เอสเอ็มอี สู่ สตาร์ทอัพ โมเดลโต ‘มณีจันทร์’

เอสเอ็มอี สู่ สตาร์ทอัพ โมเดลโต ‘มณีจันทร์’

ผู้ประกอบการในจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีจุดเริ่มต้นจาก เอสเอ็มอี จากนั้นก้าวต่อด้วยโอกาสใหม่ๆ ที่เดินไปพร้อมกับเทคโนโลยี IoT

“มณีจันทร์” หนึ่งในธุรกิจที่ให้บริการในพื้นที่เชียงใหม่และจังหวัดในภาคเหนือ โดยมี 2 บริษัทในเครือ ได้แก่ บริษัท มณีจันทร์ เทคโนโลยี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ทำธุรกิจติดตั้งระบบไฟฟ้า, การตรวจสอบ, การแก้ไข และปรับปรุงระบบไฟฟ้า

อีกบริษัทดำเนินงานในชื่อ มณีจันทร์ ไอโอที โซลูชั่น ทำธุรกิจหลักด้าน IoT หรือ Interner Of Things

บริษัทดำเนินการด้าน IoT อย่างครบวงจรและบูรณาการโดยมีทีมงานด้านผลิต, ทีมงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่มีประสบการ์ณด้านนี้โดยตรง

ท่ามกลางบรรยากาศการขยายตัวของผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในไทย เจาะลึกลงไปเป็นรายภูมิภาคและจังหวัด ตามแรงกระตุ้นของหน่วยงานรัฐที่ลงไปทำกิจกรรมถึงพื้นที่ในช่วงปีที่ผ่านมา เชียงใหม่เป็นอีกตลาดที่น่าจับตามอง เพราะสภาพเศรษฐกิจ และไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ที่เปลี่ยนไปเน้นความทันสมัย และสะดวกสบาย ทำให้มีบริษัทต่างๆ นำเสนอสินค้าและบริการที่มาพร้อมนวัตกรรมใหม่ๆ มากขึ้น

โปรดักท์หลักๆ ที่ มงคล มณีจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มณีจันทร์ นำเสนอ ได้แก่ Key phone ระบบเปิด-ปิดประตูผ่านมือถือ โดยใช้นวัตกรรม IoT สามารถใช้งานได้บนสมาร์ทโฟน ระบบ iOS Android และ Windows Phone

การทำงานด้วยระบบเก็บข้อมูลอัตโนมัติทุกครั้งที่ผู้ใช้ กดเปิด-ปิดประตูผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยสัญญาณจะถูกบันทึกและรายงานผลให้กับทางเจ้าของได้ทราบ พร้อมกับ เข้าดูการแสดงผลได้ผ่านโปรแกรม

ตลาดเป้าหมายสำหรับ Key Phone จะเป็น กลุ่มบ้านพักอาศัย โครงการบ้านจัดสรร เป็นหลัก

ถัดมาเป็น Door Phone ที่เน้นเจาะกลุ่มโครงการหอพัก และ อพาร์ทเม้นท์ ต่างๆ

โดยเป็นการเชื่อมโยงสัญญาณผ่านระบบอินเตอร์เน็ต จัดเก็บข้อมูลและประมวลผลผ่านระบบ Server และระบบ Cloud

มงคล บอกถึงสิ่งที่เป็นความแตกต่างระหว่างระบบคีย์การ์ดเดิม กับ Door Phoneที่ใช้ IoT อยู่ตรงที่ คีย์การ์ดเหมือนมีบัตรพลาสติก แตะและเปิดประตู โดยไม่มีการเก็บข้อมูลเอาไว้เมื่อมีจำนวนคน “เข้า-ออก” และเวลา ซึ่งเน้นความปลอดภัยสูง โดยการกำหนด 1 รหัส ต่อ 1 เครื่อง

“ระบบที่ใช้โทรศัพท์ โดยทั่วไปจะไม่ให้ใครใช้แทนอยู่แล้ว การใช้งานแค่เพียงกดหนึ่งครั้่งระบบจะเรคคอร์ดว่า คนนี้ๆ เข้าอาคารตอนเวลากี่โมง

ขณะที่ใช้บัตรคีย์การ์ดแบบเดิมหากมิจฉาชีพเก็บได้ก็แค่เอาบัตรทาบและเดินเข้าไปเลย ซึ่งแบบแรกจะมีความปลอดภัยมากกว่า หรือแม้แต่ในกรณีที่่มีเพื่อนมาหาแล้วเราอยู่ชั้น 5 แค่กดเปิดให้ เพื่อนก็สามารถเข้ามาได้เลย

ข้อมูลการเข้าออก โดยใครนั้นจะถูกจัดเก็บในแบบเรียลไทม์ เจ้าของอาคารสามารถเข้าไปดูข้อมูลได้เลย ซึ่งจะปลอดภัยสูง โดยค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 20 บาทต่อยูสเซอร์ต่อเดือน”

นวัตกรรมIoTระบบการเปิด-ปิดประตู ผ่าน Application บนมือถือ ง่าย สะดวก ปลอดภัย และทันสมัย ยุค 4.0 เป็นแนวทางที่ มงคล มองว่าจะเดินไปนับจากนี้ แม้ว่าการทำตลาดในช่วงที่ผ่านมาอาจต้องเจอกับอุปสรรค

จากที่เป็นผู้ประกอบการที่ไม่ใช่รายใหญ่ และด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่นำไปเสนอนั้นผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่คุ้นชิน เกิดเป็นกำแพงให้ต้องใช้ความพยายามที่มากขึ้นกว่าเดิม

Key Phone ที่เน้นเจาะกลุ่มบ้านจัดสรร ที่ผ่านมามีการติดตั้งไปแล้วบางส่วน แต่ในมุมของการสเกลธุรกิจอาจยังต้องใช้เวลา

Door Phone เป็นอีกโปรดักท์ที่ มงคล มั่นใจว่าจะไปได้เร็วและดีกว่า จากจำนวนหอพักที่มีอยู่ค่อนข้างมาก และด้วยข้อเสนอที่ติดตั้งฟรีก่อนในตอนแรก ทำให้เจ้าของอาคารค่อนข้างเปิดใจรับเทคโนโลยีตัวนี้ไปใช้งาน

เพราะใช้เวลาเพียงไม่นาน สามารถติดตั้งระบบให้ลูกค้า 30 แห่งแล้ว เป้าหมายทั้งปีนี้คือ 3,500 แห่ง

เนื่องจาก “การรับรู้” ในเทคโนโลยีของผู้บริโภคยังเป็นปัจจัยหลักของการขยายตลาด มงคล จึงคิดถึงแนวทางการเพื่อปลดล็อค

“ทำอย่างไรก็ได้ ให้คนรู้จักนวัตกรรมตัวนี้มากขึ้น”

แนวทางที่คิดไว้คือ เราอยากเป็นศูนย์เรียนรู้ที่เน้นการปฏิบัติจริง ประสานงานกับเด็กในมหาวิทยาลัย และวิทยาลัยต่างๆ ที่สนใจได้เข้ามาศึกษา รวมถึง หน่วยงานราชการต่าง ๆที่ต้องการดูงานด้าน IoT จริงๆ ตั้งแต่การผลิต วิจัยและพัฒนา ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์

“ศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าว เราทำออฟฟิศเราเป็นศูนย์การเรียนรู้ และเช่าออฟฟิศเพิ่มเติมที่อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นเหมือนกับ Co working space ในภาคเหนือ โดยมี 140 ผู้ประกอบการเข้าร่วม

คาดว่าจะเปิดใช้พื้นที่ได้ภายในปีนี้

ความตั้งใจจะให้เป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับนักศึกษา และผู้ประกอบการที่ต้องการปรับตัวเอง โดยเราจะให้ความรู้ ทีมที่ปรึกษา และออกแบบ Business Model

เพื่อไปถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้คือ   เราอยากจะเป็นบริษัทไอโอที อันดับหนึ่งของภาคเหนือ ทั้งการค้าขาย และวิชาการ” มงคล กล่าว 

‘คิด-ทำ’ แบบสตาร์ทอัพ

​มงคล ใช้เวลา 3 ปีในการทำงานอย่างหนักในการผลักดันธุรกิจเอสเอ็มอีที่ทำอยู่เดิมสู่วิธีคิด และทำแบบสตาร์ทอัพ  

"เราใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 ปีในการทุ่มเท เรื่องการลองผิดลองถูก ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ทีมงาน การตลาด  เพราะปัญหา อุปสรรค คือ การเรียนรู้ คนไทยยังเข้าใจเรื่องไอโอทีผิดๆ เรื่องราคา และคุณภาพ

ปัจจุบัน อยากบอกว่าเป็นราคาที่จับต้องได้ และคุณภาพดี

สตาร์ทอัพที่ดีที่สุด ทำอย่างไรก็ได้ ที่มีวอลุ่มให้มากที่สุด การทำงานหลักๆ ตอนนี้มีเป้าหมายที่สร้างการรับรู้ให้เยอะที่สุด การทำงานของสตาร์ทอัพในไทย ที่ขาดและต้องการอย่างมากคือ ผลิตแล้วจะขายยังไง

เพราะนั่นหมายถึงการจะอยู่รอดให้ได้ต้องมีตลาดรองรับ แทนการหวังถึงการรับเงินระดมทุนเพียงอย่างเดียว"

สำหรับผม โมเดลที่เป็นไปได้และดีที่สุดคือ การทำธุรกิจโดยฐานจากเอสเอ็มอีมาก่อนจากนั้นค่อยต่อยอด ซึ่งในกลุ่มภาคเหนือ ผู้ประกอบการที่สามารถอยู่รอดได้ ที่เห็นว่าพอไปได้จะเป็นการทำงานในแบบที่เราทำอยู่"