เปิดตัวเลขประมาณการค่าใช้จ่ายสุขภาพอีก 15 ปี มหาศาล

เปิดตัวเลขประมาณการค่าใช้จ่ายสุขภาพอีก 15 ปี มหาศาล

ทีดีอาร์ไอคาดอีก 15 ปี ไทยมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ1.4-1.8 ล้านล้านบาท ปัจจัย 3 เรื่องสำคัญ สังคมสูงวัย-รายได้เพิ่ม-ภาวะเจ็บป่วย แนะรัฐเร่งวางมาตรการรองรับ

ดร.ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) แถลงข่าว เรื่อง "อีก 15 ปีข้างหน้า อนาคตค่าใช้จ่ายสาธารณะด้านสุขภาพของไทยจะเป็นอย่างไร"ว่า  การศึกษาการประมาณค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจากผลของการสร้างเสริมสุขภาพ ใช้กรอบแนวคิดขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา(OECD)ในปี 2556 โดยประมาณการค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ พิจารณาผลกระทบจาก 2 ปัจจัย คือ ด้านประชากร เช่น โครงสร้างอายุ สุขภาพของประชากร  และด้านอื่นๆ เช่น รายได้ เทคโนโลยีในการรักษา ซึ่งผลการประมาณค่าใช้จ่ายตามกรอบแนวคิดนี้ พบว่า ในอีก 15 ปีข้างหน้า จะอยู่ที่ประมาณ 4.8 แสนล้านบาท และหากประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย ค่าใช้จ่ายนี้จะเพิ่มขึ้นไปถึง 1.4 ล้านล้านบาท หากรัฐไม่ควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ เช่น การส่งเสริมและป้องกันโรค ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อการรักษาโรคเพื่อลดต้นทุนการรักษา เป็นต้นบวกกับหากเข้าสู่สังคมสูงวัย จะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงถึง 1.825 ล้านล้านบาท แต่หากรัฐควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ราว 1.319 ล้านล้านบาท ลดลงประมาณ 505 แสนล้านบาท
  

เมื่อมีการคิดค่าความยืดหยุ่นของค่ารักษาพยาบาลต่อรายได้ หมายถึง เมื่อประชากรในประเทศไทยมีรายได้มากขึ้น ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศจะมีแนวโน้มเช่นไร โดยเมื่อมีค่าความยืดหยุ่นนี้มากกว่า 1 ถือว่า เมื่อรายได้เพิ่มขึ้น 1 เท่าค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 เท่า เท่ากับค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย แต่หากรายได้เพิ่ม 1 เท่า ค่าความยืดหยุ่นน้อยกว่า 1  เท่า ถือว่า ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นในระดับปกติ นับเป็นสินค้าจำเป็น ซึ่งผลการศึกษาค่าความยืดหยุ่นของค่ารักษาพยาบาลต่อรายได้ ภาพรวมระดับประเทศอยู่ที่ 0.85  เท่า ถือว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลยังเป็นสินค้าจำเป็น แต่หากพิจารณาแบบต่อหัวประชากร ค่าความยืดหยุ่นจะอยู่ที่ 3.54 เท่า จัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย โดยเมื่อแยกค่าความยืดหยุ่นและช่วงรายได้ พบว่า ผู้มีรายได้น้อยค่าความยืดหยุ่นน้อยแปลว่าค่ารักษาพยาบาลถือเป็นสินค้าจำเป็น แต่กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง พบค่ายืดหยุ่นสูงแปลว่าค่ารักษาพยาบาลถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยของคนกลุ่มนี้ และผู้มีรายได้สูงจะมีค่ายืดหยุ่นต่ำ แปลว่าค่ารักษาพยาบาลถือเป็นสินค้าจำเป็นของคนกลุ่มนี้
  

"จะเห็นว่าค่ารักษาพยาบาลเป็นสินค้าจำเป็นของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและผู้มีรายได้สูง ขณะที่ผู้มีรายได้ปานกลางจะเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย อาจเพราะกลุ่มคนนี้มีตัวเลือกในการใข้บริการในเรื่องนี้เพิ่มขึ้น เช่น  ซื้อวิตามินต่างๆมากินมากขึ้น เป็นต้น แต่ไม่ได้แปลว่ากลุ่มคนมีรายได้สูงจะไม่ซื้อมากิน อาจจะซื้อมากินเช่นกันแต่ไม่ได้กระทบกับรายได้ของเขา สำหรับคนรายได้สูง จึงยังถือเป็นสินค้าจำเป็นได้"ดร.ณัฐนันท์กล่าว
 

นอกจากนี้ เมื่อดูเรื่องภาวะการเจ็บป่วยกับสถานการณ์สังคมสูงวัยของไทย พบว่า คนไทยจะป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากขึ้น เช่น โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน โรคระบบทางเดินหายใจและโรคอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เรื้อรังมานาน โดยในปีพ.ศ.2551 ค่ารักษาพยาบาลใน 5 โรคนี้มีมูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท หากคนไทยป่วย 5 โรคนี้ 18.25 ล้านคนต่อปีที่เข้ารับบริการที่สถานพยาบาล จะสูญเสียราว 3.35 แสนล้านบาทต่อปี
 

ดร.ณัฐนันท์ กล่าวอีกว่า โดยสรุปการเข้าสู่สังคมสูงวัยของไทยส่งผลต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ประเทศไทยหรือประชากรจะมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย และภาวะการเจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพโดยรวมของประเทศ ดังนั้น รัฐบาลควรมีนโยบายและมาตรการที่ชัดเจนเกี่ยวกัยการรักษาพยาบาลผู้สูงอายุ  รวมถึง ควรกำหนดมาตรการป้องกันและแผนการควบคุมโรคโดยเฉพาะโรคในกลุ่มไม่ติดต่อเรื้อรัง เนื่องจากโรคเหล่านี้ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันซึ้งสามารถป้องกันได้