กรมควบคุมมลพิษ เตือนลมหนาวระลอกใหม่

กรมควบคุมมลพิษ เตือนลมหนาวระลอกใหม่

กรมควบคุมมลพิษ เผยสภาพอากาศในพื้นที่กทม.ดีขึ้น หลังเกิดฝนตกในบางพื้นที่ พร้อมเตือนภาคเหนือเฝ้าระวังภาวะอากาศนิ่ง ในช่วง ก.พ.-มี.ค.

เมื่อวันที่ 25 ม.ค.61 นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวถึงกรณีที่ กรุงเทพมหานครเกิดภาวะอากาศนิ่ง ทำให้มลพิษทางอากาศเกิดการสะสมตัวในปริมาณมากลอยตัวขึ้นจนทัศนวิสัยไม่ชัดเจนวานนี้ ว่า คุณภาพอากาศในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจากการตรวจค่าฝุ่นละออง 2.5 ไมครอน มีค่าเฉลี่ยทั้งสัปดาห์อยู่ที่ประมาณ 80 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จึงทำให้ประชาชนหายใจไม่สะดวก และเกิดทัศนวิสัยไม่ชัดเจน แต่ในวันนี้ค่าฝุ่นละอองดังกล่าวลดลงแล้ว โดยทุกพื้นที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เนื่องจากมีฝนตกในหลายพื้นที่ อีกทั้งมีแดดออกจึงทำให้มลพิษมีการกระจายตัว ระบายอากาศได้ ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น ยกเว้นบริเวณริมถนนอินทรพิทักษ์ เขตธนบุรี ตรวจวัดได้ 57 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

นายเถลิงศักดิ์ เปิดเผยว่า สาเหตุของภาวะนี้ เกิดจากลมสงบ และชั้นอากาศผกผันใกล้พื้นดิน ทำให้มลพิษทางอากาศที่สะสมอยู่ในปริมาณมากลอยตัวสูงขึ้นเกิดเป็นหมอกสีเทา สาเหตุหลักเกิดจากมลพิษทางการจราจร ซึ่งภาวะนี้มีการเกิดขึ้นทุกปี โดยมักเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาวต่อต้นฤดูร้อน แต่ในปีนี้เริ่มเกิดตั้งแต่วันที่ 18 - 24 ม.ค.ที่ผ่านมา ประกอบกับปัจจัยจากสภาพอากาศและอุณหภูมิที่ลดลงจนเกิดอากาศเย็น ไม่มีแดด จึงสามารถมองเห็นภาวะนี้ได้ด้วยตาเปล่า ส่วนในปี 2559 เกิดขึ้นเพียง 1 วัน แต่มีค่าฝุ่นละออง สูงสุดเฉลี่ย 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

สำหรับภาวะที่เกิดขึ้นนี้ปรากฏในช่วงสั้น ๆ อย่างปีที่ผ่านมาไม่มีเหตุการณ์แบบนี้ บางครั้งอาจจะไม่ได้สังเกต ในช่วงเช้ามองเห็นหมอก มีฝุ่นละอองลอยขึ้น แต่ช่วงสายก็จะระบายหายไปโดยรวดเร็ว จึงไม่มีการแจ้งเตือนประชาชน แต่รอบนี้ไม่เปลี่ยน เกิดขึ้นตลอดทั้งวัน ซึ่งมลพิษทางอากาศจะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ โดยขณะนี้มีเครื่องตรวจวัดฝุ่นละออง 2.5 ไมครอน อยู่ 40 เครื่อง โดยจะเริ่งติดตั้งเครื่องวัดเพิ่มเป็น 63 เครื่อง ให้แล้วเสร็จภายในปี 2563 โดยกรุงเทพมหานคร มีเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ PM 2.5 อยู่ 6 เครื่อง เพื่อให้การรายงานผลทุกจังหวัดเห็นภาพชัดเจนขึ้น แก้ปัญหาและแจ้งค่าการตรวจวัดในแต่ละพื้นที่โดยละเอียด

นายเถลิงศักดิ์ ยอมรับว่ามีโอกาสจะเกิดภาวะนี้ขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศว่ากรุงเทพมหานครจะมีอากาศหนาวขึ้น แต่ต้องดูว่าจะมีภาวะอย่างเมื่อวานหรือไม่ เนื่องจากมีฝนตก อากาศครึ้ม ไม่มีแดดทั้งวัน ต้องดูทั้งปัจจัยมลพิษและสภาพอากาศร่วมกัน ในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. จุดที่ควรเฝ้าระวัง คือ ทางภาคเหนือ ในส่วนของกรุงเทพมหานครหากพ้นช่วงก.พ.ไปก็ไม่มีปัญหา

ในส่วนการแก้ไขปัญหาต้องแก้ไขจากแหล่งกำเนิดมลพิษ การใช้น้ำในการแก้ไขก็เหมือนกับฝนตก ละอองน้ำจะเข้าไปจับกับฝุ่นละอองให้มันตกลงมาได้ แต่ก็แค่ชั่วคราว ประชาชนหรือผู้ป่วยควรดูแลตัวเอง โดยใส่หน้ากากอนามัยชนิด N 95 ทั้งนี้ คพ.อยู่ในขั้นตอนการเจรจากับทางผู้ประกอบการรถยนต์และโรงกลั่น เรื่องยูโร 5 เพื่อพัฒนาคุณภาพน้ำมัน นำก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกจากน้ำมันให้เหลือเพียงร้อยละ 10 จะช่วยลดมลพิษหรือควันดำที่เป็นมลพิษทางอากาศได้ พร้อมเร่งลดระดับค่าเฉลี่ยมาตรฐานของฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอนให้ได้ใกล้เคียงกับองค์การอนามัยโลกมากที่สุด ซึ่งค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ขณะที่องค์การอนามัยโลกกำลังประชุมเกี่ยวกับ ฝุ่นละอองขนาด 1 ไมครอน หรือ PM 1 ซึ่งเป็นฝุ่นละอองที่เล็กว่าฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอนมาก โดยหากฝุ่นขนาดเล็กมากเท่าไหร่จะสามารถเข้าไปในระบบทางเดินหายใจได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งฝุ่นขนาดเล็กขนาดนี้ หากมีสารพิษเข้ามาด้วยจะเป็นอันตรายต่อร่างกายมาก