งามพิศศิลปทัศน์ญี่ปุ่น

งามพิศศิลปทัศน์ญี่ปุ่น

ศิลปะญี่ปุ่นเป็นความงามที่ต้องเพ่งพิศ ใช้สมาธิในการมอง จึงพบความละเมียดละไมที่ผ่านการตรึกตรองมาแล้วอย่างรอบด้าน

เป็นจริงดังคำกล่าวของพนมบุตร จันทรโชติ ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อย่างไม่มีข้อโต้แย้ง เมื่อได้ชมวิถีแห่งศรัทธาจากศิลปทัศน์ญี่ปุ่น นิทรรศการพิเศษในโอกาสครบรอบ 130 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – ญี่ปุ่น พ.ศ.2560 ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

นิทรรศการนี้จัดขึ้นหลังจากทางฝ่ายไทย โดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ให้ยืมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ 116 รายการ 130 ชิ้นไปจัดแสดงในนิทรรศการพิเศษ เรื่อง ความรุ่งโรจน์ทางพุทธศาสนาในดินแดนไทย ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ คิวชู และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โตเกียว ในปีที่ผ่านมา

โดยทางฝ่ายญี่ปุ่นได้ให้ยืมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุมาจัดแสดง 106 รายการ 130 ชิ้น มาจัดแสดง ในจำนวนนี้มีหลายรายการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนว่าเป็นมรดกชาติ และมรดกสำคัญ

“การแลกเปลี่ยนโบราณวัตถุระหว่างไทยกับญี่ปุ่นครั้งนี้ นับว่าเป็นการให้ยืมโบราณวัตถุจำนวนมากที่สุดเท่าที่ฝ่ายไทยเคยให้ยืมไปจัดแสดง ได้แก่ โบราณวัตถุทุกยุคทุกสมัยของไทย ตั้งแต่ทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี สุโขทัย ล้านนา อยุธยา รัตนโกสินทร์

 รวมทั้งโบราณวัตถุที่ไม่เคยนำออกไปให้จัดแสดงมาก่อนเลย คือ บานประตูวัดสุทัศน์ ผลงานฝีพระหัตถ์ในรัชกาลที่ 2 เครื่องทองจากกรุวัดราชบูรณะหลายรายการ นิทรรศการจัดแสดงที่โตเกียวมีผู้เข้าชม 150,000คน ที่คิวชู 80,000 คน โดยประมาณ

ขณะที่จัดแสดงที่โตเกียว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯเสด็จทอดพระเนตรด้วย ทรงมีรับสั่งว่าให้นำองค์ความรู้ที่ได้ทำงานร่วมกับคนญี่ปุ่นมาพัฒนาการจัดแสดงในประเทศไทย ซึ่งเราน้อมนำมาปฏิบัติจริงๆ

การทำงานกับญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีพัฒนาการทางด้านพิพิธภัณฑสถานก้าวหน้ากว่าเราเยอะ เขาร้องขอให้เราปรับห้องแสดงให้ได้มาตรฐาน ในห้องแสดงที่พระที่นั่งศิวโมกขพิมานจึงได้ปรับปรุงเรื่องความชื้น จนควบคุมได้จนเป็นที่พอใจ มีการติดตั้งเครื่องควบคุมความชื้นทุกตู้ ไฟจัดแสดง ได้รับการออกแบบโดยดีไซเนอร์ญี่ปุ่นร่วมกับคนไทย เป็นไฟที่ปลอดภัยต่อโบราณวัตถุ ไม่ว่าจะเป็นกระดาษ ผ้า หนัง

เท่ากับตอนนี้เราได้รับการปรับปรุงห้องจัดแสดงในมาตรฐานสากล เราสามารถยืมโบราณวัตถุจากประเทศต่างๆมาจัดแสดงได้ อันนี้เป็นความภาคภูมิใจของเรา” พนมบุตร กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างสองประเทศที่ก่อให้เกิดองค์ความรู้ทางด้านงานพิพิธภัณฑ์ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างบุคลากรที่ต้องร่วมงานกันกว่า 3 ปี เพื่อก่อให้เกิดนิทรรศการที่จัดแสดงในไทยและญี่ปุ่น

สำหรับนิทรรศการวิถีแห่งศรัทธาจากศิลปทัศน์ญี่ปุ่น ดำเนินเรื่องผ่าน 5 หัวข้อ เริ่มต้นด้วย

ปฐมบทศิลปะญี่ปุ่น

พุทธศิลป์วิวัฒน์

นฤมิตศิลป์แห่งราชสำนัก

นิกายเซนกับพิธีชงชา

พลวัตวัฒนธรรมเอโดะ

โดยเล่าเรื่องผ่านโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่ผ่านกระบวนการคิดและไตร่ตรองมาอย่างลึกซึ้ง

“ญี่ปุ่นนับถือพุทธศาสนานิกายมหายาน เชื่อว่าพระพุทธเจ้ามีจำนวนมากมายเท่าเมล็ดทราย เขาให้ยืมพระโพธิสัตว์ สำคัญที่มีความเป็นมงคล ไม่ได้เลือกมาเพราะว่าเป็นโบราณวัตถุสำคัญ แต่เลือกมาเพื่ออวยพรให้คนไทยด้วย” ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอธิบาย เพิ่มเติมในส่วนจัดแสดงเรื่องพุทธศิลป์

โดยพระโพธิสัตว์องค์สำคัญ ได้แก่ พระไภษัชยคุรุ พระพุทธเจ้าแห่งการแพทย์และการรักษา ทรงสามารถขจัดทุกข์ภัยให้มลายสูญสิ้น ประติมากรรมไม้ลงรักปิดทอง สมัยเฮอัน พุทธศตวรรษที่ 14-15

พระมหาไวโรจนะ เป็นพระพุทธเจ้าองค์เที่ยงแท้ ประติมากรรมไม้ลงรักปิดทอง สมัยเฮอัน พุทธศตวรรษที่ 16-18

พระโพธิสัตว์จินดามณีจักร ประติมากรรมไม้ทาสี สมัยคามากุระ พุทธศตวรรษที่ 18-19 ภาคหนึ่งของพระโพธิสัตวอวโลกิเตศวร ซึ่งชาวญี่ปุ่นนิยมมาขอพรตามความเชื่อว่าพระองค์ยังอยู่ในโลกมนุษย์เพื่อช่วยเหลือให้พ้นทุกข์

สุขภาพ ปัญญา และเมตตา คือความหมายอันลึกซึ้งที่ชาวญี่ปุ่นมอบให้คนไทยผ่านศิลปวัตถุใน วิถีแห่งศรัทธาจากศิลปะทัศน์ญี่ปุ่น นิทรรศการทีสะท้อนวิถีญี่ปุ่นที่ต้องใช้เวลาพินิจพิศงามค่อนข้างนานในการชม

“ศิลปวัตถุบางชิ้น เป็นเพียงภาพวาดธรรมดา ทำไมถึงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกชาติ เช่น จิตรกรรมภาพอรหันต์องค์ที่ 6 ใน 16 องค์ ภัณฑารักษ์ญี่ปุ่นชี้แจงว่า เป็นภาพเขียนที่สะท้อนรสนิยมญี่ปุ่นแท้จริง ใช้เทคนิคการระบายสีจากด้านหลังของผ้าไหมเพื่อทำให้พื้นหลังของภาพมีโทนสีอ่อนลง เน้นการใช้แสงเงาด้านหน้าของภาพ เป็นวิธีทำให้ภาพดูมีมิติ”

 วิภารัตน์ ประดิษฐอาชีพ ภัณฑารักษ์ชำนาญการ กล่าวถึงศิลปวัตถุในส่วนที่เป็นผ้าที่มีความสำคัญและบอบบาง โดยผลงานดังกล่าวนำมาให้ชมได้เพียง 1 เดือน โดยจะมีผลงานใกล้เคียงมาจัดแสดงในเวลาที่เหลือ ตามมาตรฐานการจัดแสดงผ้าและกระดาษที่นำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ได้ไม่เกิน 1 เดือน

“ดาบญี่ปุ่น สมัยเฮอัน เป็นมรดกชาติอีกชิ้นหนึ่งที่ทางญี่ปุ่นหวงแหนมาก ไม่อยากให้นำออกนอกประเทศเพราะว่ามีความสำคัญมาก ที่ให้ยืมเพราะเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา คือ สมัยอยุธยาเรามีสินค้าออกที่สำคัญคือ หนังปลากระเบน หนังกวาง

ดาบญี่ปุ่นนี้ ด้ามหุ้มด้วยหนังปลากระเบนจากอยุธยา วิจิตรในเรื่องการตกแต่ง มีปูมหลังทางประวัติศาสตร์ ประณีตศิลป์ ที่แสดงถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดและยาวนาน” วิภารัตน์ อธิบายถึงความสำคัญของผลงานที่ได้รับการคัดสรรมาอย่างรอบคอบและรอบด้าน

ในนิทรรศการ วิถีแห่งศรัทธาจากศิลปทัศน์ญี่ปุ่น พาเราชวนพิศไปกับจิตวิญญาณของญี่ปุ่นจากยุคก่อนประวัติศาสตร์ มากระทั่งถึงยุคเอโดะ ยุคที่สามัญชนนำวัฒนธรรมตะวันตกมาผสานกันวัฒนธรรมดั้งเดิมได้อย่างลงที่สุด

 พร้อมปิดท้ายด้วยกิจกรรมเล็กๆส่งท้ายด้วยการทดลองทำภาพพิมพ์ญี่ปุ่น ตามแบบ “คลื่นยักษ์นอกฝั่งคะนะกะวะ” ผลงาน คาซึซิกะ โฮกุไซ ภาพพิมพ์ในตำนานที่สร้างความตื่นเต้นให้กับจิตรกรตะวันตกในยุคอิมเพรสชั่นนิสต์มาแล้ว

หมายเหตุ : นิทรรศการจัดแสดงระหว่างวันนี้ - 18 กุมภาพันธ์ 2561 ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพฯ