'สส.' เดินหน้าเพิ่มศักยภาพครู-บุคลากร 'รร.อีโคสคูล'

'สส.' เดินหน้าเพิ่มศักยภาพครู-บุคลากร 'รร.อีโคสคูล'

"สส." จัดฝึกอบรมพัฒนาและเสริมศักยภาพครูและบุคลากรเพื่อพัฒนาศักยภาพของ "โรงเรียนอีโคสคลู"

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) "จัดฝึกอบรมพัฒนาและเสริมศักยภาพครูและบุคลากรของโรงเรียนอีโคสคูล" เพื่อพัฒนาศักยภาพของโรงเรียนอีโคสคลู เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนและกระบวนการจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ด้วยกระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษา ในวันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคม 2561 ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทาราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร โดยมี นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน

นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่มุ่งให้โรงเรียนลดการสอนเนื้อหาที่ไม่จำเป็นลง และให้ความสำคัญกับสิ่งที่เด็กต้องเรียนรู้ใน 4 ด้าน คือ พุทธิศึกษา จริยศึกษา หัตถศึกษา และพลศึกษา โครงการโรงเรียนอีโคสคูลจึงเป็น “ทางเลือกหนึ่ง” ของโรงเรียนในการดำเนินงานตามนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้มีแผนการสนับสนุนโรงเรียนอีโคสคูลในด้านต่าง ๆ เช่น การเสริมศักยภาพครูและบุคลากรของโรงเรียนผ่านการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้สำหรับโรงเรียนอีโคสคูลการนิเทศและให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมศึกษา การจัดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างโรงเรียนอีโคสคูล ตลอดจนการพัฒนาต่อยอดโรงเรียนที่มีความพร้อม ให้เป็นศูนย์เรียนรู้โรงเรียนอีโคสคูล

\'สส.\' เดินหน้าเพิ่มศักยภาพครู-บุคลากร \'รร.อีโคสคูล\'

โดยพันธกิจหลักของโรงเรียนอีโคสคูลจะต้องประกอบด้วย 1) นโยบายสิ่งแวดล้อมศึกษาและโครงสร้างการบริหารจัดการ 2) การจัดกระบวนการเรียนรู้ 3) การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ 4) การมีส่วนร่วมและเครือข่ายสิ่งแวดล้อมศึกษา ซึ่งรูปแบบในการพัฒนาโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนอีโคสคูลจะมีความแตกต่างกันไปตามบริบทของโรงเรียนและชุมชน โดยเป้าหมายสูงสุดเพื่อการพัฒนาผู้เรียนให้เป็น “พลเมืองเพื่อสิ่งแวดล้อม” การพัฒนาโรงเรียนอีโคสคูลให้มีประสิทธิภาพนั้น ควรให้ความสำคัญกับการจัดกระบวนการเรียนรู้

ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้โรงเรียนที่เข้าร่วมเป็นโรงเรียนอีโคสคูล สามารถขับเคลื่อนงานพันธกิจที่ 2 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมศึกษาของโรงเรียนที่เน้น Community Based และ Problem Based Learning ผ่านการจัดกระบวนการเรียนรู้ 7 ขั้นตอน ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงทำโครงการจัดฝึกอบรมพัฒนาและเสริมศักยภาพครูและบุคลากรของโรงเรียนอีโคสคูล เพื่อพัฒนาและเสริมศักยภาพผู้บริหารและคณะครู ในการร่วมกันจัดทำแผนการเรียนการสอนสิ่งแวดล้อมศึกษาให้สอดคล้อง เหมาะสมกับบริบท
ของท้องถิ่น

อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวต่อว่า การดำเนินงานโครงการโรงเรียนอีโคสคูลเริ่มขึ้นตั้งแต่ ปี 2551 จนถึงปัจจุบันมีโรงเรียนที่ผ่านเกณฑ์ จำนวน 177 โรงเรียน ซึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า โครงการโรงเรียนอีโคสคูล เป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาโรงเรียน ที่เชื่อมโยงและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของชุมชน จนกลายเป็นโรงเรียนของชุมชนอย่างแท้จริง เด็กนักเรียนที่ผ่านการจัดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักการของโรงเรียนอีโคสคูล จะเกิดทักษะชีวิตในด้านต่าง ๆ ทำให้พวกเขาเรียนรู้อย่างเท่าทันและปรับตัวที่จะอยู่รอดได้ในสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปในทุกขณะ โดยไม่เบียดเบียนสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบตัว อีกทั้งยังพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมดูแลป้องกัน และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของชุมชนส่วนรวม สิ่งเหล่านี้คือเป้าหมายของการสร้าง “พลเมืองเพื่อสิ่งแวดล้อม” ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของการดำเนินโครงการฯ

\'สส.\' เดินหน้าเพิ่มศักยภาพครู-บุคลากร \'รร.อีโคสคูล\'

การจัดฝึกอบรมฯ ในครั้งนี้ มีผู้บริหารโรงเรียน ครูฝ่ายงานวิชาการ และครูผู้รับผิดชอบโครงการโรงเรียนอีโคสคูล จำนวนกว่า 100 คน พร้อมทั้งมีการปาฐกถาพิเศษ โดย นางซาตู ซุยก์การี-เคลฟเวน (H.E. Ms. Satu Suikkari-Kleven) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟินแลนด์ประจำประเทศไทย หัวข้อ “การเรียนการสอนของฟินแลนด์ตามหลักสูตรใหม่ของฟินแลนด์ และยกตัวอย่างเปรียบเทียบไทยกับฟินแลนด์” และยังมีการการบรรยาย หัวข้อ “ฟินแลนด์กับสิ่งแวดล้อม สู่การเรียนการสอนในชั้นเรียนที่ประยุกต์กับโรงเรียนอีโคสคูล”