ขณะที่มาตรา 75 เกี่ยวกับเรื่องการจัดมหรสพและงานรื่นเริงระหว่างการหาเสียง ที่กมธ.เสียงข้างมากแก้ไขให้สามารถจัดมหรสพและงานรื่นเริงระหว่างการหาเสียงได้ โดยที่ประชุมมีมติเห็นด้วย 136 ต่อ 78 งดออกเสียง 8 พร้อมทั้งเพิ่มเติมเนื้อหามาตรา 73 โดยกำหนดกรอบค่าใช้จ่ายการจัดงานมหรสพไม่เกินร้อยละ 20 ของวงเงินหาเสียงพรรคการเมืองตามหลักเกณฑ์ที่กกต.กำหนดในมาตรา 64 ส่วนมาตรา 87 เรื่องการขยายเวลาการลงคะแนนเลือกตั้งจากเดิม 08.00-16.00 น. เป็น 07.00-17.00 น.ตามที่กมธ.เสียงข้างมากแก้ไขนั้น ที่ประชุมลงมติเห็นด้วย 156 ต่อ 59 งดออกเสียง 5

กระทั่งเวลา 23.00 น. ที่ประชุมลงมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ในวาระ 3 ด้วยคะแนนเอกฉันท์ 213 เสียง งดออกเสียง 4 โดยใช้เวลาพิจารณาทั้งสิ้น 14 ชั่วโมง ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะส่งร่างพ.ร.ป.ดังกล่าวไปให้กกต.และกรธ.ต่อไป