3 ทิศธุรกิจ ‘สิริ เวนเจอร์ส’

3 ทิศธุรกิจ ‘สิริ เวนเจอร์ส’

การวิจัยและพัฒนา เพื่อมองหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยให้เกิดขึ้น

SIRI VENTURE (สิริ เวนเจอ์ส) บริษัทที่เกิดจาก Joint Venture ระหว่าง แสนสิริ และไทยพาณิชย์ สัดส่วน 90:10 ด้วยทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ประมาณต้นปี 2560

นำโดย ชาคริต จันทร์รุ่งสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สิริ เวนเจอร์ส วางภารกิจหลักในเรื่องของ “ลงทุน” “วิจัยและพัฒนา” และ ผลักดันให้เกิดสตาร์ทอัพสาย Prop Tech

การลงทุนให้น้ำหนักไปกับนวัตกรรมที่เกี่ยวกับ Property Tech ตั้งแต่ขั้น Research ไปจนถึง Seed funding และ Series A

ถัดมา การวิจัยและพัฒนา เพื่อมองหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยให้เกิดขึ้น

และสุดท้าย นอกจากการเป็น CVC (Corporate Venture Capital) แล้ว สิริ เวนเจอร์ส ยังมองถึงการเป็น Accelerator เพื่อเป็นตัวเร่งให้เกิดสตาร์ทอัพสาย PropTech

ในปี 2018 สิริ เวนเจอร์ส เปิดตัวด้วยผู้บริหารคนใหม่ จิรพัฒน์ จันทร์เจิดศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี บริษัท สิริ เวนเจอร์ส จำกัด ด้วยมุมมองและวิชั่น ในโฟกัสที่อยู่ในแกนเดิมและทิศทางที่ต่างออกไป

3 โจทย์ใหญ่ที่ สิริ เวนเจอร์ส เดินยังเป็นเส้นทางของ “ลงทุน” “ความร่วมมือ” และ “การต่อยอด” ภายใต้งบประมาณดำเนินงานตลอด 3 ปีที่ 1,500 ล้านบาท

“ลงทุน” สิ่งที่ สิริ เวนเจอร์ส มองหาก็คือ 4 นวัตกรรมที่สอดรับกับธุรกิจของแสนสิริ ตั้งแต่ PropTech ที่มาส่งเสริมด้านการซื้อขาย การจัดการอสังหาริมทรัพย์ และอื่นๆ

LivingTech นวัตกรรมที่เน้นสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้บริการซึ่งก็คือลูกบ้านของแสนสิริ ให้ได้รับความสะดวกสบาย ความบันเทิง ความปลอดภัย เป็นต้น

สตาร์ทอัพในกลุ่มนี้ที่มีการลงทุนไปแล้ว ได้แก่ Appysphere ทำในด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ Home Automation

Onion shack สตาร์ทอัพที่ทำงานทางด้าน AI ใช้การสั่งการด้วยเสียงภาษาไทย ยังมี Techmatics สตาร์ทอัพที่พัฒนาหุ่นยนต์น้องแสนดีมาใช้ในการส่งของให้กับลูกบ้านเริ่มที่โครงการ The Monument สนามเป้าเป็นแห่งแรกก่อนจะขยายบริการลักษณะนี้ไปในโครงการอื่นๆ

ส่วนใหญ่ สตาร์ทอัพในพอร์ทที่ได้ลงทุนไปอยู่ในระดับ Seed เป็นส่วนใหญ่ แต่ในความตั้งใจ จิรพัฒน์ บอก เราไม่ได้โฟกัสที่ Seed และ Serie A เท่านั้นขึ้นอยู่กับความน่าสนใจ ที่สำคัญต้องเมคชัวร์ว่า Prototype นั้นได้มีการทำเรื่อง MVP เรียบร้อยแล้ว

“จริงๆ ถ้านับ Appysphere และ Onion shack ก็น่าจะอยู่ใน Seed แต่เราเชื่อว่า Voice AI มาแน่ การมีสตาร์ทอัพที่ทำเรื่องนี้อยู่ทำให้ทำงานได้เร็วในเรื่องนี้

ที่คุยอยู่ นอกจาก 4 รายนี้ ก็เริ่มที่จะมี series A และ Fund of Funds”

สิ่งที่ สิริเวนเจอร์ส มองหาในกลุ่มถัดมาคือ Health & Welness Tech นวัตกรรมที่มายกระดับคุณภาพชีวิต และสุขภาพแบบองค์รวม รวมถึงสตาร์ทอัพในกลุ่ม FoodTech

โดยในปีนี้จะมีแผนลงทุนในสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีด้าน Health Monitoring สำหรับคนสูงวัย

สุดท้าย ต้องการลงทุนในสตาร์ทอัพที่พัฒนานวัตกรรมทางด้าน Construction Tech ทางด้านเทคโนโลยีการก่อสร้าง การควบคุมคุณภาพ และวัสดุก่อสร้างใหม่ๆ อย่างเช่น การนำ AR (Augmented Reality) ร่วมกับ BIM (Building Information Management) มาใช้ควบคุมคุณภาพการก่อสร้าง

ในมิติของ “ความร่วมมือ” จิรพัฒน์ บอก ให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อผลักดันให้เกิดระบบนิเวศที่เอื้อกับการเติบโตของสตาร์ทอัพในกลุ่ม PropTech และ Living Tech

ล่าสุดร่วมกับสองพันธมิตร Plug and Play และ SOSA แพลตฟอร์ม พาร์ทเนอร์จากซิลิคอน วัลเล่ย์ สหรัฐอเมริกา และอิสราเอล  

Plug and Play แพลตฟอร์มที่ทำงานร่วมกันระหว่างสตาร์ทอัพกับนักลงทุนและองค์กรจากทั่วโลก

ภายใต้แพลตฟอร์มนี้มีสตาร์ทอัพกว่า 6,000 รายจากทั่วโลกในหลากหลายสาขา ได้แก่ corporate partner กว่า 220 บริษัท และมีออฟฟิศตั้งอยู่ในกว่า 28 แห่งทั่วโลก

โดยเป้าหมายของความร่วมมือคือการสร้างสรรค์ Disruptive Technology ทั้ง 4 ด้านให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

ขณะที่ SOSA เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเพื่อทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพในประเทศอิสราเอล โดยปัจจุบันมีเครือข่ายสตาร์ทอัพกว่า 5,000 ราย

สิริเวนเจอร์ส ยังได้ร่วมกับ Microsoft Thailand สนับสนุนการแข่งขันพัฒนานวัตกรรมสำหรับนักศึกษา “Microsoft Imagine Cup Thailand 2018” ในหัวข้อการแข่งขัน Smart Living on the Cloud

นอกจากความร่วมมือกับพันธมิตรต่างประเทศแล้ว อีกความร่วมมือเกิดจากการทำงานร่วมกับ Accelerate เพื่อเป็นอีกช่องทางในการมองหาสตาร์ทอัพที่ใช่ให้กับ แสนสิริ

“คุยกันว่า ภายในว่าปีนี้อาจจะไม่ทำ Batch ของเราเอง จะไม่ทำเอง แต่ร่วมกับ Ecosystem อื่น ซึ่งยังบอกไม่ได้ในขณะนี้

มองว่า Accelerate เค้าเก่งอยู่แล้ว การที่เราไปเข้าร่วม แล้วเอาโจทย์ไปให้ อย่างเช่นใน 15 ทีม ขอให้เห็น LivingTech และ PropTech สัก 2-3 ทีมได้มั้ย อย่างนี้เป็นต้น แทนที่จะรันโปรแกรมของเราเอง

เชื่อว่าการทำแบบนี้ ทำให้เกิดความร่วมมือในหลายๆ ราย และจะทำให้ได้เห็นสตาร์ทอัพมากกว่าการทำเอง”

ในส่วนของการ “ต่อยอด” นวัตกรรม (Lab & Development) เป็น 1 ใน 3 โจทย์ใหญ่ที่ต้องทำในปีนี้ โดย จิรพัฒน์ มองถึงการพัฒนานวัตกรรมที่เป็น Sansiri Home Service Application ให้มากขึ้น

ด้วยบทบาทและภารกิจ จิรพัฒน์ บอก แต่ละ CVC มีเป้าหมายและสิ่งที่กำลังมองหาแตกต่างกัน 

“Deep tech อาจจะไม่ใช่สำหรับ สิริเวนเจอร์ส ณ นาทีนี้ เราต้องการสิ่งที่จับต้องได้ ถ้าลงไปกับ DeepTech วันนี้ กว่าที่ลูกค้าจะจับต้องได้ก็อาจจะต้องใช้เวลาเป็น 3 ปี โดยการมี สิริเวนเจอร์ส ก็เพื่อการที่จะเห็นเทคโนโลยี ในการที่จะเอามือล้วงเข้าไปในเทคโนโลยีนั้น แล้วเอาเทคโนโลยีนั้นๆ กลับมาใช้ในองค์กร และลูกบ้านของแสนสิริ” 

จากทิศทางที่วางเอาไว้ จิรพัฒน์ บอก ความคาดหวังจากผู้บริหาร  คือต้องลงตัวที่ใช่ ไม่ใช่ลง X ตัว 

"KPI ฝั่งสตาร์ทอัพจะมองถึงผลลัพธ์ว่าได้เห็นผลแค่ไหน

ในส่วนของ Partner เรารู้แล้วว่าแต่ละ activity ที่ลงไปจะได้อะไรกลับมาบ้าง ให้อะไรกับสตาร์ทอัพในไทยบ้าง

ขณะที่ฝั่ง Development ก็ชัดเจนว่า แสนสิริ ต้องเป็น Home Service Application ที่ดีที่สุดในโลก แอพ ต้องตอบโจทย์ และลูกค้าได้ ฺBenefit จริงๆ จากการใช้เทคโนโลยีที่เราทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์

นี่คือสิ่งที่ deliver ให้กับแสนสิริในปีนี้" จิรพัฒน์ กล่าว